ไทยเตรียมบริจาค"วัคซีนโควิด"ให้"โคแวกซ์"ไปยัง6ประเทศ

ไทยเตรียมบริจาค"วัคซีนโควิด"ให้"โคแวกซ์"ไปยัง6ประเทศ

ไทยเตรียมบริจาควัคซีนโควิด แอสตราเซนเนก้าผ่าน "โคแวกซ์" ให้ 6 ประเทศ เมียนมา ลาว เวียดนาม เนปาล เคนยา และเอธิโอเปีย ขณะที่เปิดเรียนOn site 52 % เร่งวัคซีนเข็ม2-3ให้ครู

เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า ศบค.ชุดใหญ่ประชุมหารือเรื่องการพิจารณาแผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด19 ที่สำคัญคือการให้วัคซีนเด็ก ซึ่งกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี มีการติดเชื้อตั้งแต่ปี 63-65 ตัวเลขค่อยๆ สูงขึ้น ตอนนี้วัคซีนมาแล้ว และมีเด็กป่วย จึงต้องการรับวัคซีนสูงขึ้น โดยให้วัคซีนอายุ 5-11 ปีกลุ่มแรก คือ กลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. และวันที่ 7 ก.พ.เริ่มให้ผ่านระบบสถานศึกษา ทั้งนี้ ผู้ปกครองบางส่วนไม่สบายใจการรับวัคซีนกลุ่ม mRNA แต่ขอรับวัคซีนเชื้อตาย ที่ประชุมจึงเห็นชอบสูตรซิโนแวคเข็มแรกและเข็มสอง อายุ 6-17 ปี รวมถึงสูตรไขว้ซิโนแวค-ไฟเซอร์ฝาส้ม ในเด็กอายุ 6-11 ปี และซิโนแวค - ไฟเซอร์ฝาม่วง อายุ 12-17 ปี ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้ฉีดวัคซีนหลากหลายสูตร

ส่วนประชาชนทั่วไปการกระตุ้นเข็ม 2 และ 3 ถือว่าสำคัญ มีหลากหลายสูตร ดังนี้ 1.ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม 2 เข็ม เว้น 4 สัปดาห์กระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 2.ซิโนแวค/ซิโนฟาร์มตามด้วยแอสตร้าฯ ให้เว้น 3 เดือนมากระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ 3.ซิโนแวค/ซิโนฟาร์มตามด้วยไฟเซอร์ เว้น 3 เดือน กระตุ้นด้วยไฟเซอร์ 4.แอสตร้าฯ 2 เข็ม เว้น 3 เดือนกระตุ้นด้วยไฟเซอร์ 5.ไฟเซอร์ 2 เข็ม เว้น 6 เดือนกระตุ้นด้วยไฟเซอร์ 6.แอสตร้าฯ ตามด้วยไฟเซอร์ เว้น 6 เดือน กระตุ้นด้วยไฟเซอร์ และ 7.ที่เพิ่มเติมคือ แอสตร้าฯ 2 เข็ม เว้น 3-6 เดือนมาฉีดด้วยแอสตร้าฯ ได้ เพื่อเป็นทางเลือก ซึ่งจะได้ภูมิสูงขึ้น แต่สูตรแอสตร้าฯ 3 เข็ม ภูมิจะไม่สูงเท่าแอสตร้าฯ 2 เข็มตามด้วยไฟเซอร์ แต่สามารถเลือกได้กรณีไม่ต้องการฉีด mRNA 

สำหรับเข็ม 4 นั้น หากรับซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม 2 เข็ม ตามด้วยแอสตร้าฯ ให้เว้น 3 เดือน กระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ ส่วนซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม 2 เข็ม ตามด้วยไฟเซอร์ ให้เว้น 3 เดือนมากระตุ้นด้วยไฟเซอร์ โดยยังเน้นฉีดในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่ม 608 เจ้าหน้าที่ด่านหน้าทั่วประเทศ และประชาชนใน 10 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว

ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนการรับบริจาควัคซีน การส่งวัคซีนแลกเปลี่ยนคืนให้ต่างประเทศ และแผนการบริจาควัคซีนให้แก่ต่างประเทศ โดยช่วงมีนาคมจะมีการบริจาควัคซีนไฟเซอร์จากฝรั่งเศส 400,140 โดส ส่วนการให้คืน สิงคโปร์เป็นแอสตร้าฯ 122,400 โดส รอวันกำหนดขนส่ง และภูฏานอยู่ระหว่างดำเนินการ

ส่วน การบริจาควัคซีนโควิด19ของประเทศไทยให้ประเทศต่างๆ นอกจากเพื่อมนุษยธรรม ก็คือการให้กลุ่มประเทศแอฟริกาที่ติดเชื้อมาด และไม่มีกำลังซื้อเพียงพอ ซึ่งไทยได้ประสานไปยังองค์การอนามัยโลก( WHO) เพื่อแจ้งความประสงค์บริจาคผ่านโครงการโคแวกซ์ ซึ่ง WHO ก็รับรองและบอกให้ประเทศไทยส่งวัคซีนบริจาคไปให้ประเทศนั้นๆ โดยตรง ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการ คือ วัคซีนแอสตร้าฯ 5 แสน - 1 ล้านโดสให้แก่เมียนมา แอสตร้าฯ 3 แสนโดสให้แก่ลาว แอสตร้าฯ 3 แสนโดสให้แก่เวียดนาม แอสตร้าฯ 4 แสนโดสให้แก่เนปาล แอสตร้าฯ 5.5 แสนโดสมห้แก่เคนยา และแอสตร้าฯ 1 ล้านโดสให้แก่เอธิโอเปีย

เปิดเรียนOn site 52 %
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) การเปิดการเรียนการสอน ภายใต้สถานการณ์โควิด ซึ่ง ต้องการให้เรียนภายใต้ออนไซต์มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาจากโรงเรียนราว 35,554 แห่ง สามารถจัดการเรียนการสอนแบบออนไซต์(On site)ประมาณ 52.26% หรือ 18,582 แห่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่พึงประสงค์ แต่ยังมีออนแฮนด์ ออนดีมานด์ ออนไลน์ ออนแอร์ที่เกิดขึ้น ก็เป็นประเด็นที่จะต้องพยายามสนับสนุน

สิ่งที่สนับสนุนให้เกิดออนไซต์มากที่สุด คือ การผ่านการประเมิน Thai Stop COVID+ โดยข้อกำหนดคือ ครูบุคลากรรับวัคซีนมากกว่า 85% จัดห้องเรียนเว้นระยะห่าง 1.5 เมตร เรียนไม่เกิน 25 คนต่อห้อง ซึ่งหากยืดหยุ่นได้ในเชิงการควบคุมป้องกันโรค แต่จะเน้นเรื่องวัคซีน ซึ่งครู บุคลากรทางการศึกษาฉีดเข็ม1แล้ว 99.99% หรือ 1,027,266 ราย แต่เข็ม2 อยู่ที่ 79.45% ซึ่งการป้องกันการติดเชื้อเข็มหนึ่งไม่พอ เข็ม2บางทียังไม่พอ ต้องไปเข็ม3 ที่ประชุมรับทราบว่าต้องสนับสนุนให้มีการฉีดถึง 2 เข็ม และ 3 เข็มให้ได้ ส่วนนักเรียน 95.11% ฉีดเข็มแรก ส่วนเข็ม2 อยู่ที่ 71.41%

ส่วน 10 จังหวัดที่ติดเชื้อของเด็กอายุ 0-19 ปีสูง คือ กทม. สมุทรปราการ ภูเก็ต นนทบุรี ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี และสุพรรณบุรี ซึ่งหลายจังหวัดติดอยู่ในท็อปเทนระดับประเทศด้วย ก็ขอให้รายจังหวัดไปดำเนินการด้วย