ชวนรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูก ผ่าน 4 ท่าเต้นบน TikTok #หยุดเชื้อHPV

ชวนรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูก ผ่าน 4 ท่าเต้นบน TikTok #หยุดเชื้อHPV

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ชวนรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูกในแคมเปญ รักครั้งนี้!! อย่าปล่อยให้ไวรัส “เอชพีวี” ลอยนวล ผ่าน 4 ท่าเต้นบนแพลตฟอร์ม TikTok ส่งต่อเรื่องราวและร่วมแสดงพลัง #หยุดเชื้อHPV

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย บูรณาการความร่วมมือจัดกิจกรรม รณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูกภายใต้โครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ รักครั้งนี้!! อย่าปล่อยให้ไวรัส “เอชพีวี” ลอยนวล ในรูปแบบกิจกรรมเสมือนจริงให้ประชาชนได้ร่วมกิจกรรมรณรงค์ผ่านทางช่อง Youtube CHULABHORN Channel และ Facebook โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ศ.นพ. วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์มะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยและนโยบายการป้องกันและควบคุมว่า มะเร็งปากมดลูกเดิมเคยเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เนื่องจากในอดีตเคยเป็นมะเร็งอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย แต่ปัจจุบันก็ลดลงมาเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม

โดยในปี 2563 มีผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ประมาณ 9,000 ราย ในจำนวนนี้มียอดการเสียชีวิตถึงร้อยละ 50 ณ ปัจจุบัน แนวโน้มการพบตัวเลขผู้ป่วยมากขึ้น เนื่องจากการเข้าถึงระบบคัดกรองที่เพิ่มมากขึ้นแต่สัดส่วนจำนวนความรุนแรงและผู้เสียชีวิตลดลง

ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลและเผยแพร่ความรู้ทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาทั่วประเทศ จึงได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพ เสริมสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนทั่วไป พร้อมทั้งผลักดันในเชิงนโยบายของประเทศในการหาแนวทางป้องกันและการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกมาอย่างต่อเนื่อง

 

  • สาเหตุมะเร็งปากมดลูกเกิดจากติดเชื้อเอชพีวี

รวมถึงความร่วมมือร่วมกับทางกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาระบบบริการในการป้องกันและคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแก่ประชาชนในทุกมิติ และสนับสนุนให้มีการผลิตและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ด้านมะเร็งนรีเวช รวมถึงสูตินรีแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยที่มีผลการคัดกรองพบว่าผิดปกติ

โดยเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกเกือบทั้งหมดเกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี เชื้อเอชพีวีเป็นไวรัสที่ติดต่อผ่านทางการสัมผัส หรือการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งมีอยู่ร้อยกว่าสายพันธุ์ แต่ชนิดที่เสี่ยงจะทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกบ่อยๆ มีประมาณ 15 สายพันธุ์ โดยผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก 100 ราย จะตรวจพบเชื้อ HPV เกือบทุกราย (ร้อยละ 99) ซึ่งแปลว่า ถ้ากำจัดเชื้อ HPV ได้ ก็เท่ากับว่ากำจัดมะเร็งปากมดลูกได้

  • แนวทางป้องกันขจัดมะเร็งปากมดลูก

 ดังนั้น แนวทางการป้องกันเพื่อขจัดมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย ได้แก่

1. การรณรงค์หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ เช่น การมีคู่นอนคนเดียวเพื่อลดโอกาสรับเชื้อ HPV

2. การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีโดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุประมาณร้อยละ 70 ของมะเร็งปากมดลูก ซึ่ง 2 สายพันธุ์นี้ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันที่ได้ผลเกือบ 100% แล้ว แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่อาจจะติดไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์อื่นๆ อยู่ ดังนั้น แม้จะได้รับวัคซีนแล้ว ก็ยังมีความจำเป็นต้องตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ

3. การจัดระบบการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างเป็นระบบ โดยประเทศไทยได้ดำเนินโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเอชพีวี ดีเอ็นเอ (HPV DNA test) มาแทนการตรวจด้วยแปปสเมียร์ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป

 

  • ป้องกันติดเชื้อเอชพีวี ป้องกันมะเร็งปากมดลูก

วิธีนี้มีความไวในการตรวจหาเซลล์ผิดปกติสูงมาก ประกอบกับผลการศึกษาการประเมิน ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ระบุว่า เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสท์ เป็นวิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูกที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ทำให้สามารถตรวจพบ ผู้ป่วยในระยะแรกเริ่มเพิ่มขึ้นและเข้าสู่การรักษาได้โดยเร็วก่อนลุกลาม ช่วยให้อุบัติการณ์และการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกลดลง

รูปแบบของบริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเอชพีวี ดีเอ็นเอจะเป็นวิธีคัดกรองมะเร็งปากมดลูกลำดับแรกในกลุ่มสตรีอายุ 30-60 ปี กรณีที่ผลการตรวจไม่พบเชื้อจะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองทุก 5 ปี และในกรณีที่ตรวจพบเชื้อจะทำการตรวจยืนยันซ้ำและเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป

รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ได้กล่าวถึงโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูกที่ในปีนี้ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ผ่านทางออนไลน์ว่า เดือนมกราคมซึ่งถือเป็นเดือนรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูกสากล เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ และสานต่อนโยบายระดับชาติเพื่อรณรงค์สร้างเสริมสุขภาพให้ประชาชนไทยได้ตระหนักรู้ถึงการป้องกันตนเอง โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวีในวงกว้าง

เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกให้กับสตรีไทย การประชาสัมพันธ์จะเน้นให้ความสำคัญถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวี เนื่องจากโรคมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อ HPV ซึ่งเชื้อไวรัสตัวนี้ปัจจุบันเราป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนซึ่งเราได้รณรงค์สร้างการตระหนักรู้มาอย่างต่อเนื่อง

  • ผู้หญิง-ผู้ชายควรฉีดวัคซีนป้องกันเอชพีวี

อย่างไรก็ตาม เรื่องเอชพีวีไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะของสาวๆเท่านั้น ในปีนี้เราเล็งเห็นว่ากลุ่มเป้าหมายที่สำคัญอีกกลุ่มที่จะช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อเอชพีวี คือผู้ชาย เพราะการมีเพศสัมพันธ์คือสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อ HPV ทั้งทางอวัยวะเพศ ทางปาก และทางทวารหนัก

จึงเป็นที่มาในสารรณรงค์ของแคมเปญในปีนี้ที่ว่า รักครั้งนี้!! อย่าปล่อยให้ไวรัส “เอชพีวี” ลอยนวล โดยรณรงค์เชิญชวนประชาชนทุกเพศทุกวัยสามารถมาร่วมหยุดเชื้อ HPV ด้วยการตรวจและฉีดวัคซีนเอชพีวี นั่นคือ ผู้หญิงเมื่อถึงวัยตามเกณฑ์คืออายุ 30 ปี หรือเคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาแล้วแนะนำให้เข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเอชพีวี ดีเอ็นเอ

หากทราบว่าติดเชื้อก็จะสามารถรักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่เชื้อจะพัฒนากลายไปเป็นมะเร็งปากมดลูกในอนาคต ซึ่งวัคซีนเอชพีวีเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบเป็นต้นไป และผู้ชายก็สามารถเข้ารับวัคซีนตัวนี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีได้เช่นกัน

  • ป้องกันเชื้อเอชพีวีได้เร็ว โอกาสหายสูงร้อยละ 98

ด้าน ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ หัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวีว่า HPV หรือ Human Papilloma Virus เป็นไวรัสที่ก่อโรคบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก รวมถึงมะเร็งช่องปากและลำคอ และหูดหงอนไก่ สำหรับโรคมะเร็งปากมดลูกจะไม่แสดงอาการจนกว่าโรคจะพัฒนาจนร้ายแรง แต่หากเราตรวจพบและป้องกันเชื้อเอชพีวีได้เร็วก่อนที่จะพัฒนารอยโรคไปเป็นมะเร็งปากมดลูก ก็จะมีโอกาสรักษาหายสูงถึงร้อยละ 98 ซึ่งเชื้อเอชพีวีที่ก่อโรคมีประมาณ 40 สายพันธุ์ แต่มีเพียงไม่กี่สายพันธุ์ที่ก่อโรคบ่อย

การติดเชื้อ HPV ที่พบบ่อย คือ การสัมผัสทางผิวหนัง เพราะฉะนั้น เพศสัมพันธ์จึงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ติดเชื้อ HPV บริเวณปากมดลูก และอวัยวะเพศส่วนอื่นๆ เช่น ทวารหนัก รวมถึงช่องปากและลำคอ การติดเชื้อ HPV เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย ซึ่ง 80% ของผู้หญิงเคยมีเชื้อ หรือกำลังมีเชื้อ HPV อยู่ในร่างกายโดยไม่รู้ตัว ถ้าร่างกายแข็งแรงเชื้อ HPV จะถูกกำจัดออกไปได้เอง แต่ถ้าร่างกายอ่อนแอการติดเชื้อดังกล่าวอาจพัฒนากลายไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ และการติดเชื้อเอชพีวีเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้มากที่สุดถึง 70% และมีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อ HPV ถึง 35 เท่า และส่วนใหญ่เชื้อไวรัส HPV เป็นเชื้อที่ผู้ชายจะเป็นตัวพาหะนำพาเชื้อนี้เข้าสู่ผู้หญิง

เนื่องจากโรคมะเร็งปากมดลูก มีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อเอชพีวี ทั้งนี้ ได้มีการรณรงค์สร้างการตระหนักรู้มาอย่างต่อเนื่องทุกปี และในปีนี้ได้เพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญอีกกลุ่มที่จะช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อเอชพีวี คือ การรณรงค์ป้องกันในกลุ่มผู้ชาย เพราะการมีเพศสัมพันธ์คือสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อ HPV

ดังนั้น การจะขจัดโรคมะเร็งปากมดลูกให้หมดไป รวมทั้งลดเสี่ยงมะเร็งอื่นๆ อาทิมะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ จึงได้ตอกย้ำสารรณรงค์ไม่ว่าคุณจะมีความรักในรูปแบบไหนทั้งผู้หญิงและผู้ชายอย่าปล่อยให้เชื้อไวรัสเอชพีวีลอยนวล ด้วยหลักการง่ายๆ 3 วิธี คือ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยง ตรวจคัดกรองเมื่อถึงเวลา และเข้ารับวัคซีนเอชพีวี

  • ร่วมรณรงค์เต้น 4 ท่าบนTikTok#หยุดเชื้อHPV

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่ผู้ชายก็ต้องฉีด เพื่อป้องกันโรคให้ตัวเอง และป้องกันการเป็นพาหะให้ผู้หญิง โดยอยากให้ทุกคนทุกเพศทุกวัยได้ออกมาร่วมแสดงพลัง #หยุดเชื้อHPVเพื่อฟินรัก ในแคมเปญนี้ด้วยกัน ซึ่งในปีนี้มีหนุ่มมิว-ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์ ศิลปินนักแสดงสุดปังตัวแทนคนรุ่นใหม่ และ ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ มาร่วมรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน

พร้อมทั้งร่วมกิจกรรม หยุดเชื้อHPVเพื่อฟินรัก กิจกรรมสุดพิเศษที่จัดขึ้นเพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับแฟนๆ ที่จองเข้ารับวัคซีนเอชพีวีในวันงานได้มาร่วมเปิดประสบการณ์แสดงพลังหยุดเชื้อ HPV และร่วมฟินกับหนุ่มมิวตัวจริง ณ ศูนย์บริการฉีดวัคซีนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

โดยแคมเปญนี้ยังขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกิจกรรมรณรงค์ HPV Challenge ด้วยการสร้าง Content วิดีโอสั้นบนแพลตฟอร์ม TikTok หรือ Instagram ด้วยท่าเต้น 4 ท่าง่ายๆ ได้แก่ 1. ท่าหัวใจ-สื่อถึงความรักในรูปแบบต่างๆ 2. ท่าปิดหน้า-สื่อถึงเชื้อเอชพีวีไม่เลือกหน้าที่ทุกคนอาจมีเชื้ออยู่โดยไม่รู้ตัว 3. ท่าฉีด-สื่อถึงการหยุดเชื้อโดยเข้ารับวัคซีนเอชพีวีเพื่อป้องกัน 4. ท่ากอด-สื่อถึงการฟินรักกันอย่างปลอดภัย

สามารถร่วมสนุกกับกิจกรรม HPV Challenge ในแคมเปญ “รักครั้งนี้อย่าปล่อยให้ไวรัสเอพีวีลอยนวล” ที่ขอชวนคุณมาร่วมเต้นรณรงค์หยุดเชื้อเอชพีวีเพื่อฟินรัก ป้องกันมะเร็งปากมดลูกเพื่อตัวคุณเองและคนที่คุณรัก พร้อมติดแฮชแทค #หยุดเชื้อHPVเพื่อฟินรัก #HPVไม่เลือกหน้า #วัคซีนHPV เพื่อส่งต่อเรื่องราวดีๆ ในการให้ความรู้เกี่ยวกับHPV ผ่านมุมมองของคุณเอง

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีบูธผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ฯ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมสานหัวใจแบ่งปันสร้างสรรค์สุขภาพดีเพื่อสังคมไทยผ่านการร่วมบริจาค และเลือกรับผลิตภัณฑ์การกุศลลาย “เสือ” รายได้สมทบกองทุนสร้างภูมิสู้ภัยโควิด-19 เพื่อนำไปจัดซื้อวัคซีน ยา และเวชภัณฑ์เพื่อผู้ด้อยโอกาสด้วย