ป่วย “โควิด” จะไม่ใช่ “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” เตรียมปรับสู่ “โรคประจำถิ่น” จะมีอะไรเปลี่ยนบ้าง

ป่วย “โควิด” จะไม่ใช่ “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” เตรียมปรับสู่ “โรคประจำถิ่น” จะมีอะไรเปลี่ยนบ้าง

อัปเดต การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เกี่ยวกับ "โควิด-19“ คนไทยจะต้องใช้ชีวิตแบบไหนบนความเปลี่ยนแปลง ทั้งยกเลิกผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน (UCEP COVID-19) โรคระบาดที่จะกลายเป็น "โรคประจำถิ่น" ส่งผลต่อการปรับเกณฑ์การเบิกหลายรายการ รวมถึงหลักเกณฑ์เคลมประกันที่จะไม่เหมือนเดิม

คนไทยต้องรู้! การอยู่กับ "โควิด-19" ของไทยจะเปลี่ยนไป หลังรัฐประกาศ อัปเดตการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกันกลุ่มธุรกิจประกันก็มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการเคลมประกันที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย 

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" สรุป 3 เรื่องเกี่ยวกับการรับมือกับโควิดของไทยที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้ที่คนไทยต้องรู้ ดังนี้


 1. ยกเลิกผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน (UCEP COVID-19) 

หลังการประชุม ศบค. ในวันที่ 11 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวว่า เตรียมจะออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ยกเลิกการกำหนดให้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 รวมถึงกำหนดค่าตรวจหาเชื้อที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะจ่ายชดเชยให้สถานพยาบาล โดยหากใช้วิธี RT-PCR จะอยู่ที่ 900 บาท และ 1,100 บาท ขึ้นกับวิธีการตรวจ นอกจากนี้ยังปรับค่าตรวจ ATK 2 ชนิด 250-350 บาท และปรับค่าใช้จ่าย hospitel 1,000 บาท/วัน รวมถึงเกณฑ์ต่างๆ ดังนี้

- รัฐดูแลตามสิทธิของแต่ละคน เริ่ม 1 มี.ค. 65 (อยู่ระหว่างการหารือ อาจเลื่อนเป็น 1 เม.ย. 65)

- บริการนอกเหนือจากสิทธิ หรือ รพ.เอกชนจ่ายเอง เช่น มีสิทธิบัตรทอง รักษาโรงพยาบาลเอกชน เป็นต้น

- เร่งฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์

- เข้มมาตรการ ใช้หลัก Covid Free Setting

อย่างไรก็ตาม แม้โควิด-19 จะไม่ได้จัดเป็นโรคผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินโควิด-19 แล้ว แต่หากมีอาการป่วยเข้าเกณฑ์วิกฤติฉุกเฉิน 6 อาการ ตามที่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กำหนดไว้เดิมอยู่แล้ว ก็จะสามารถรับบริการที่ใดก็ได้ใกล้บ้านที่สุดตามเดิม ไม่ได้มีการยกเลิกหลักเกณฑ์นี้แต่อย่างใด โดยอาการป่วยเข้าเกณฑ์วิกฤติฉุกเฉิน 6 อาการ ได้แก่

1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง
3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
6. อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่าย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 

ป่วย “โควิด” จะไม่ใช่ “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” เตรียมปรับสู่ “โรคประจำถิ่น” จะมีอะไรเปลี่ยนบ้าง

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า “ไม่ได้เป็นการยกเลิก UCEP เป็นอันขาด เพราะถ้ามีอาการฉุกเฉินตามที่กำหนดไว้ เช่น หายใจไม่ได้  เหนื่อยหอบ ไอรุนแรงที่มีการกำหนดไว้ ยังเข้ารับการรักษาที่ไหนก็ได้เหมือนเดิม ให้การดูแลเหมือนเดิม และได้มีการกำหนดเป็น UCEP พลัสในการดูแลด้วย ส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือสีเขียวก็เป็นการรักษาแบบ Home Isolation” 

 2. เตรียมปลด "โควิด-19" จากโรคระบาด เป็น "โรคประจำถิ่น" 

ไทยเตรียมปลดโควิด-19 จากโรคระบาด ให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น คล้ายๆ กับโรคที่เคยเป็นโรคอุบัติใหม่ในอดีต ที่กลายมาเป็นโรคประจำถิ่นในปัจจุบัน คือ โรคไข้เลือดออก เป็นโรคอุบัติใหม่ เมื่อปี 2500 และกลายเป็นโรคประจำถิ่นตามนิยามทางระบาดวิทยา และเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามนิยามของกฎหมาย

หรือแม้แต่โรคเอดส์ ที่เป็นโรคอุบัติใหม่เมื่อปี 2527 และมีการระบาดทั่วโลก เมื่อเวลาผ่านไป ที่ทำให้กลายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน 

ทั้งนี้ โควิด-19 จะถูกปรับจาก "โรคระบาด" มาเป็น "โรคประจำถิ่นของไทย" เมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

- ผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 10,000 ราย/วัน

- อัตราป่วยเสียชีวิต ไม่เกิน 1:1,000 คน

- กลุ่มเสี่ยงสูงรับเข็ม 2 ได้ 80%

- การรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพ

 

 3. "ประกันโควิด" เคลมได้เมื่อเข้าเงื่อนไขเท่านั้น 

สมาคมประกันชีวิตไทย แจงข้อปฏิบัติ "เคลมประกันโควิด-19" สำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด-19 ของบริษัทประกันชีวิต จะปรับการเคลมประกันโควิดใหม่ที่จะจ่ายชดเชยตามเกณฑ์ผู้ป่วยใน แต่ไม่จ่ายชดเชยสำหรับ Home Isolation ซึ่งจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ สธ. "ข้อใดข้อหนึ่ง" ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 65 ดังต่อไปนี้

- เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง

- หายใจเร็วกว่า 25 ครั้ง/นาทีในผู้ใหญ่

- Oxygen Saturation น้อยกว่า 94%

- โรคประจำตัวที่ต้องติดตามอาการใกล้ชิด ตามดุลยพินิจของแพทย์

- สำหรับเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง

ป่วย “โควิด” จะไม่ใช่ “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” เตรียมปรับสู่ “โรคประจำถิ่น” จะมีอะไรเปลี่ยนบ้าง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

---------------------

ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข