แก้วิกฤติ 'บนวิกฤติ' โจทย์ท้าทายรัฐบาล

แก้วิกฤติ 'บนวิกฤติ' โจทย์ท้าทายรัฐบาล

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากโควิด ยังคงกระทบวงกว้าง รัฐต้องจัดการให้ดี มองให้ครอบคลุมทุกมิติในการช่วยเหลือ เพื่อกระตุ้นให้เดินหน้าเศรษฐกิจได้อย่างจริงจัง นี่เป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลพึงตระหนัก

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากโรคระบาด ยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่ขวางการพลิกฟื้นประเทศ เพราะผลกระทบครั้งนี้ รุนแรง และยาวนาน กระทบวงกว้างทุกอณู เริ่มจากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รายได้ลดลงไม่สัมพันธ์กับค่าครองชีพ จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจให้ตอบโจทย์ภาวะวิกฤติ การปรับลด เลิกจ้าง ปิดตัวลงอย่างถาวรของธุรกิจ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทบเป็นวงกว้างกับธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ที่น่ากังวล คือ ผลกระทบต่อความอยู่รอดของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนจากนี้ หนี้สินที่พอกพูน รายได้ที่ไม่เพิ่ม วิกฤติกลายเป็น “แผลเป็น” ต่อระบบเศรษฐกิจไทยระยะยาว

แม้ภาพรวมของสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ จะดูเบาบางลง จนเปิดทางให้หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถ “ขยับตัว” เดินหน้าได้ต่อ แต่ก็เป็นจังหวะที่เศรษฐกิจยังตกอยู่ในสภาพ “วิกฤติ” อย่างหนัก โดยเฉพาะ “ราคาน้ำมัน” ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุด จึงเป็นการยากที่ธุรกิจ รวมถึงผู้ประกอบการจะพลิกฟื้นสถานการณ์ หรือใส่เกียร์เดินหน้าลุยได้อย่างทันที เพราะจังหวะยังไม่ได้ ยิ่งผู้ประกอบการ ที่ปรับตัวได้ไม่เร็วนัก ยิ่งลำบาก มาตรการรัฐบาลที่พยายามใส่เข้ามากระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายคึกคัก อาจไม่สัมฤทธิผลมากเท่าที่ตั้งเป้าไว้

การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. นัดล่าสุด แสดงความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งจากปัญหาสินค้าราคาแพงในประเทศ รวมถึงปัจจัยภายนอก อย่างราคาน้ำมัน และราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ความตึงเครียดระหว่าง “ยูเครน” และ “รัสเซีย” อาจกระทบกับราคาน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ หากราคาน้ำมันดิบแตะถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะทำให้ต้นทุนการผลิตและเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น กระทบเป็นลูกโซ่ในระบบเศรษฐกิจ สะเทือนราคาสินค้าและบริการต้องปรับตัว ปรับราคาเพิ่มขึ้น กระทบค่าครองชีพและกำลังซื้อของประชาชน

ขณะที่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ใส่ออกมาช่วงนี้ ทั้งมาตรการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน รวมไปถึงโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของแบงก์พาณิชย์ต่างๆ รัฐต้องประเมินให้ดี มองให้ครอบคลุมทุกมิติของการช่วยเหลือ นโยบายทางการเงิน การคลัง มาตรการต่างๆ อาจยังมีขนาดไม่เพียงพอ หรือมากพอ ต่อการรับมือปัญหาเศรษฐกิจที่ยังทรุดหนัก ดูตัวอย่างในต่างประเทศ จะเห็นว่า เขาใช้นโยบายการเงิน การช่วยเหลือเยียวยาในรูปแบบที่รวดเร็ว รับมือกับปัญหาได้ดี ดังนั้น รัฐบาลอาจต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามาเพิ่มเติม หรืออาจต้องคิดมาตรการที่ช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป บน “งบการฟื้นฟูที่มีอย่างจำกัด” การแก้วิกฤติบนวิกฤติ ยังเป็นโจทย์ใหญ่ และท้าทายรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง..