KKP หวัง ‘โอมิครอน’ เวฟสุดท้าย ดันเศรษฐกิจไทยปี65 ฟื้นตัวต่อ

KKP หวัง ‘โอมิครอน’ เวฟสุดท้าย ดันเศรษฐกิจไทยปี65 ฟื้นตัวต่อ

KKP มอง “โอมิครอน”มาเร็วจบเร็ว แต่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทย ชี้มี3ปัจจัยที่ต้องติดตาม ซึ่งเป็นปัจจัยท้าทายสำหรับเศรษฐกิจไทย

       ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่หรือโควิด-19 โดยเฉพาะการเกิดสายพันธ์ใหม่ อย่าง “โอมิครอน” ที่ยังไม่มีท่าทีจบในเร็ววันนี้ แม้จะมีการคาดการณ์ว่า “มาเร็วไปเร็ว” แต่อัตราการแพร่ระบาดในประเทศยังสูงเกือบแตะระดับ 1 หมื่นคนต่อวัน เหล่านี้สร้างความไม่แน่นอน และเป็นปัจจัยท้าทายสำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2565 ให้การฟื้นตัวไม่ราบรื่นมากนัก

    “พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ มี “ความหวัง”มากขึ้น ที่จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังจากเจอโควิด-19 มา 2 ปีเต็ม

     แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ยังอยู่ภายใต้ ความเสี่ยงสำคัญ ที่ต้องติดตาม และอาจเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการเติบโตเศรษฐกิจไทยได้ โดยมี 3 ปัจจัยสำคัญ

     ปัจจัยแรก เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก กำลังเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น จากการเปลี่ยนผ่านของโรคระบาดโควิด-19 ที่กำลังเปลี่ยนไปสู่โรคประจำถิ่น จากโรคร้ายแรงระดับโลก ในขณะที่ทั่วโลกมีการป้องกันมากขึ้น ทำให้ความรุนแรงของโรคทยอยลดลงเป็นลำดับ

     โดย “โอมิครอน” ถือเป็นการระบาดที่มาเร็วและแรง (Fast & Furious) แต่ใช้เวลาสั้น โดยหากดูสหรัฐ ที่ปัจจุบันมีการติดเชื้อระดับ 1ล้านคน แต่มีสัญญาณดีขึ้นแล้ว ขณะที่แอฟริกาที่เจอโควิด โอมิครอน ประเทศแรกของโลก ปัจจุบันเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

    แต่สำหรับ ประเทศไทย เชื่อว่า โอมิครอน ที่สร้างความไม่แน่นอนต่อเนื่องให้กับเศรษฐกิจไทย ภายใต้การระบาดระดับ 8 พันคนต่อวัน แต่สังเกตได้ว่า แม้จะมีความกังวล แต่ความเสียหายจากการติดเชื้อทยอยลดลง ซึ่งมีผลกระทบระยะสั้นต่อเศรษฐกิจไทย

     ระยะข้างหน้า คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆฟื้นตัว และคาดจะเห็นการฟื้นตัวในครึ่งปีหลังได้ โดยเฉพาะล่าสุดที่ภาครัฐเริ่มปรับให้สถานการณ์ท่องเที่ยว การเดินเข้าออกไทยและต่างประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติได้ในระยะอันใกล้นี้ เหล่านี้เป็นสัญญาณการฟื้นของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป

     ปัจจัยที่สอง ทิศทางสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น หลังจากเจอแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นไปแตะระดับ 7% สูงสุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย และลดงบดุล ทำให้ตลาดคาดการณ์ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปถึง 5 ครั้ง หรือบางแห่งมีการประเมินว่าจะขึ้นไปถึง 7 ครั้ง จากระดับ 0% ไปสู่ 1.75% ปีนี้ และ ปีหน้าขึ้นอีก 4 ครั้งไปสู่ 2.75%

    เพราะเหตุการณ์ที่ต้องเหยียบคันเร่งหายไป เพราะปัจจุบันเงินเฟ้อชัดเจน อัตราการว่างงานต่ำกว่า 4% และเข้าสู่การจ้างงานเต็มตัว ดังนั้นหลังจากนี้จะทยอยเห็นการปรับชึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 2ปีนับจากโควิด-19

       เหล่านี้จะนำมาสู่ปัญหาอีกด้าน จากการคาดการณ์ว่า การดำเนินนโยบายการเงินของไทย กนง.ยังให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก และไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ ดังนั้นภายใต้ดอกเบี้ยโลกที่สูงขึ้น ขณะที่ดอกเบี้ยไทยอยู่ระดับต่ำ จะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐห่างขึ้น เหล่านี้จะสร้างความผันผวนให้กับตลาดเงินตลาดทุน และค่าเงินบาทที่ผันผวนมากขึ้นได้ จากการดึงสภาพคล่องกลับ และย้ายเงินของนักลงทุนไปหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด

     ขณะที่ แนวโน้มเศรษฐกิจไทย เกียรตินาคินภัทร ยังยืนประมาณการณ์เติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 3.9% โดยมองว่าการบริโภค การลงทุนจะทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ หากไม่มีเบรกเอ้าท์เพื่อคุมโควิด-19 หนักๆออกมา

     “หากโอมิครอนวันนี้ เข้าสู่เวฟสุดท้าย จะทำให้การเดินหน้าระหว่างประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติได้ เหล่านี้หนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะทยอยกลับมาได้ในครึ่งปีหลังได้ปี 2563 เศรษฐกิจไทยเราติดลบ 6% ปีที่ผ่านมาเราคาดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวมาบวกได้อีก 1% ซึ่งถือว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้ต่ำกว่าระดับก่อนโควิด 5% ดังนั้นจะกลับไปสู่ก่อนเกิดโควิด-19ได้ และยังมีความไม่แน่นอนมาก และมีการฟื้นตัวไม่ทั่วถึงมากขึ้น”

     สำหรับแนวโน้มของเศรษฐกิจไทย มองว่ามีความเสี่ยง และมีโอกาสที่จะเผชิญกับ ปัญหา stagflation มากขึ้น คือเงินเฟ้อสูงภายใต้เศรษฐกิจชะลอตัว ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ได้ดีขึ้น ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบหลักจากเศรษฐกิจและรับผลกระทบจากราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น

      ปัจจัยสุดท้ายที่ต้องจับตา คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ เพราะเราพึ่งพาตลาดจีนค่อนข้างมาก ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว ดังนั้นเหล่านี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

    “ที่สำคัญ เราต้องติดตาม โอมิครอน หากไม่จบจริงทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้จ่าย กระทบทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการออกมาช่วยเหลืออีกรอบ เหล่านี้จะทำให้แสงสว่างตรงปลายอุโมงค์ จะกลายเป็นแสงสว่างปลอม ที่ฉุดเศรษฐกิจไทยได้”

     “ชญาวดี ชัยอนันต์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทย เดือนม.ค. 2565 มีสัญญาณชะลอตัวลงตามการระบาดของโควิด-19 โอมิครอน ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด

     โดยหากดูเครื่องชี้เร็วทางเศรษฐกิจ หรือ Google Mobility ระหว่างวันที่ 1-21 ม.ค. พบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนม.ค. 2565 มีแนวโน้มชะลอตัวลงบ้างจากผลของการระบาดของโอมิครอนในช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2564

    โดยกิจกรรมภาคบริการและภาคการค้ามีแนวโน้มลดลง ซึ่งต้องติดตามต่อเนื่อง ในด้านกำลังซื้อของภาคประชาชน รวมถึงต้องติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น และปัญหา Supply Disruption รวมถึงโควิด สายพันธ์ใหม่ด้วย

     สำหรับภาพรวมเดือนธ.ค.2564 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวทุกหมวด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการผ่อนคลายและการเปิดประเทศ และปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบที่คลี่คลายลง

     เช่นเดียวกัน การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวดีขึ้น หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้คนออกมาใช้จ่ายมากขึ้น หนุนความเชื่อมั่นประชาชนปรับตัวเพิ่มขึ้น

    รวมไปถึง มาตรการภาครัฐ ผ่านคนละครึ่งที่มีผลกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงปลายปี ทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งธ.ค. และไตรมาส 4 ฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาด หากเทียบกับ ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา

     ส่วนการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะออกมาดีกว่าคาดการณ์ ของธปท.หรือไม่นั้น ต้องดูตัวเลขจริงของสภาพัฒน์ที่จะออกมาในเร็วๆนี้