Dow เดินหน้า "นวัตกรรม" สู่ "อุตสาหกรรมก่อสร้าง" ยั่งยืน

Dow เดินหน้า "นวัตกรรม" สู่ "อุตสาหกรรมก่อสร้าง" ยั่งยืน

กลุ่มธุรกิจ “Dow Building & Infrastructure” โดย "กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย" เดินหน้า "นวัตกรรม" เพื่อการก่อสร้าง ลดคาร์บอน ตอบโจทย์ความยั่งยืน ครอบคลุม Lifecycle ของ "อุตสาหกรรมการก่อสร้าง"

ว่ากันว่า อุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เข้าสู่ชั้นบรรยากาศค่อนข้างมาก ข้อมูลจาก World green building council พบว่า อุตสาหกรรมก่อสร้าง ทั่วโลก ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 39% ในจำนวนนี้ 28% มาจากพลังงานที่ใช้ควบคุมอุณหภูมิภายในอาคาร และ 11% มาจากวัสดุดิบและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการสร้าง

รวมถึงกระบวนการก่อสร้าง โดยมีการตั้งเป้าว่าในปี 2573 อุตสาหกรรมก่อสร้างทั่วโลกจะต้องลดการปล่อยคาร์บอนลงอย่างน้อย 40 % และเดินหน้าสู่ Net Zero ในปี 2593 เป้าหมายเหล่านี้ ถือเป็นความท้าทายและนำไปสู่ความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตวัสดุในการก่อสร้าง Developer สถาปนิก รวมถึงผู้รับเหมา และผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

Dow (ดาว) บริษัทชั้นนำระดับโลกซึ่งพัฒนาและผลิตวัสดุศาสตร์ชนิดต่างๆ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่มีเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจและอนาคตที่ยั่งยืนด้วยความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม รวมทั้งการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยให้ความสำคัญกับ Sustainability goals มากว่า 30 ปี

ในปี 2563 Dow ได้ตั้งเป้าการทำงานต่อยอดจากเป้าหมายความยั่งยืน มุ่งเน้นในเรื่องสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโดยภายในปี 2573 ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนลง 15 % หรือ 5 ล้านตัน และภายในปี 2593 จะเข้าสู่ภาวะความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) พร้อมกับตั้งเป้าหยุดขยะพลาสติก ภายในปี 2573 โดยจะช่วยให้พลาสติก 1 ล้านตันถูกเก็บกลับเพื่อนำมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิล รวมถึงการส่งเสริมวงจรรีไซเคิล โดยภายในปี 2578 ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ Dow ที่นำมาผลิตเป็นแพกเกจจิ้ง จะต้องนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้

“รัฐเชษฐ์ ธีระธนาวัฒน์” ผู้อำนวยการฝ่ายขาย กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เปิดเผยว่า กลุ่มธุรกิจ “Dow Building & Infrastructure” เกิดจากการรวมตัวกันของหลายส่วนภาคธุรกิจในบริษัท โดยมุ่งเน้นในผลิตภัณฑ์ที่เข้าไปในอุตสาหกรรมก่อสร้างและยังตอบโจทย์เรื่อง Sustainability ไม่ว่าจะเป็น “ผลิตภัณฑ์กลุ่มซิลิโคน” เพื่อเชื่อมรอยต่อระหว่างกระจกกับอลูมิเนียม โดยเฉพาะอาคารสูง ที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีความยืนหยุ่น ทนต่อสภาพอากาศและรังสียูวีได้ดี

นอกจากจะทำให้ตัวอาคารไม่มีการรั่วซึมของอากาศ ยังทำให้มีการใช้พลังงานในควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารน้อยลง และช่วยในการประหยัดต้นทุน ซึ่งผลิตภัณฑ์กลุ่มซิลิโคน Dowsil™ ก็ได้มีการทดสอบมาแล้วว่าสามารถคงทนถาวรได้ยาวนานกว่า 50 ปี รวมถึงกว่า 70% ของตึกที่สูงที่สุดในโลก ณ ปัจจุบันก็ได้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์เรา

นอกจากนี้ ทางบริษัทได้มีการพัฒนา ผลิตภัณฑ์ Bio-Based ที่ใช้เป็น Binder สำหรับสีทาบ้าน ทำให้ได้สีที่มีสารอินทรีย์ระเหยต่ำ (LOW VOC) และ ค่าฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) ต่ำ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ได้มาจากการนำวัสดุดิบที่หมุนเวียนไม่ว่าจะเป็นอ้อย หรือ ข้าวโพด มาใช้ และยังได้รับการรับรองจาก USDA (U.S. Department of Agriculture)

และล่าสุดในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน Dow ได้มีการร่วมกับประเทศสิงคโปร์ นำวัสดุใช้แล้ว เช่น พื้นรองเท้าเก่ามาบดทำพื้นสนามกีฬา โดยใช้ร่วมกับนวัตกรรมสารเคลือบผิว ECOGROUND™ ซึ่งได้รับความนิยมในหลายประเทศ เนื่องจากเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดกลิ่นสารระเหยเพราะใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย ปัจจุบันมีการสร้างสนามกีฬา ลู่วิ่ง และทางจักรยานรวมแล้วกว่า 180,000 ตารางเมตรทั่วประเทศสิงคโปร์ด้วยนวัตกรรมนี้ และอยู่ระหว่างการสร้างทางจักรยานใหม่ความยาว 30 กิโลเมตร

“เวลาพูดถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ Sustainability หลายคนอาจมองว่านี่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่ความเป็นจริงการใช้ผลิตภัณฑ์ผิดประเภท น่าจะเป็นส่วนที่ทำให้ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากว่า เช่น เกิดการรั่ว ซึม ร้าว ทำให้ต้องมีการซ่อมบำรุง หรือ ใช้พลังงานมากขึ้นในการควบคุมอุณหภูมิ ดังนั้นการตอบโจทย์ในเรื่องของ Sustainability ยังคงต้องมองถึงการทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่ได้นาน มีการเสื่อมสภาพช้าเพื่อให้ลดค่าใช้จ่ายในการทำนุบำรุง”

รัฐเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า Dow ในฐานะผู้ผลิตสารเคมีและวัสดุดิบ (Raw material) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง เป็นจิกซอว์ตัวหนึ่งที่เริ่มมีการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ทั้งขั้นตอนการผลิตที่มุ่งมั่นจะใช้พลังงานให้น้อยและเน้นใช้พลังงานหมุนเวียน รวมไปถึงตัวสินค้าที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อให้ผู้ใช้งานมั่นใจในการใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา

ทั้งนี้ ความยั่งยืนยังต้องครอบคลุมไปถึง “Lifecycle” ของอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ซึ่งเริ่มตั้งแต่ วัตถุดิบ ที่ผู้ผลิตนำมาใช้ จากนั้นเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ การขนส่งสินค้าให้กับลูกค้า การติดตั้ง การออกแบบอาคารเพื่อให้อาคารมีการใช้พลังงานให้น้อยและลดของเสียที่เกิดขึ้น แล้วยังรวมไปถึงการนำของเสียหรือชิ้นส่วนต่างที่อยู่ในอาคาร มารีไซเคิลได้ นี่เป็นเรื่องของ Building lifetime ที่ต้องมองให้ครบวงจร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง 

ซึ่งสิ่งนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิตวัสดุในการก่อสร้าง Developer สถาปนิก รวมถึง ผู้รับเหมา และผู้ใช้งาน

“เป้าหมายต่อไปกลุ่มธุรกิจ “Dow Building & Infrastructure” ยังคงสอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ของ Dow ในเรื่องของ Sustainability จากที่เราเคยทำธุรกิจเฉพาะกับคู่ค้า มาเป็นการมุ่งเน้นที่จะให้ข้อมูล ความรู้ แก่ผู้ใช้งานและผู้ที่เกี่ยวข้องกับในทุก value chain เพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของ Dow ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ให้มากยิ่งขึ้น” รัฐเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย