ปรับพฤติกรรม "ลดอ้วนลงพุง-น้ำหนักตัว" ลดเสี่ยงโรคแทรกซ้อน

ปรับพฤติกรรม "ลดอ้วนลงพุง-น้ำหนักตัว" ลดเสี่ยงโรคแทรกซ้อน

คนไทยมีภาวะอ้วน ร้อยละ 34.1 มีภาวะอ้วนลงพุง ร้อยละ 37.5 ทั้ง 2 กลุ่มเสี่ยงป่วยเป็นโรค NCDs และเสี่ยงติดโควิดลงปอดมากกว่าคนปกติ 3 เท่า แนะป้องกันโรคอ้วน ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คุมอาหาร ลดน้ำหนัก ปรึกษาแพทย์ ช่วยลดอ้วนก่อนเกิดโรคอื่นๆ

4 มี.ค. “วันโรค อ้วนโลก”  หรือ World Obesity Day ถูกตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2015 โดย World Obesity Federation ที่เป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรซึ่งขึ้นตรงกับองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยมีความมุ่งหวังที่จะ “หยุดการเพิ่มขึ้น” ของ วิกฤตโรคอ้วน (Obesity Crisis) ทั่วโลกให้ได้ภายในปี 2025

  • “คนไทย"มีภาวะอ้วนร้อยละ 34.1 อ้วนลงพุงร้อยละ 37.5

ทว่าปัจจุบันกลับพบว่า ภาวะโรคอ้วนยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของคนทั่วโลก  โดยขณะนี้มีประชากรทั่วโลกที่เป็นโรคอ้วน ถึง  800 ล้านคน  

โดยในประเทศไทย ปี 2557 ถึงปัจจุบัน พบคนไทย 19.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 34.1 มีภาวะ “อ้วน” หรือคนที่เดินเข้ามา 3 คนจะมีคนที่มีภาวะอ้วน 1 คน  และมีคนไทยที่มีรอบเอวเกิน “อ้วนลงพุง”กว่า 20.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.5 ทั้ง 2 กลุ่มเสี่ยงป่วยเป็นโรค NCDs

นอกจากนั้นในภูมิภาคอาเซียน ไทยมีความชุกของโรคอ้วนในประชากรเป็นอันดับ 2 รองมาจากประเทศมาเลเซีย 

วันนี้ (3 มี.ค.2565)“โรงพยาบาลยันฮี” ได้กำหนดการจัดกิจกรรมพิเศษเนื่องในวันอ้วนโลก(World Obesity Day)ปี 2022 เพื่อให้คนไทยตระหนักและเรียนรู้ถึงภัยและความรุนแรงของโรคอ้วน  

พญ.กัลยาณี พรโกเมธกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลยันฮี กล่าวว่าโรคอ้วน เป็นปัญหาที่ประชากรทั่วโลกกำลังประสบพบเจอ ไม่ใช่เฉพาะประชากรในประเทศไทย ซึ่งการที่ประชากรมีภาวะโรคอ้วนมากขึ้น ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 คนที่มีภาวะโรคอ้วนจะมีภาวะแทรกซ้อน ลงปอดและอันตรายมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า และดัชนีมวลกาย BMI ที่เพิ่มทุกๆ หนึ่งหน่วยมีผลต่อความเสี่ยงจะเกิดความรุนแรงของโควิด-19 มากขึ้น 12%

 

  • สำรวจตนเองว่าเป็นโรคอ้วนหรือไม่?

 "โรคอ้วน" เกิดจากที่ร่างกายมีภาวะไขมันส่วนเกินสะสมในร่างกายเกิดความจำเป็น ซึ่งจะมีวิธีการคำนวณง่ายๆ โดยใช้น้ำหนัก(กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลัง 2  เช่น 95 หารด้วย1.75 ยกกำลัง 2 เท่ากับ 31 (ค่าดัชนีมวลกาย BMI)

  • หากค่า BMI น้อยกว่า 18.5 อยู่ในเกณฑ์ น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ เสี่ยงต่อโรคมากกว่าคนปกติ  
  • หากค่า BMI เท่ากับ 18.5-22.9 อยู่ในเกณฑ์ สมส่วน เสี่ยงต่อโรค เท่ากับคนปกติ
  • หากค่า BMI เท่ากับ 23.0-24.9 อยู่ในเกณฑ์  น้ำหนักเกิน เสี่ยงต่อโรค อันตรายระดับ 1
  • หากค่า BMI เท่ากับ 25.0-29.9 อยู่ในเกณฑ์ โรคอ้วน เสี่ยงต่อโรค อันตรายระดับ 2
  • หากค่า BMI เท่ากับ 30 ขึ้นไป โรคอ้วนรุนแรง เสี่ยงต่อโรค อันตรายระดับ 3  

ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่โรคอ้วน เมื่อความไม่มั่นใจในโรคอ้วน จะมีโรคอื่นๆ ตามมามากมาย และส่วนใหญ่จะเป็นโรคเรื้อรังที่จะส่งผลต่อร่างกายในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ไขมันเกาะตับ นิ่วในถุงน้ำดี และโรคมะเร็ง  ถ้าเป็นโรคอ้วนจะมีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆ มากกว่าคนไม่อ้วน

 

 

  • ดูแลสุขภาพ เมื่อ “อ้วนลงพุง น้ำหนักเกิน”

พญ.กัลยาณี  กล่าวต่อว่าเมื่อตระหนักว่าเป็นโรคอ้วน แรกเริ่ม ต้องมาจากตัวเอง โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  คือ ควบคุมอาหารโดยหลีกเลี่ยงของมัน ของทอด ไม่ควรบริโภคอาหารประเภทที่ให้ High calorie High Fat แต่ควรจะรับประธานอาหารประเภท High Fiber Low Fat Low calorie รวมถึงควรออกกำลังกาย อย่าง แอโรบิค ประมาณ 250 นาที ต่อสัปดาห์

หากปรับพฤติกรรมแล้ว น้ำหนักยังเกินอยู่ ควรจะปรึกษาทีมแพทย์เฉพาะทางในการรักษาโรคอ้วน โดยในส่วนของรพ.ยันฮี มีการรักษาโรคอ้วน โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็น ทีมแพทย์เฉพาะทาง นักโภชนาการ ทีมแพทย์ดูแลเรื่องการออกกำลังกายเฉพาะบุคคล พยาบาลและเภสัชกร ทีมแพทย์ผ่าตัดเฉพาะทาง  และ Telemedicine

สำหรับการรักษาโรคอ้วนดังกล่าวจะพิจารณาจากระดับความรุนแรง ซึ่งมีทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ควบคุมการออกกำลังกาย หรือใช้ทั้งยากิน และยาฉีดที่จะช่วยควบคุมความหิวได้ รวมถึงในระดับรุนแรงมากๆ BMI เกิน 27 ก็อาจจะต้องมีการทำบอลลูกกระเพาะอาหาร หรือผ่าตัดกระเพาะอาหาร

  •  “เปปไทด์ฮอร์โมน”-“ใส่บอลลูน” รักษาโรคอ้วน

การรักษาโรคอ้วน สามารถทำได้ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย รวมถึงการใช้ยาเปปไทด์ฮอร์โมนที่จะควบคุมความหิว โดยจะช่วยให้คนไข้รู้สึกอิ่มนานขึ้น ไม่ค่อยหิวบ่อย ช่วยลดการผลิตน้ำตาลที่ตับ เพิ่มความไวของอินซูลินที่ตับอ่อนและที่กล้ามเนื้อ ลดการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารอยู่ท้องนาน ออกฤทธิ์นาน 12 ชั่วโมง โดยเป็นการฉีดใต้ผิวหนัง วันละครั้ง

นอกจากนั้น ยังทำการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นการลดน้ำหนักชนิดหนึ่งที่ไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องใช้ยา โดยการส่องกล้องใส่บอลลูนเข้าไปในกระเพาะอาหารคล้ายกับการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารทั่วไป ภายในบอลลูนจะใส่น้ำเกลือผสมกับสารสีฟ้าที่เรียกว่าเมทิลีนบลู (Methylene Blue) ในปริมาตร 400 ถึง 500 ซีซี เพื่อลดพื้นที่ในกระเพาะอาหาร ทำให้ผู้เข้ารับการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารรู้สึกอิ่มตลอดเวลา และรับประทานอาหารได้ลดลงกว่าเดิม

  • ประโยชน์ของการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร

โดยบอลลูนสามารถปรับเพิ่มหรือลดขนาดได้ภายหลัง แต่หากผู้เข้ารับการใส่บอลลูนพอใจกับน้ำหนักที่ลดลงแล้ว ก็สามารถนำบอลลูกออกก่อนครบ 1 ปีได้

สำหรับประโยชน์การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร เป็นการลดน้ำหนักโดยไม่ต้องผ่าตัด จึงไม่เจ็บตัว และไม่มีบาดแผล  ไม่ต้องรับประทานยาเพื่อลดน้ำหนัก บอลลูนจะเข้าไปลดพื้นที่ในกระเพาะอาหาร ทำให้รู้สึกอิ่มตลอดเวลาและรับประทานอาหารได้ลดลงกว่าเดิม ส่งผลให้ฮอร์โมนเกี่ยวกับความหิวหลั่งลดลง ทำให้รู้สึกหิวน้อยลงโดยเฉลี่ยสามารถลดน้ำหนักได้มากกว่า 24 กิโลกรัม ภายในระยะเวลา 1 ปี

อีกทั้ง เป็นวิธีลดน้ำหนักที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย ได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ

ผู้เข้ารับการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร จะได้รับการดูแลตลอดการรักษาอย่างครบวงจร โดยทีมอายุรแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินอาหาร นักปรับพฤติกรรม และนักโภชนาการ นอกจากน้ำหนักที่ลดลงมาแล้ว ผู้เข้ารับการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารจะมีสุขภาพที่ดีขึ้น เนื่องจากมีการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการใช้ชีวิตร่วมด้วย

ภายหลังนำบอลลูนออก ผู้เข้ารับการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร จะเกิดความเคยชินกับพฤติกรรมในขณะใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร จึงสามารถนำพฤติกรรมดังกล่าวไปปฏิบัติหลังจากนำบอลลูนออกจากกระเพาะอาหารแล้วได้ ทำให้เป็นการลดน้ำหนักที่ยั่งยืนและปลอดภัย

  • รักษาโรคอ้วน ลดความเสี่ยงกลุ่มโรค NCDs

นางลักขณา ศรีสร้อย ผู้ป่วยโรคอ้วนที่ใส่บอลลูนกระเพาะอาหาร เล่าว่าตนอ้วนมาประมาณ 6-7 ปี โดยเป็นโรคอ้วนภาวะหลังคลอด ซึ่งนอกจากโรคอ้วนแล้ว ยังเป็นโรคความดันโลหิตสูง มีภาวะเหนื่อยง่าย และเสี่ยงต่อเป็นโรคเบาหวาน  

“เวลาที่เราอ้วน ไม่ใช่เพียงไม่มีความมั่นใจในรูปร่าง จะยังทำให้เราเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งโดยส่วนตัวกลัวว่าจะเป็นโรคเบาหวาน เพราะตอนนี้นอกจากค่าน้ำตาลในเลือดสูงแล้ว ยังมีอาการชาตามปลายมือ ปลายเท้า ซึ่งมองว่าถ้าปล่อยไว้จะเป็นอันตราย จึงได้มาปรึกษาคุณหมอที่รพ.ยันฮี” นางลักขณา กล่าว

คำแนะนำในการดูแลรักษาจะเริ่มตั้งแต่ คุณหมอซักประวัติ สอบถามถึงแรงบันดาลใจ และเป้าหมายที่จะลดน้ำหนัก ที่สำคัญให้เราเลือกว่าจะรักษาด้วยวิธีการใด ซึ่งตนเลือกใส่บอลลูกในกระเพาะอาหารเนื่องจากไม่มีแผล ไม่เจ็บ พักฟื้นที่รพ. 2 วันก็กลับบ้านได้แล้ว

การรักษาโรคอ้วนมีความสำคัญอย่างมาก เพราะต่อให้เรามองว่าสามารถควบคุมอาหาร ออกกำลังกายได้ แต่เมื่อทำไปแล้วเมื่อน้ำหนักไม่ลดลง ยังเกินเหมือนเดิมก็อาจทำให้ท้อในการลดน้ำหนัก

ดังนั้น หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วน้ำหนักไม่ลด ยังคงมีภาวะโรคอ้วน ขอให้มาปรึกษาแพทย์ เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี และเห็นผล จะได้ไม่มีภาวะโรคอ้วนที่อาจตามมาด้วยหลากหลายโรค