รู้ทัน "มะเร็งลำไส้" ตรวจคัดกรองไว รักษาดีมีโอกาสหาย

รู้ทัน "มะเร็งลำไส้" ตรวจคัดกรองไว รักษาดีมีโอกาสหาย

ในปัจจุบัน เรียกว่า "โรคมะเร็ง" เป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้นๆ โดยสถิติ พบว่า มีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ 139,206 คนต่อปี และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 84,073 คนต่อปี โดยเฉพาะ "มะเร็งลำไส้" ซึ่งติด TOP 5 ของมะเร็งในคนไทย ซึ่งมักไม่มีอาการระยะเริ่มแรก

อุบัติการณ์ "โรคมะเร็ง" ซึ่งถือเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยจำนวนมาก ซึ่งล่าสุด มีรายงานข่าวว่า​ นายศุภรัตน์​ ควัฒน์กุล​ อดีตปลัดกระทรวงการคลังได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วย "โรคมะเร็งลำไส้" เมื่อเราย้อนกลับไปดู สถิติโรคมะเร็ง ของประเทศไทยพบว่า ปัจจุบัน "โรคมะเร็ง" ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นพ.สมศักดิ์ อรรมศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 เนื่องในวันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ โดยระบุสถิติ พบว่า มีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ 139,206 คนต่อปี และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 84,073 คนต่อปี

 

โดยข้อมูลจากองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งรายงานว่า อุบัติการณ์โรคมะเร็งในไทย พบโรคมะเร็งใน เพศหญิง 151 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน และพบในเพศชาย 169.3 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน

 

  • 5 อันดับ มะเร็งในคนไทย 


สำหรับ "โรคมะเร็ง" ที่พบมาก 5 อันดับแรกในคนไทย ได้แก่

 

1. มะเร็งตับและท่อน้ำดี

2. มะเร็งเต้านม

3. มะเร็งปอด

4. มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

5. มะเร็งปากมดลูก

 

มะเร็งลำไส้ พบเป็นอันดับ 3 ในผู้ชาย อันดับ 2 ในผู้หญิง

 

หากย้อนกลับไปดูข้อมูลเมื่อปี 2563 กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า  มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ ของหลายประเทศทั่วโลก ด้วยวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป แนะเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม อาหารจากน้ำมันทอดซ้ำ และเนื้อสัตว์แปรรูป

 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง ข้อมูลประมาณการณ์ ในปี 2561 จะมีผู้ป่วยใหม่ราว 13,000 ราย และเสียชีวิตประมาณ 5,000 คน

ขณะเดียวกัน หากย้อนกลับไปอีกในปี 2557 ข้อมูลสถิติโรคมะเร็งของคนไทยในปี 2557 จาก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบมะเร็งอันดับต้นๆ ในเพศชายและเพศหญิง ดังนี้ 

 

เพศชาย 

มะเร็งตับและท่อน้ำดี  79.37%

มะเร็งปอดและหลอดลม 63.73%

มะเร็งลำไส้ใหญ่ 63.73%

 

เพศหญิง

มะเร็งเต้านม 71.58%

มะเร็งปากมดลูก 63.99%

 

  • วิถีชีวิตเปลี่ยน ปัจจัยเสี่ยงก่อโรค

 

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากโดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภค เช่น

- อาหารไขมันสูง

- อาหารฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น

- การกินอาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม

- อาหารจากน้ำมันทอดซ้ำ

- เนื้อสัตว์แปรรูป

- การสูบบุหรี่

- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

- การขาดการออกกำลังกาย

- การมีภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน

- ตลอดจนการมีประวัติครอบครัวหรือตนเองเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ เป็นต้น

  • มะเร็งลำไส้ มักไม่มีอาการระยะเริ่ม

 

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เริ่มจากการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ (polyp) และพัฒนาจนเป็นมะเร็งโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงมักจะไม่มีอาการในระยะเริ่มแรกของโรค จะมีอาการก็ต่อเมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจนถึงระยะสุดท้าย ส่งผลทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

 

  • อาการของโรคที่พบบ่อย

 

- การถ่ายอุจจาระผิดปกติ

- มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย

- ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง

- ถ่ายไม่สุด

- ถ่ายเป็นมูกหรือ

- มูกปนเลือด หรืออาจถ่ายเป็นเลือดสด

- ขนาดลำอุจจาระเล็กลง

- มีอาการปวดท้อง

- แน่นท้อง ท้องอืด จุกเสียด เป็นต้น

 

  • ตรวจคัดกรองระยะเริ่มแรก

 

อย่างไรก็ตาม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็งที่สามารถตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ ส่งผลให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายจากโรคสูง ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงโดยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระปีละครั้ง

 

หากผิดปกติควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ กรณีพบติ่งเนื้อหรือความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวเพื่อวินิจฉัยต่อไป

 

  • การตรวจเพื่อการวินิจฉัย

 

ข้อมูลจาก ศ.ดร.นพ.วรุตม์ โล่ห์สิริวัฒน์ ในเว็บไซต์ โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์  อธิบายว่า การตรวจเพื่อการวินิจฉัย เริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียดโดยแพทย์ อาจรวมถึงการใช้นิ้วสอดเข้าตรวจทางทวารหนักด้วย แพทย์อาจพิจารณาทำการตรวจต่าง ๆ เพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น การส่องกล้องเข้าทางทวารหนักเพื่อตรวจและตัดชิ้นเนื้อไปตรวจสอบเซลล์มะเร็ง และอาจมีการตรวจทางรังสีวิทยาเพิ่มเติม เช่น การตรวจอัลตราซาวน์ หรือ เอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อประเมินระยะของโรคและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

 

  • การรักษา

 

สำหรับการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักนั้น ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็ง ระยะของโรค รวมถึงสภาพร่างกายและความพร้อมของผู้ป่วยขณะนั้นว่าเหมาะสมกับวิธีใดมากที่สุด โดยทั่วไปการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่วิธีที่ดีที่สุด ได้แก่

 

- การผ่าตัดเอาลำไส้ใหญ่ส่วนที่มีเนื้อร้ายออก

- สำหรับการให้ยาไปทำลายเซลล์มะเร็ง (เคมีบำบัด) และ/หรือ การฉายรังสีรักษา เป็นการรักษาเพิ่มเติมในกรณีที่มีข้อบ่งชี้

 

อาการผิดปกติของระบบชับถ่ายแม้เพียงเล็กน้อยอาจเป็นอาการเริ่มแรกของมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็เป็นได้ ดังนั้นหากท่านมีความผิดปกติดังกล่าวช้างต้นควรมาพบแพทย์ เพราะ รู้เร็ว รู้ไว รักษาได้ทันท่วงที มีโอกาสหายได้

 

  • ปรับพฤติกรรม ลดเสี่ยง 

 

จากสถิติ ในปี 2564 ที่มีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ 139,206 คนต่อปี และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 84,073 คนต่อปี นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ให้ความรู้ว่า หลายคนเห็นสถิติแล้วมีความกังวลว่าตนเองหรือครอบครัวจะโชคร้ายเป็นโรคมะเร็ง แต่ในความเป็นจริงเราสามารถปฏิบัติตนเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง รวมไปถึงการป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากการได้รับสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม

 

  • สังเกตสัญญาณเตือน โรคมะเร็ง 7 ประการ

 

ขณะเดียวกัน การหมั่นสังเกตอาการผิดปกติเรื้อรังของร่างกายจากสัญญาณเตือน 7 ประการ ได้แก่

 

1. ระบบขับถ่ายเปลี่ยนแปลง

2. เป็นแผลเรื้อรัง

3. ร่างกายมีก้อนตุ่ม

4. กลืนกินอาหารลำบาก

5. ทวารทั้งหลายมีเลือดไหล

6. ไฝหูดเปลี่ยนไป

7. ไอและเสียงแหบเรื้อรัง

 

จะช่วยให้รู้ตัวและสามารถพบแพทย์ได้เร็วส่งผลให้การรักษาได้ผลดี  นอกจากนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่ามะเร็งบางชนิดสามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ซึ่งการค้นพบโรคตั้งแต่ระยะแรกหรือระยะก่อนเป็นมะเร็งจะทำให้การรักษาได้ผลดีมีโอกาสหายจากโรคสูง