กรณี“แตงโม นิดา” จิตแพทย์เตือนสังคม "อย่าทำให้มีการตายทั้งเป็น"

กรณี“แตงโม นิดา” จิตแพทย์เตือนสังคม "อย่าทำให้มีการตายทั้งเป็น"

จิตแพทย์ระบุเสนอข่าวกรณี “แตงโม นิดา”เริ่มเห็นการก้าวล่วงความเป็นส่วนตัว หวั่นปลุกเร้าอารมณ์ กระทบกระบวนการเยียวยาจิตใจโดยธรรมชาติ สังคมด่วนตัดสินกำลังก่อความสูญเสียคนอื่นๆให้ตายทั้งเป็น ระบุจำลองเหตุการณ์จากคนไม่มีความรู้ เป็นการซ้ำเติมญาติ

 เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการรับข่าวสารกรณี แตงโม นิดา พัชระวีระพงษ์ตกเรือเสียชีวิตกลางแม่น้ำเจ้าพระยาว่า การสูญเสียดาราชื่อดังที่เป็นที่รักของคนจำนวนมาก  ย่อมทำให้คนจำนวนมากรู้สึกสะเทือนใจและเสียใจ เพราะเกิดกระทันหัน และในยุคข้อมูลข่าวสารซึ่งทุกคนสามารถค้นหาข้อมูลและเป็นสื่อได้ด้วยตัวเอง ทำให้สังคมรับข้อมูลข่าวสารทั้งจากสื่อกระแสหลักและข่าวสารที่นำเสนอกันเองจากประชาชนทั่วไป เกิดความสับสนได้ และเป็นอารมณ์ที่ปลุกเร้ากันได้ง่าย
       “ สำหรับประชาชนที่มีความอ่อนไหว รับข่าวสารในลักษณะวนไปเรื่อยๆ  บนพื้นฐานขอความเห็นใจ และลึกลงไปกว่านั้น  จึงกำลังเริ่มมองเห็นการก้าวล่วงความเป็นส่วนตัว ซึ่งคาดไม่ได้ว่าจะเกิดความเสียหายอะไรตามมากับคนที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องที่ต้องระวัง”พญ.อัมพรกล่าว   

  พญ.อัมพร กล่าวอีกว่า การรับข่าวสารทั้งวัน ทั้งเรื่องเก่าเรื่องใหม่ จากบุคคลที่หลากหลายทั้งด้านบวกและลบ อาจทำให้เกิดอารมณ์โกรธทับซ้อนลงบนความโศกเศร้า ขอให้นึกถึงญาติของคนที่สูญเสีย จะยิ่งทำให้เกิดความทุกข์มากขึ้น และกระบวนการเยียวยาจิตใจโดยธรรมชาติก็ถูกรบกวนโดยกระบวนการของข่าวเป็นอย่างมาก และหากสังคมปลุกเร้ากันเองเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็มีโอกาสที่จะไปแทรกแซงกระบวนการสอบสวน หรือ การที่ด่วนตัดสินคนบางคน ทำให้สูญเสียการหาสาเหตุที่ชัดเจน และอาจจะกำลังสูญเสียคนอื่นๆ ให้ตายทั้งเป็นท่ามกลางข่าวด้านลบและการด่วนตัดสินเช่นนี้ จึงอยากให้สังคมพึงระวังด้วย

     พญ.อัมพร กล่าวด้วยว่า  อยากแนะนำให้เสพสื่อแบบพอประมาณ  ใช้ความรักความห่วงใยในทางสร้างสรรค์ ถ้ารู้สึกว่าตนเองได้รับผลกระทบทางจิตใจจากข่าว เช่น เสพข่าวจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เช่น ไปทำงานผิดเวลา  หรืออ่านข่าวจนไปทะเลาะกันคนอื่น นอนไม่หลับ หรือจินตนาการภาพตามข่าวที่อ่านมา ขอให้ลดการอ่านข่าว จากการอ่านข่าวทั้งวัน เป็นอ่านข่าววันละ 1-2 ครั้ง  หรือตามข่าวจากคนที่เชื่อถือได้ โดยไม่จำเป็นต้องอ่านทุกข่าว ทุกความคิดเห็น ก็จะทำให้จิตใจเข้มแข็งขึ้นมาได้
      นอกจากนี้ การจำลองเหตุการณ์ โดยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ จะเกิดประโยชน์เพื่อการป้องกันเหตุ แต่หากทำโดยคนไม่มีความรู้ ทำเพื่อต้องการให้เกิดกระแสการส่งต่อ หรือเป็นไวรัล  ถือเป็นการเลียนแบบ ที่จะเป็นการซ้ำเติมผู้สูญเสีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และสิ่งที่สังคมควรจะเรียนรู้จากเหตุการณ์ครั้งนี้คือ การป้องกันตนเองจากอุบัติเหตุทางเรือ และการช่วยเหลือคนที่ตกเรือ เป็นต้น