จับตา ‘เวลเนส ทัวริสซึ่ม’ ยูนิคอร์นใหม่แห่งเศรษฐกิจไทย!

จับตา ‘เวลเนส ทัวริสซึ่ม’  ยูนิคอร์นใหม่แห่งเศรษฐกิจไทย!

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ “เวลเนส ทัวริสซึ่ม” (Wellness Tourism) โด่งดังมานานแล้ว โดยมีวิกฤติโควิด-19 กระตุ้นกระแสรักสุขภาพมาแรงยิ่งขึ้น!

นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก จำกัด และบริษัท บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท จำกัด กล่าวในเวทีสัมมนาออนไลน์ “FHT x TSF Webinar ก้าวต่อไป : โอกาสสำหรับท่องเที่ยวไทย” จัดโดยสมาคมโรงแรมไทยและบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ว่า เวลเนส ทัวริสซึ่ม คือ “ยูนิคอร์นใหม่” ของภาคท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยทั้งในยุคโควิดและหลังจากนี้!  ด้วยศักยภาพที่มีมานาน มี “การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์” หรือ “เมดิคัล ทัวริสซึ่ม” เป็นพื้นฐานที่แข็งแรง ซึ่งเป็นจุดที่ประเทศไทยเชี่ยวชาญ ชาวต่างชาติให้การยอมรับ และโหวตว่าการแพทย์ของประเทศไทยน่าเชื่อถือ นำมาต่อยอดเป็นเวลเนส ทัวริสซึ่มได้

แต่การขับเคลื่อนด้วยฝั่งการแพทย์เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ต้องมีหลายภาคส่วนมาร่วมมือกัน!!

ในเบื้องต้น “ต้องเข้าใจก่อนว่าลูกค้ากลุ่มเวลเนส ทัวริสซึ่ม คือ คนไม่ป่วย  เขาต้องการไปเที่ยวมากกว่ากลุ่มคนป่วย ออกไปกิน เที่ยว ออกกำลังกาย ใช้บริการสปา นวดไทย ไปทำหลายๆ อย่าง มีทั้งแบบไปเที่ยวเพื่อตั้งใจไปดูแลสุขภาพ หรือไปเที่ยวด้วย แต่ถ้ามีอะไรที่เกี่ยวกับสุขภาพก็สนใจ ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารที่ดี การเช็คอัพร่างกาย บริการต่างๆ ที่ช่วยลดความเครียด ปรับพฤติกรรมด้านสุขภาพ เป็นการดูแลสุขภาพเชิงรุก (Proactive) ไม่ต้องรอป่วย"

สิ่งเหล่านี้ จะช่วยทำให้เวลเนส ทัวริสซึ่มก้าวสู่ยูนิคอร์นใหม่ของเศรษฐกิจไทย

ข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เมื่อปี 2562 ตลาดเมดิคัล ทัวริสซึ่ม มีนักท่องเที่ยวมาเยือนไทย 3.6 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้การท่องเที่ยว 41,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 9,195 คน แต่เมื่อตลาดกว้างขึ้นเป็น “เวลเนส ทัวริสซึ่ม” มีนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาเยือนไทย 12.5 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้การท่องเที่ยว 409,200 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 530,000 คน

นอกจากโครงสร้างด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และสุขภาพที่แข็งแรงแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดการดูแลสุขภาพมาแรงนั่นคือ ปัญหาสุขภาพของคนทั่วโลก ทั้ง “โรคน้ำมือเรา” (NCDs : กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) ซึ่งผู้คนป่วยเป็นโรคนี้กันมากขึ้น ก่อนวิกฤติโควิด เรียกได้ว่า NCDs เป็นโรคที่เข่นฆ่าคนบนโลกใบนี้ไปถึง 71% ในปัจจุบัน หรือคิดเป็น 41 ล้านคนทั่วโลกต่อปี  เมื่อเจาะเฉพาะประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 76.58% คิดเป็น 351,880 รายต่อปี เฉลี่ย 44 คนต่อชั่วโมง อันดับ 1 คือ โรคหลอดเลือดสมอง

ขณะเดียวกันโลกกำลังเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” (Aging Society) เมื่อปี 2563 พบผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี 13.5% ของประชากรทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 16% ในปี 2573 ก่อนจะขยับเพิ่มเป็น 21% ในปี 2593

ในเมืองไทย ปี 2564 มีคนอายุเกิน 60 ปี ถึง 20% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั้งโลก เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์  ในปี 2574 จะมีคนอายุเกิน 60 ปี สัดส่วน 28% เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด ขณะที่ปี 2583 สัดส่วนคนอายุเกิน 60 ปี เพิ่มเป็น 31%

“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเมื่อมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น คนเกิดน้อยลง มีวัยรุ่นน้อยลง ส่งผลต่อโครงสร้างประชากร เพราะสังคมไทยมีจุดเด่นเรื่องการอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ นอกจากลูกจะดูแลพ่อแม่ตัวเองแล้ว ยังดูแลปู่ ย่า ตา ยาย เมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้น คนหนุ่มสาวจะเหนื่อย เพราะต้องทำงานหนักในการดูแลผู้สูงอายุ”

อย่างไรก็ตาม กลุ่ม “ซิลเวอร์ เอจ” (Silver Age) หรือคนที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ เวลาเริ่มเหลือ มีประสบการณ์มาก อยากเที่ยว อยากหาความสุขให้ตัวเอง โดยเทรนด์เปลี่ยนไปจากอดีตมาก! จากเดิมผู้สูงอายุจะเก็บเงินไว้ให้ลูกหลาน แต่ปัจจุบันมีผู้สูงอายุจำนวนมากเริ่มเอาเงินมาลงทุนกับตัวเอง ด้านสุขภาพ! เพื่อให้ป่วยช้า แก่ช้า ไม่อยากเป็นภาระลูกหลาน ขณะที่ลูกหลานเองก็มีมุมมองเปลี่ยนไปเช่นกัน เดิมอาจอยากให้พ่อแม่เก็บเงินไว้ให้ใช้ แต่ตอนนี้หลายคนนำเงินให้พ่อแม่ไปใช้จ่ายดูแลสุขภาพ เพื่อจะได้อยู่ด้วยกันไปนานๆ

“โควิดเข้ามาเป็นตัวกระตุ้นทำให้ร่างกายคนเราเจอทั้งศึกนอกศึกใน คนทั่วโลกก็รักตัวกลัวตายกันขึ้นมาทันที ไม่ใช่แค่ 10 หรือ 20 ปีค่อยป่วย เพราะถ้าร่างกายไม่แข็งแรง เจอเชื้อโรคเข้าไป อาจม้วนเดียวจบ ทำให้หลายคนเริ่มพูดถึงเรื่องสุขภาพมากขึ้น ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยจึงควรหันมาเจาะตลาดนี้เพื่อเกาะเทรนด์โลก”

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจด้านสุขภาพทั่วโลก (Global Wellness Economy) เติบโตขึ้นอย่างมาก ปี 2562 มูลค่าตลาดรวม 4.8 ล้านล้านดอลลาร์ เติบโตเฉลี่ยปีละ 6.4% จากปี 2560 ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 4.2 ล้านล้านดอลลาร์  อันดับ 1 คือ กลุ่มการดูแลตัวเอง ความสวยความงาม และการชะลอวัย มีมูลค่า 1.08 ล้านล้านดอลลาร์ ตามด้วยกลุ่มกิจกรรมการออกกำลังกาย 8.28 แสนล้านดอลลาร์ กลุ่มการกินเพื่อสุขภาพ โภชนาการ และการลดน้ำหนัก 7.02 แสนล้านดอลลาร์ ถือเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้ประกอบการร้านอาหาร” โดยตรง เมื่อก่อนขายอาหารแบบธรรมดาแล้วแข่งขันยาก สามารถเข้ามารุกตลาดการกินเพื่อสุขภาพได้ กินอย่างไรให้ปลอดภัยจากโรค กินอย่างไรให้สุขภาพดี กินอาหารแบบไหนให้น้ำหนักลด นี่คือโจทย์ที่ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องไขให้เจอ!

อันดับต่อไป กลุ่มเวลเนส ทัวริสซึ่ม มีมูลค่า 6.39 แสนล้านดอลลาร์ ถือเป็น “ขาใหญ่” ของตลาดสุขภาพทั่วโลก! หากดูเทรนด์ปี 2563 ที่เกิดวิกฤติโควิด ช่วงแรกคาดว่าตัวเลขเวลเนส ทัวริสซึ่ม จะตกลง แต่ปรากฏว่ามูลค่าตลาดขยับเพิ่มมาอยู่ที่ 8.01 แสนล้านดอลลาร์ ปี 2573 คาดมูลค่าพุ่งขึ้น 2 เท่าเป็น 1.59 ล้านล้านดอลลาร์ เติบโตสูง 7.2% ต่อปี สูงกว่าทั้งอุตสาหกรรมสุขภาพโลก!

ขณะที่ความน่าสนใจของนักท่องเที่ยวกลุ่มเวลเนส ทัวริสซึ่มทั่วโลก ถ้าเป็นตลาดนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ จะมีการใช้จ่ายมากกว่าปกติ 53% หรือไม่ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อคนต่อทริป แต่ถ้าเป็นตลาดนักท่องเที่ยวภายในประเทศ จะใช้จ่ายมากกว่าปกติ 178%

ปัจจัยเหล่านี้มากพอที่จะทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยหันมาบุกทำตลาดเวลเนส ทัวริสซึ่ม อย่างจริงจังมากขึ้น!

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์

จับตา ‘เวลเนส ทัวริสซึ่ม’  ยูนิคอร์นใหม่แห่งเศรษฐกิจไทย!