“โรคประจำถิ่น” ไม่กระทบสิทธิรักษา

“โรคประจำถิ่น”  ไม่กระทบสิทธิรักษา

ประเทศไทยมีทั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ทั้งนี้ที่ผ่านมาใช้งบประมาณในการดูแลไปแล้วกว่า 4 พันล้านบาท ดังนั้น การเป็นโรคประจำถิ่นไม่ได้กระทบสิทธิการรักษาของประชาชนคนไทยอย่างแน่นอน

หลังจากคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติเมื่อวันที่ 27 ม.คเห็นชอบแนวทางการพิจารณาให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) โดยมีหลักเกณฑ์ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 ราย/วัน อัตราป่วยตาย น้อยกว่าร้อยละ 0.1 การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่าร้อยละ 10 และประชาชนมีภูมิต้านทานเพียงพอ กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้วัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่าร้อยละ 80 ไปแล้วนั้น

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายว่าตอนนี้ โควิด 19 ยังไม่ได้เป็นโรคประจำถิ่น แต่สธ.มีการวางหลักเกณฑ์ เพื่อทำแผนดำเนินการที่จะทำให้โควิด19 เป็นโรคประจำถิ่นภายในปี 2565 โดยมีแผน 2 ระยะ คือ 6 เดือนแรก และ 6 เดือนหลัง หากไม่มีเชื้อกลายพันธุ์เข้ามา ประมาณ 6 เดือนจะพยายามทำให้ได้ โดยการฉีดวัคซีน การควบคุมโรค การประกาศกฎหมาย การรักษาพยาบาลสอดคล้องกัน ส่วนเรื่องการรักษาเป็นไปตามสิทธิ

ซึ่งประเทศไทย มีทั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ทั้งนี้ที่ผ่านมาใช้งบประมาณในการดูแลไปแล้วกว่า 4 พันล้านบาท ดังนั้น การเป็นโรคประจำถิ่นไม่ได้กระทบสิทธิการรักษาของประชาชนคนไทยอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม อาจจะมีการระบาดเป็นครั้งคราว แต่ก็ใช้การบริหารจัดการ ซึ่งก็ทำมาตลอด และทำได้ ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจึงได้กำหนดเกณฑ์การเป็นโรคประจำถิ่นและกำหนดมาตรการวิธีต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกัน

สอดคล้องกับความเห็นของอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) “นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” ที่มองว่า โรคโควิด 19 อยู่ในระยะการระบาดใหญ่ทั่วโลกมา 2 ปีแล้ว ภายในปีนี้ก็น่าจะสิ้นสุดระยะนี้แล้ว จากนั้นทิศทางจะเป็นโรคประจำถิ่นหรือโรคติดต่อทั่วไป โดยพิจารณาจาก 3 ประเด็นคือ สายพันธุ์คงที่ ไม่มีการกลายพันธุ์ที่รุนแรงกว่าเดิม อัตราป่วยคงที่ และคาดเดาการระบาดได้

ทว่าความเห็นต่างจาก “ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าโรคโควิด-19 ไม่มีโอกาสที่จะเป็น “โรคประจำถิ่น” เพราะยังคงระบาดทั่วโลก และเป็นไปไม่ได้ที่จะระบาดอยู่เฉพาะถิ่น และถ้าโรคนี้ คล้ายไข้หวัดใหญ่จะเรียกว่าโรคโควิด 19 ตามฤดูกาล เช่นจะระบาดมากในฤดูฝน หรือ “โรคติดต่อทั่วไป” โดยการดูแลและควบคุม และ กฎเกณฑ์ การรายงาน ควบคุม ดูแลรักษา และป้องกันตามปกติคล้ายโรคทางเดินหายใจทั่วไป เช่นไข้หวัดใหญ่

เมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ที่จะทำให้กลายเป็นโรคประจำถิ่นประเทศไทยดำเนินการได้ขณะนี้มีเพียงข้อเดียวคือ ผู้ป่วยรายใหม่

8,008 ราย ไม่เกิน 10,000 ราย/วันตามเกณฑ์ที่สธ.ประกาศไว้ ขณะที่ยอดฉีดวัคซีน ล่าสุด ณ วันที่ 30 มกราคม 2565 ผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 52,315,680 ราย คิดเป็น 75.2% ของประชากรจำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 48,603,421 ราย คิดเป็น 69.9% ของประชากรจำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 14,134,471 ราย คิดเป็น 20.3% ของประชากร ซึ่งต้องเร่งดำเนินการ เพราะการเป็นโรคประจำถิ่นนอกจากไม่เสียสิทธิในการรักษาแล้วยังจะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อีกด้วย