รู้จัก "เทโลเมียร์" กลไกลสำคัญร่างกาย ดูแลดี "ชะลอวัย"

รู้จัก "เทโลเมียร์" กลไกลสำคัญร่างกาย ดูแลดี "ชะลอวัย"

"เทโลเมีย" หมวกหุ้มปลายโครโมโซม มีหน้าที่ปกป้อง "โครโมโซม" ซึ่งเป็นที่เก็บหน่วยพันธุกรรม หรือ "ดีเอ็นเอ" หลายล้านตัว ไม่ให้ถูกทำลาย หากเทโลเมียร์สั้นลง หมายถึงความชราภาพ และมีโอกาสเกิดโรคเสื่อมถอยต่างๆ แต่เราสามารถรักษาเทโลเมียร์ได้ ด้วยการปรับพฤติกรรม

การก้าวเข้าสู่ สังคมสูงวัย เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้วัยแรงงานของประเทศลดลง ประมาณการณ์ว่าในปี 2583 ประชากรไทยจะลดลงเหลือ 65.4 ล้านคน จาก 66.5 ล้านคนในปี 2563 และวัยแรงงานเหลือเพียง 36.50 ล้านคน จาก 43.26 ล้านคน ดังนั้น นวัตกรรมในปัจจุบัน ตอบโจทย์สุขภาพที่แข็งแรงและ ชะลอวัย มากขึ้นเพื่อให้มีกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

 

มนุษย์มีเซลล์อยู่ในร่างกายประมาณร้อยล้านล้านเซลล์ จุดสำคัญที่ส่งผลต่อความเสื่อมถอยของร่างกาย คือ โครโมโซม ที่มีประมาณ 23 คู่ในแต่ละเซลล์ แต่ละคู่จะมี เทโลเมียร์เป็นหมวกหุ้มปลายโครโมโซม โดยทำหน้าที่สำคัญ ในการปกป้องโครโมโซม ซึ่งเป็นที่เก็บหน่วยพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอหลายล้านตัว ไม่ให้ถูกทำลาย ดังนั้นหากเทโลเมียร์ ถูกทำลาย จะมีผลต่อโครโมโซม ทำให้ร่างกายเสื่อมถอย

 

การค้นพบ เทโลเมียร์ 

 

การค้นพบ การป้องกัน “เทโลเมียร์” (หมวกหุ้มปลายโครโมโซม) ไม่ให้ถูกทำลายด้วยโครงสร้างเทโลเมียร์ที่ปลายโครโมโซม และเอนไซม์เทโลเมอเรส (Telomerase) ที่ช่วยซ่อมแซมเทโลเมียร์ให้เป็นปกติ ของ 3 นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันอย่าง Elizabeth H. Blackburn, Carol W. Greider และ Jack W. Szostak ในปี 2009 ได้รับรางวัลโนเบลทางการแพทย์ นับองค์ความรู้ด้านการ ชะลอวัย ครั้งสำคัญที่ช่วยสร้างความหวังในการมีอายุยืนยาว และนำไปสู่การพัฒนาวิธีการรักษาโรคอื่นๆ อีกด้วย

รศ.ดร. ปรียา  ลีฬหกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการชะลอวัย และที่ปรึกษางานวิจัย APCO กล่าวในงานบรรยายพิเศษ เรื่อง “มหัศจรรย์เทโลเมียร์ ย้อนวัยระดับโครโมโซม” ว่าโดยธรรมชาติ เทโลเมียร์จะหดสั้นลงเรื่อยๆ เมื่อเซลล์มีการแบ่งตัว อันหมายถึงความแก่ ชราภาพ และมีโอกาสเกิดโรคเสื่อมถอยต่างๆ ที่เป็นไปตามอายุ นอกจากอายุที่ทำให้เทโลเมียร์สั้นลงแล้ว พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็มีส่วนสำคัญ และพบว่าคนอ้วนจะมีเทโลเมียร์สั้นลงเร็วกว่าคนน้ำหนักปกติ ดังจะเห็นว่าคนอ้วนมีโรคแทรกมากมาย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ฯลฯ

 

นอกจากนี้ ยังพบว่าการกินน้ำตาลมาก สูบบุหรี่มาก หรือ การดื่มแอลกอฮอล์มาก ไม่ออกกำลังกาย นอนน้อยเป็นประจำ และ เครียดตลอดเวลา เหล่านี้ล้วนส่งผลให้เทโลเมียร์สั้นลงเร็วกว่าปกติ ดังนั้น “เทโลเมียร์” จึงเป็นตัวชี้วัดหรือบ่งบอกสุขภาพของเราในอนาคต ถ้าเราแก้ไขให้เทโลเมียร์สั้นช้าลง หรือสามารถทำให้ยาวขึ้นได้ หมายถึงว่าจะช่วยให้เซลล์เสื่อมถอยน้อยลง

 

ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APCO  กล่าวว่า ที่ผ่านมาทีมนักวิจัย Operation BIM ของ APCO สามารถพัฒนาสูตรนวัตกรรมวัฒนชีวา จากสารสกัดจากพืชกินได้ 5 ชนิด มาใช้ซ่อมสร้างเทโลเมียร์ได้เป็นผลสำเร็จ กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว ที่เป็นส่วนสำคัญในการจัดการและทำลายเชื้อโรคที่บุกรุกเข้ามาทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ถือเป็นมิติใหม่ในการดูแลสุขภาพ และเข้าใจถึงกลไกการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและบทบาทของเทโลเมียร์ ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกวัย

รวมถึงต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาสุขภาพ ตอบโจทย์สังคมสูงวัยที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และหน่วยงานของรัฐ หลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยในปี 2559 ได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ล่าสุดปีนี้ ร่วมมือกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาเรื่องเทโลเมียร์ในคน เพื่อการขยายผลต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมวัฒนชีวาต่อไปในอนาคต

 

ทั้งนี้หากประชากร มีสุขภาพเสื่อมถอย การพัฒนาประเทศก็จะยิ่งเสื่อมถอยลง ดังนั้น หากสามารถพัฒนาสุขภาพของผู้ที่ีเข้าสู่ภาวะสูงวัยให้ยังคงแข็งแรง มีสุขภาพที่ดี จะทำให้การพัฒนาประเทศเจริญเติบโตต่อไป หรือทำอย่างไรให้สุขภาพของผู้สูงอายุมากขึ้น โดยไม่เป็นภาระของสังคม ขณะเดียวกัน งานที่ผลิตจากบุคคลเหล่านี้เป็นงานที่มีคุณภาพ จะทำให้เป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศด้วยเช่นกัน

 

วิธีดูแลรักษาเทโลเมียร์ ด้วยตนเองง่ายๆ

 

ข้อมูลในเว็บไซต์ BDMS Wellness Clinic อธิบายว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีการรักษาเพื่อเพิ่มความยาวให้กับเทโลเมียร์ โดยอาศัยความรู้ในการกระตุ้นเทโลเมอเรส โดยใช้การวัดค่าความยาวของเทโลเมียร์มาประเมินแผนการรักษานั้นๆ ว่ามีการเพิ่มความยาวของเทโลเมียร์อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

 

วิธีดูแลรักษาเทโลเมียร์ สามารถทำได้โดยลองเปลี่ยนมาใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสมดุลแห่งชีวิต เริ่มต้นจากพฤติกรรมง่ายๆ ได้แก่

 

1. นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง และเข้านอนก่อน 22.00 น. 

2. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หรือ 2 ลิตร

3. รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดอาหารปรุงแต่ง อาหารจานด่วน อาหารประเภทนม เนย ไขมันจากสัตว์ อาหารที่มีรสจัด ทั้งหวานจัด เค็มจัด หรือมันจนเกินไป งดอาหารที่มีส่วนผสมของทรานส์แฟต เน้นรับประทานอาหารประเภทผักและเส้นใยให้ได้สัดส่วน 50% ต่อมื้อ, เนื้อขาว เช่น เนื้อไก่ หรือ เนื้อปลา 25% ต่อมื้อ และข้าวแป้งธัญพืชไม่ขัดสีอีก 25% ต่อมื้อ

4. ออกกำลังกายหัวใจ (Cardio exercise) เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือ เน้นการขยับตัวและการเดิน (Physical activity) ให้ได้วันละ 10,000 ก้าว

5. นั่งสมาธิ (Meditation) ปล่อยวาง เดินจงกรม ลดความเครียด พักการใช้สมอง เพื่อขจัดความเครียดและความเหนื่อยล้าทางจิตใจ และ 6. ลดละเลิก การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

นอกจากนี้แล้ว ยังต้องหมั่นดูแลสุขภาพจิตของตัวเอง ให้มีความสดใส ไม่มีความเครียดหรือวิตกกังวลจนเกินไป เมื่อทำทั้งหมดควบคู่กันไปแล้ว ก็สามารถช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย หรือการหดสั้นของเทโลเมียร์ลงได้ ทำให้เรามีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ