เสี่ยงเชื้อดื้อยา! ไทยใช้"ยาฟาวิพิราเวียร์"เดือนละ 60 ล้านเม็ด

เสี่ยงเชื้อดื้อยา! ไทยใช้"ยาฟาวิพิราเวียร์"เดือนละ 60 ล้านเม็ด

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเผยไทยใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ถึงเดือนละ 60 ล้านเม็ด หวั่นใช้โดยไม่จำเป็น  เชื้อดื้อยา-เกิดผลข้างเคียง ย้ำติดโควิด19 ราว 90 % ไม่มีอาการ-อาการน้อย รักษาที่บ้านได้ โอกาสอาการมากขึ้นจนเป็นสีเหลือง-แดงน้อย  แนวทางใหม่มุ่งใช้อย่างสมเหตุสมผล

      รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ กล่าวว่า  ผู้ติดโควิด19 ในระลอกโอมิครอน มีประมาณ 10 %ที่ต้องเข้ารับการรักษาในรพ. โดยจากแนวทางการรักษาล่าสุดฉบับที่ 20 ที่เพิ่งออกมาเมื่อปลายเดือนก.พ.2565  ก็กำหนดให้กลุ่มที่ต้องเข้านอนรักษาในรพ. คือ ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง เช่น มีไข้  38-39 อายุ 65 ปีขึ้นหรือมีโรคร่วมสำคัญหรือผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบเล็กน้อยที่ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน แพทย์พิจารณาให้เข้ารับการนอนในรพ. เพราะเสี่ยงที่โรคจะพัฒนารุนแรงขึ้น ส่วนยาที่ใช้จะมีหลายตัว และผู้ที่มีอาการรุนแรงต้องรับไว้ดูแลในรพ.

ผู้ติดเชื้ออีกราว 90 % ไม่มีอาการหรืออาการน้อย เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่สามารถดูแลรักษาที่บ้านได้ทั้งผ่านระบบกักตัวที่บ้าน(Home Isolation:HI)และดูแลแบบผู้ป่วยนอก(OPD)แล้วผู้ติดเชื้อจะค่อยๆหายได้เอง  โดยกลุ่มที่ไม่มีอาการ  จะไม่ให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ อาจจะพิจารณาให้ฟ้าทะลายโจรตามดุลพินิจแพทย์ ส่วนกลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่มีโรคร่วม  แพทย์เป็นคนพิจารณาว่าจะให้ฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ ซึ่งจากที่ดำเนินการเรื่องดูแลระบบHIในระลอกของโอมิครอน พบว่า โอกาสที่กลุ่มอาการสีเขียวรักษาที่บ้านแล้วอาการจะเปลี่ยนแปลงมากขึ้น จนอยู่ในระดับสีเหลืองหรือสีแดงนั้นน้อยมากๆ

    รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวอีกว่า  ผู้ติดโควิด19ไม่ใช่ว่าทุกรายจะต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์   หากไม่มีอาการไม่จำเป็นต้องได้รับยานี้ ส่วนมากอาการจะค่อยๆหายเอง ไม่ได้แย่ลง  ซึ่งยาทุกตัวสามารถเกิดผลข้างเคียงได้ อย่างยาฟาวิพิราเวียร์ อาจเกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ตาเป็นสีฟ้า และไม่แนะนำใช้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะตั้งครรภ์อ่อนๆ เพราะพบว่ามีผลต่อตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง  อีกทั้ง ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์วันละ 2 ล้านเม็ดเดือนละ 60 ล้านเม็ด นับว่าเป็นการใช้ยาต้านไวรัสในปริมาณที่มาก

      “จากการใช้ยาต้านไวรัสในปริมาณที่มากนี้  กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกำลังกังวลในประเด็นเรื่องของเชื้อดื้อยา ซึ่งตามทฤษฎีย่อมเกิดขึ้นได้  ถ้าเชื้อสัมผัสกับยาบ่อยๆก็จะเกิดการดื้อยาได้ และถ้ามีการดื้อยาเกิดขึ้นจริงๆ ให้กินก็เหมือนกินแป้งไม่มีประโยชน์ ดังนั้น แนวทางการรักษาใหม่จึงกำหนดให้ใช้ยาตามอาการและใช้อย่างสมเหตุสมผล หากไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์  และขอย้ำว่าการปรับแนวทางการรักษาเป็นไปตามอาการผู้ป่วยและสถานการณ์ ไม่ได้เป็นเพราะประเทศไทยขาดยาฟาวิพิราเวียร์แต่อย่างใด”รศ.(พิเศษ)นพ.ทวีกล่าว