ถึงยุค'สตรี'คุมเกม'โลกธุรกิจ'เปิดมุมคิด‘หญิงเก่ง’ใน‘บิ๊กคอร์ป’

ถึงยุค'สตรี'คุมเกม'โลกธุรกิจ'เปิดมุมคิด‘หญิงเก่ง’ใน‘บิ๊กคอร์ป’

‘บิ๊กคอร์ป’ ดัน “ผู้บริหารหญิง” คุมทัพโลกธุรกิจ "วัลยา" ทัพหน้า "เซ็นทรัลพัฒนา" ชี้เพศไม่ใช่ข้อจำกัด มีโอกาสที่เท่าเทียมกัน "เอไอเอส” ยก 4 ผู้บริหารหญิงฉายศักยภาพ Women In Tech เอเชีย ยกย่อง “ฟัลกุนี นายาร์” ซีอีโอยักษ์อีคอมเมิร์ซอินเดีย “ยูนิคอร์น” สุดยอดผู้นำธุรกิจหญิง

บทบาทของ “สตรี” ในโลกธุรกิจยุคปัจจุบัน นับได้ว่า “โดดเด่น” และก้าวขึ้นมาเป็น “ทัพหน้า” กำหนดกลยุทธ์ในธุรกิจมากกว่าการเป็นแค่ฝ่ายสนับสนุนเหมือนในอดีต เราเห็นบรรดาหญิงเก่งมากมายทำงานภายใต้องค์กรธุรกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เห็นถึงศักยภาพความเป็นผู้นำในฐานะ "หัวหน้างาน" หรือ "ผู้บริหารระดับสูง" รวมไปถึงตำแหน่งสูงสุดขององค์กร ที่กำหนดทิศทางและขับเคลื่อนองค์กรให้ไปถึงเป้าหมายได้ 

ถึงยุค\'สตรี\'คุมเกม\'โลกธุรกิจ\'เปิดมุมคิด‘หญิงเก่ง’ใน‘บิ๊กคอร์ป’

เซ็นทรัลพัฒนาชู “โอกาสที่เท่าเทียมกัน”

“วัลยา จิราธิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อความยั่งยืนของไทย ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัล 36 สาขาทั่วประเทศและต่างประเทศ กล่าวว่าเซ็นทรัลพัฒนาร่วมส่งเสริมการมีโอกาสที่เท่าเทียมกันของทุกคน (Equality) และการให้ความสำคัญกับบทบาทของเพศหญิงเนื่องในวันสตรีสากล วันที่ 8 มี.ค.2565
 

"เพศไม่ใช่ข้อจำกัด เราทุกคนมีความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ และมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน เพียงดึงศักยภาพของตัวเองออกมาให้เต็มที่ เราจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความสำเร็จร่วมกันได้อย่างแน่นอน”

เซ็นทรัลพัฒนา เป็นองค์กรที่ใส่ใจและให้ความสำคัญในเรื่องโอกาสที่เท่าเทียมกัน (Equality) โดยไม่มีการแบ่งแยกทางเพศในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การรับเข้าทำงาน การโปรโมท และการวัดผลงาน อย่างผู้บริหารระดับ C-Level ของบริษัทเป็นผู้หญิงถึง 50%

ทั้งนี้ ศูนย์การค้าของเซ็นทรัลพัฒนา ใส่ใจและให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าผู้หญิงเป็นพิเศษมาโดยตลอด ยกตัวอย่างการมีบริการพิเศษสำหรับผู้หญิง เช่น โซนที่จอดรถสำหรับผู้หญิง หรือ Lady Parking ซึ่งเซ็นทรัลพัฒนาเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้ริเริ่มโครงการดังกล่าว โดยใช้สีชมพูเป็นสีไอคอนนิกในการตกแต่งจนกลายเป็นภาพจำ และเป็นต้นแบบของศูนย์การค้าอื่นๆ ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีบริการพื้นฐานสำหรับผู้หญิง อาทิ บริการช่วยถือของ บริการห้องแม่และเด็ก ห้องเปลี่ยนผ้าอ้อม และบริการและเคาน์เตอร์ให้ความช่วยเหลือต่างๆ

ถึงยุค\'สตรี\'คุมเกม\'โลกธุรกิจ\'เปิดมุมคิด‘หญิงเก่ง’ใน‘บิ๊กคอร์ป’

“เอไอเอส” ดัน 4 หญิงเก่งคุมเทคฯ

ขณะที่ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “เอไอเอส” ที่มีพนักงานกว่า 14,000 คน และเป็นบริษัทที่รวมคนในสายงานเทคโนโลยี อย่าง Engineering, IT, Programmer, Data Scientist, ฯลฯ ตลอดจนที่ไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยี โดยวันนี้ "เอไอเอส" มีพนักงานและผู้บริหารหญิงสัดส่วนเกินครึ่ง โดยเอไอเอส ได้ยก 4 ผู้บริหารหญิงปัจจุบัน ร่วมฉายภาพบทบาทของ Women In Tech 

“กานติมา เลอเลิศยุติธรรม” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล เอไอเอส และกลุ่มอินทัช เล่าว่า ที่เอไอเอสยึดความเท่าเทียมของการทำงาน และวัดคนที่ความสามารถเป็นหลัก โดยเฉพาะเทค คอมพานี อย่างเอไอเอส ซึ่งวันนี้ไม่ว่าจะเป็นเพศใด ไม่ได้เป็นตัวจำกัดความสามารถและโอกาสที่จะได้รับ 

ปัจจุบัน เอไอเอส มีจำนวนผู้บริหารหญิง ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่อันเป็นหัวใจสำคัญ และก้าวขึ้นมามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย หรือแม้แต่การดำเนินภารกิจตามเป้าหมายหลักขององค์กร ที่ต้องการสร้างความแข็งแรงด้านดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างสังคมแห่งการแข่งขันที่เป็นธรรม ผ่านนวัตกรรมและดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ๆ จนได้รับการยอมรับจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร

"แต่หัวใจสำคัญที่สุดไม่ว่า คุณจะเป็นเพศใด เมื่อได้รับโอกาส คุณมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง และแสดงศักยภาพอย่างไม่มีขีดจำกัด นั่นจึงเรียกว่า ความเท่าเทียมภายในองค์กร”

“นัฐิยา พัวพงศกร” หัวหน้าฝ่ายงานนักลงทุนสัมพันธ์และกำกับดูแลการปฏิบัติงาน เอไอเอส มองว่า ในฐานะที่ทำงานด้านนโยบายภาพรวมด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับ Stakeholder ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อผลักดันทิศทางบริษัทให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน การทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน และหลากกลุ่มบุคคล ต้องบริหารความเข้าใจทุกฝ่าย สร้างสมดุลระหว่างคนทำงานและทิศทางของบริษัท เป้าหมายความยั่งยืนแต่ละด้าน ไม่ว่าจะพัฒนานวัตกรรม เศรษฐกิจดิจิทัล สนับสนุนให้สังคมเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม 

รวมถึงการยืดหยัดเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ล้วนต้องอาศัยความเข้าใจในบริบทและมุมมองของแต่ละ stakeholder ที่ย่อมแตกต่าง ความเห็นต่างซึ่งเป็นธรรมชาติ แต่ทำอย่างไรให้สอดประสานร่วมสู่เป้าหมายเดียวกันได้ สิ่งสำคัญ คือ เน้นพูดคุยด้วยทัศนคติที่เปิดกว้าง ทำความเข้าใจในความต่างและสร้างความชัดเจนของเป้าหมายร่วมให้ทุกฝ่ายพร้อมใจสนับสนุนดันภารกิจความยั่งยืนให้ได้ตามเป้าหมาย

ขณะที่ "สายชล ทรัพย์มากอุดม" หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ เอไอเอส ที่ดูแลงานด้านสังคม ชุมชนสัมพันธ์ และการสร้างโอกาส การเข้าถึงดิจิทัลเทคโนโลยีให้กับคนไทย กล่าวเสริมว่า บทบาทผู้หญิงวันนี้ไม่ได้ต่างจากผู้ชาย เพราะทุกคนสามารถสร้างสรรค์ผลงานในแบบฉบับของตัวเองได้ แต่ความท้าทายของการทำงานวันนี้ คือ เมื่อเรื่องเพศไม่มีผล จะทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถเข้าถึงดิจิทัลและสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้คนไทยมีทักษะด้านดิจิทัลที่ต้องรู้เท่าทันภัยไซเบอร์รูปแบบต่างๆ ซึ่งถือเป็นการทำงานเชิงรุก เพื่อเชื่อมต่อภาคสังคม ชุมชน และประชาชน กับนโยบายของภาครัฐ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากพนักงานทุกเพศ ทุกวัย

“รุ่งทิพย์ จารุศิริพิพัฒน์” รักษาการ กรรมการผู้จัดการ พันธมิตรธุรกิจด้านบันเทิงและคอนเทนต์ เอไอเอส ให้มุมมองว่า เอไอเอสเป็นองค์กรที่ให้โอกาสพนักงานทุกเพศ ทุกวัย ในการเรียนรู้ ทดลองทำเรื่องใหม่ๆ อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกแบบ ดิจิทัล เซอร์วิสเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของอีโคซิสเต็มส์ในทุกอุตสาหกรรม อาทิ วงการกีฬา, เกม, และอีสปอร์ต ที่เป็นเทรนด์ซึ่งกำลังเติบโตและเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ 

"การผลักดันงานด้านนี้ ไม่เคยมีเรื่องเพศเข้ามาเป็นเงื่อนไข ตรงกันข้าม กลับได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่ง จนทำให้เชื่อมั่นว่าการส่งต่อบริการที่จะสร้างประโยชน์ ต่อยอดการเติบโตของทุกอุตสาหกรรม"

เปิดสุดยอดผู้นำธุรกิจหญิงเอเชีย

“ฟัลกุนี นายาร์” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอไนกา (Nykaa) บริษัทอีคอมเมิร์ซความงามใหญ่สุดของอินเดีย เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมานายาร์เป็นอภิมหาเศรษฐินีผู้สร้างเนื้อสร้างตัวจนมั่งคั่งที่สุดในประเทศ บริษัทของเธอกลายเป็นยูนิคอร์นภายใต้การนำของผู้หญิงบริษัทแรกที่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินเดีย

ศิษย์เก่าสถาบันการจัดการอินเดีย (ไอไอเอ็ม) อาห์เมดาบัดรายนี้เคยเป็นวาณิชธนกรมานาน 20 ปีก่อนเริ่มทำบริษัทอีคอมเมิร์ซความงามและแฟชั่น

นายาร์ได้ความคิดเรื่องไนกาเมื่อปี 2555 ตอนที่เธอตระหนักว่าผู้หญิงยังต้องหาซื้อสกินแคร์ เมคอัพ และสินค้าไลฟ์สไตล์ที่จำเป็นอื่นๆ จากร้านค้าแถวบ้าน เมื่อรู้ว่าตลาดความงามมีช่องว่างมหาศาลระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค นายาร์จึงคิดถึงการแปลงคุณค่าของผู้บริโภคมาเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ

วันนี้นายาร์ในวัย 59 ปีมีธุรกิจอีคอมเมิร์ซควบคู่ไปกับร้านค้าจริงมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ เธอเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการหญิง และพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้หญิงไม่ควรหยุดฝันเพราะอายุหรือเพศ

ด้วยการทำแบรนด์หรูให้ลูกค้าผู้ต้องการเข้าถึงได้ง่ายไนกากลายเป็นตัวเปลี่ยนเกมในอีโคซิสเต็มสตาร์ทอัพแดนภารตเปรียบเสมือนนครเมกกะสำหรับสินค้าและบริการด้านความงามและดูแลสุขภาพในอินเดีย

ไท เฮือง ซีอีโอทีเอชกรุ๊ป

เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมานิตยสารฟอร์บสประกาศรายชื่อ 50 แกร่งวัยเกิน 50 แห่งเอเชีย ไท เฮือง ผู้ก่อตั้งทีเอชกรุ๊ปเป็นหนึ่งในนั้น ด้วยบทบาทนักปฏิวัติภาคเกษตรกรรมในเวียดนาม เธอส่งเสริมอุตสาหกรรมนมของประเทศด้วยการนำทีเอชกรุ๊ปลงทุนเพาะพันธุ์และทำฟาร์มโคนมเมื่อปี 2551 โดยใช้เทคโนโลยีจากอิสราเอลช่วยลดอัตราส่วนของผลิตภัณฑ์นมที่ใช้นมผงจาก 92% มาอยู่ที่ 60% (ในปี 2563)

“เธอดำเนินการอย่างกล้าหาญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาลงทุนในการผลิตผลิตภัณฑ์นมในรัสเซียและออสเตรเลีย โครงการในรัสเซียวางแผนลงทุนรวม 2,700 ล้านดอลลาร์ เฟสหนึ่งใกล้แล้วเสร็จคาดว่าจะเปิดโรงงานนมในเดือน พ.ค.” ฟอร์บสระบุ

ก่อนหน้านี้ในปี 2558 และ 2559 ฟอร์บสเคยจัดให้ไทเฮืองเป็นหนึ่งในผู้หญิงทรงอิทธิพลสูงสุดในเอเชีย ปี 2560 คว้ารางวัลผู้ประกอบการเอเชียแปซิฟิก ปี 2561รางวัลสตีวีอวอร์ด ที่เปรียบได้กับรางวัลออสการ์ของภาคธุรกิจเสนอชื่อเธอเป็นหนึ่งในผู้นำองค์การยอดเยี่ยมประจำปี