“โควิด” ไม่ล็อคดาวน์ เหตุป่วยหนัก-ตายต่ำ

“โควิด” ไม่ล็อคดาวน์  เหตุป่วยหนัก-ตายต่ำ

แม้ว่าตัวเลขจะติดเชื้อสูงมากขึ้นแต่ส่วนใหญ่มีอาการน้อย หรือที่เรียกว่ากลุ่มอาการสีเขียว และมีการเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามรองรับสถานการณ์ ก็มีความเป็นไปได้ที่ศบค.จะพิจารณามาตรการทางเศรษฐกิจต่างๆ ในวันที่ 23 ก.พ.นี้ 

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องใกล้แตะ2 หมื่นรายติดต่อกันเป็นสัปดาห์ ถ้านับรวมกับผู้ที่ตรวจ ATK รายวันด้วยแล้วเกิน 3 หมื่นรายถือว่าสูงกว่ายอดที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งแนวโน้มจะทรงตัวระดับสูงเช่นนี้ต่อไปอีก 1-2 สัปดาห์จากนี้ จึงจำเป็นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำเตือนภัยระดับ 4 เพื่อช่วยกันชะลอการติดเชื้อโควิด-19 ให้ลดลงให้มากที่สุดเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้

ที่ผ่านมา สธ.ประกาศแจ้งเตือนภัยโควิด-19 ระดับ 4 ในพื้นที่ฟ้า นำร่องการท่องเที่ยว 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี กระบี่ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี พังงา และภูเก็ต และ 18 จังหวัดสีส้ม (มีพื้นที่สีฟ้า) ขอนแก่น จันทบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ระนอง ระยอง เลย สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาย และอุดรธานี

โดยมีแนะนำคือให้งดไปสถานที่เสี่ยง งดการรวมกลุ่มสังสรรค์ เน้นทำงานที่บ้าน และชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่ และมาเน้นย้ำอีกครั้งในทุกจังหวัดทั่วประเทศปฏิบัติตาม เพราะขณะนี้การติดเชื้อกำลังเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ จะได้ช่วยกัันควบคุมป้องกันโรคชะลอการระบาดได้ ที่สำคัญคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ต้องกำหนดมาตรการควบคุมโรคให้เข้มข้นกว่านี้ด้วย

อย่างไรก็ตามตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้นแต่สัดส่วนผู้ป่วยอาการหนัก และเสียชีวิต ยังน้อยกว่าช่วงที่ “เดลตา” ระบาดเมื่อปีที่แล้วส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนครอบคลุมมากขึ้น โดยดูจากผู้ติดเชื้อรายใหม่ วันที่ 20 ก.พ. ติดเชื้อใหม่ 18,953 ราย อาการหนัก 747 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 189 ราย เสียชีวิต 30 ราย วันที่ 21 ก.พ.65 จะมีติดเชื้อใหม่ 18,883 ราย อาการหนัก 796 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 202 ราย เสียชีวิต 32 ราย

ขณะที่จำนวนผู้ป่วยระดับเดียวกันช่วงสายพันธุ์ “เดลตา” ในปี 2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ใกล้เคียงกัน แต่ผู้ที่มีอาการหนักและเสียชีวิตกลับสูงกว่า ซึ่งขณะนั้นการฉีดวัคซีนยังไม่ได้ครอบคลุมในวงกว้างโดยวันที่ 31 ก.ค. ติดเชื้อใหม่ 18,912 ราย อาการหนัก 4,691 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,032 ราย เสียชีวิต 178 ราย และวันที่ 1 ส.ค. ติดเชื้อใหม่ 18,027 ราย อาการหนัก 4,765 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,044 ราย เสียชีวิต 133 ราย

แม้ว่าตัวเลขจะติดเชื้อสูงมากขึ้นแต่ส่วนใหญ่มีอาการน้อย หรือที่เรียกว่ากลุ่มอาการสีเขียว สามารถเข้าระบบรักษา HI หรือ CI ได้ เพื่อสงวนทรัพยากรให้ผู้ป่วยจำเป็น อาการหนัก ซึ่งทั่วประเทศมี 173,736 เตียง ทั้งภาครัฐ เอกชน กทม. ปริมณฑล มี 55,201 เตียง ซึ่งปัจจุบันมีเตียงว่างเกือบครึ่ง เมื่อระบบสาธารณสุขสามารถรองรับสถานการณ์ได้ กทม.มีความพร้อมในเรื่องของHI/CI สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มคู่สายด่วนการรับแจ้งผู้ติดเชื้อเพื่อเข้าสู่ระบบ วันที่ 1 มี.ค.2565 เป็นต้นไป การรักษาผู้ติดโควิด19จะเป็นไปตามสิทธิรักษาที่แต่ละคนมีสิทธิ์ป่วยฉุกเฉินวิกฤติตามเกณฑ์UCEP พลัสรักษาฟรีได้ทุกที่ และมีการเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามรองรับสถานการณ์ ก็มีความเป็นไปได้ที่ศบค.จะพิจารณามาตรการทางเศรษฐกิจต่างๆ ในวันที่ 23 ก.พ.นี้