"ภาวะมีบุตรยาก" วาระสำคัญของชาติ กระทบโครงสร้างประชากร

"ภาวะมีบุตรยาก" วาระสำคัญของชาติ กระทบโครงสร้างประชากร

"ภาวะมีบุตรยาก" เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องจัดเป็นวาระสำคัญของชาติ เพราะกระทบกับโครงสร้างประชากรของประเทศ จากการก้าวสู่สังคมสูงวัย และเด็กเกิดใหม่ลดลง ซึ่งขณะนี้ ภาครัฐ ถือว่าภาวะมีบุตรยากเป็นโรคและพัฒนาบริการ เพิ่มการเข้าถึง ลดความเหลื่อมล้ำ

ประเทศไทย ผู้สูงอายุ มี 12 ล้านคน หรือ 1 ใน 5 ของประชากรไทยเป็นผู้สูงอายุ ขณะที่เด็กไทยเกิดใหม่น้อยลงจากเดิมปีละราว 8 แสนคน ลดลงอยู่ระหว่าง 5.6-5.8 แสนคนต่อปี อัตราการเจริญพันธุ์ รวมหรือจำนวนบุตรเกิดรอดโดยเฉลี่ยต่อสตรีในวัยเจริญพันธุ์ เพียง 1.24 ทั้งที่อัตราเจริญพันธุ์รวมควรอยู่ที่ 1.6 คาดการณ์ว่า อีก 10 – 20 ปี วัยทำงานจะน้อยลงมาก ประชากรของประเทศอาจจะลดลงครึ่งหนึ่ง 

 

“เด็กเกิดใหม่น้อย” เป็นเรื่องใหญ่เร่งด่วนที่รัฐบาลต้องจัดเป็นวาระสำคัญของชาติ เพราะกระทบกับโครงสร้างประชากรของประเทศ ที่ต้องเริ่มดำเนินไปพร้อมกันไปหลายมิติ ทั้งมาตรการทางสังคม มาตรการทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง ซึ่งระยะแรกเร่งด่วนที่สุด ที่ต้องดำเนินการนี้ต้องชะลออัตราการเกิดที่น้อยให้ได้ก่อน

 

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาเด็กเกิดน้อยว่าจากการหารือร่วมกันของคณะกรรมการพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. เห็นตรงกันว่า เนื่องจากสภาพสังคมไทยมีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นชายแต่งกับชาย หญิงแต่งกับหญิง รวมถึงมีคนที่แปลงเพศแล้วอยากมีลูก

 

ขณะเดียวกันผู้หญิงอยากมีลูก แต่ไม่อยากมีสามี ส่วนผู้ชายบางคนก็อยากมีลูก แต่ไม่อยากมีภรรยา ซึ่งเป็นเรื่องทางสังคมที่มีแง่มุมทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง  ซึ่งจากการสำรวจ พบว่า คนอยากมีลูก แต่อยากให้มีการสนับสนุนทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมด้วย มีสถานรับเลี้ยงเด็กอายุน้อยกว่า 3 ขวบ รวมถึงเข้าถึงบริการให้คำปรึกษา รักษาภาวะมีบุตรยาก

“ตอนนี้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 หรือกฎหมายอุ้มบุญว่าจะมีแนวทางเพื่อช่วยคนกลุ่มเหล่านี้ที่อยากมีลูกได้อย่างไร แต่ก็ต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดเพื่อคุ้มครองเด็ก เพราะต้องยอมรับว่ามีคนที่คิดไม่ดี นำเด็กไปดูแลไม่ดี หรือไปมีความเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ ที่สำคัญต้องปรับแนวคิดที่ว่าครอบครัว ไม่ใช่เรื่องของผู้ชาย กับผู้หญิงเท่านั้น” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

 

  • บริการรักษา ภาวะมีบุตรยาก

 

ล่าสุด มีการการเสนอในที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 2 ก.พ.เกี่ยวกับความพร้อมการจัดบริการการรักษาภาวะมีบุตรยาก และส่งเสริมให้ถูกกลุ่ม ถูกคน โดยจัดระบบ ดังนี้ ระดับ รพ.สต.ให้คำปรึกษาได้ ระดับรพ.ชุมชน ต้องสามารถตรวจสุขภาพ คัดกรองเบื้องต้นได้ และระดับ รพ.จังหวัด ที่มีสูตินรีแพทย์ทำหัตถการณ์ฉีดน้ำเชื้อต่างๆ

 

ส่วนการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น การทำกิฟต์ IVF เป็นต้น ให้ดำเนินการในระดับเขตสุขภาพ โดยใช้การส่งต่อ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้การเข้าถึงการรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นความเหลื่อมล้ำ คนรวยเท่านั้นถึงจะเข้าถึง

 

สำหรับค่าใช้จ่ายตามมติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) วันที่ 1 พ.ย. 2564 ระบุว่า บริการให้คำปรึกษาการรักษาเบื้องต้น การตรวจโรคที่เป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก และรักษา รวมถึงการฉีดน้ำเชื้ออยู่ในชุดสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่เคยจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบ

ส่วนเรื่องการใช้เทคโนโลยีช่วยได้มีการหารือร่วมระหว่างราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง สปสช. พิจารณาและเห็นพ้องต้องกันในการให้สิทธิ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาต้นทุนหลายมิติ และประเมินความคุ้มค่า เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ต่อไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในช่วงต้นอาจจะจัดเป็นระบบส่งต่อ

 

"จากข้อมูลพบว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่พร้อมจะมีลูก แต่มีความยากลำบากที่จะมีได้ โดยกว่า 80 % สามารถแก้ไขได้ในระดับของการให้คำปรึกษา วางแผน การนับช่วงเวลาตกไข่ การให้ยากระตุ้นการตกไข่ และการฉีดน้ำเชื้อ ส่วนอีก 20% ยังต้องมีการประเมินเป็นรายๆ เพื่อเข้ารับการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

 

  • สถานพยาบาลมีเทคโนโลยี 104 แห่ง

 

ปัจจุบัน มีสถานพยาบาลที่สามารถใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยเพียง 104 แห่งทั่วประเทศเท่านั้น ในจำนวนนี้อยู่ในกทม. 71 แห่ง ภูมิภาค 33 แห่ง ในจำนวน 104 แห่งพบว่าเป็นสถานพยาบาลของรัฐเพียง 15 แห่ง หรือ 14.5% เท่านั้น

 

ที่เหลือเป็นสถานพยาบาลเอกชนทั้งระดับรพ. และระดับคลินิก ทำให้คนที่พร้อมมีลูกแต่เข้าไม่ถึงบริการ จึงเสนอที่ประชุมที่กระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบ ในการจัดเตรียมความพร้อมบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก เตรียมกรอบอัตรากำลังคนเพิ่มเติมในสถานพยาบาลของรัฐ

 

ภาวะมีบุตรยากเป็นโรค สิทธิด้านการอนามัยเจริญพันธุ์เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ICPD(International Conference on Population and Development) การรักษา จึงเป็นการคืนสิทธิการเข้าถึงบริการการตั้งครรภ์คุณภาพ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และองค์การอนามัยโลกบัญญัติว่าเป็นโรค และความพิการชนิดหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต ถึงจะสามารถลงรหัสโรคได้ ไม่อย่างนั้นก็จะมีผลทำให้ไม่สามารถเบิกค่ารักษาส่วนนี้ได้ ตอนนี้จึงต้องลงว่าเป็นโรคก่อน แล้วไปตกลงกับ 3 กองทุน เรื่องการเบิกจ่าย” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

 

  • กิ๊ฟท์-IVF (เด็กหลอดแก้ว)

 

การทำกิ๊ฟท์ Gamete Intrafallopian Transfer (GIFT) การทำ gift คือ การนำเอาไข่และตัวอสุจิไปใส่ไว้ที่ท่อนำไข่เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิหรือรวมตัวกันตามธรรมชาติ หลังจากนั้นหากไข่และอสุจิสามารถปฏิสนธิกันได้ก็จะมีการเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนและเดินทางมาฝังตัวในโพรงมดลูก และเกิดเป็นการตั้งครรภ์ในที่สุด ดังนั้น การทำกิ๊ฟท์ GIFT จึงเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก

 

ส่วน IVF ย่อมาจากคำเรียกเต็มว่า “In vitro fertilization” เป็นการผสมเทียมเพื่อช่วยให้ผู้ที่มีลูกยากสามารถตั้งครรภ์ได้ ในไทยอาจคุ้นเคยกับคำว่า “เด็กหลอดแก้ว”

 

กระบวนการทำ IVF คือ การนำไข่ที่สุกเต็มที่ออกมาจากรังไข่ผู้หญิง และนำเชื้ออสุจิจากผู้ชายมาผสมกันบนจานแก้ว หรือหลอดทดลองในห้องปฎิบัติการเมื่อไข่และอสุจิเกิดการปฎิสนธิขึ้นจนเกิดเป็นตัวอ่อน (Embryo) จึงส่งกลับเข้าไปไว้ในมดลูกเพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวบนผนังมดลูกและเติบโตตามปกติเหมือนการตั้งครรภ์ด้วยการมีเพศสัมพันธ์

 

หลายคนจึงคุ้นเคยกับคำว่า “เด็กหลอดแก้ว” อัตราการสำเร็จของการทำ IVF อยู่ที่ประมาณ 41-43% ในผู้ที่อายุน้อยกว่า 35 แต่ในผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป จะเหลือเพียง13-18% IVF อาจเหมาะกับคนที่มีลูกยากเพราะอสุจิไม่สามารถผสมกับไข่ได้ เช่น ท่อนำรังไข่อุดตัน ผู้ที่อสุจิไม่แข็งแรง ผู้ที่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

 

  • อัตราการเกิดของคนไทย 5 ปี

 

ข้อมูลจาก กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับอัตราการเกิดของคนไทยในช่วง 5 ปีหลังสุด (ปี 2560-2564) พบว่า จำนวนเด็กแรกเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวเลขสถิติ ดังต่อไปนี้

 

ปี 2564 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 544,570 คน ลดลง 7.28% จากปีก่อนหน้า

ปี 2563 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 587,368 คน ลดลง 4.98% จากปีก่อนหน้า

ปี 2562 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 618,193 คน ลดลง 7.22% จากปีก่อนหน้า

ปี 2561 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 666,357 คน ลดลง 5.17% จากปีก่อนหน้า

ปี 2560 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 702,755 คน ลดลง 0.18% จากปีก่อนหน้า

 

"ภาวะมีบุตรยาก" วาระสำคัญของชาติ กระทบโครงสร้างประชากร