"โควิด-19" คร่าชีวิต ฆ่าธุรกิจ

"โควิด-19" คร่าชีวิต ฆ่าธุรกิจ

"โควิด-19" ทั่วโลกยังไม่จบ แม้จะคร่าชีวิตคนทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 5.6 ล้านคน รวมถึงฆ่าหลายธุรกิจไปแบบไม่ทันคาดคิด ไม่เว้น "อาคเนย์ประกันภัย" พร้อมจับตาคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จะพิจารณาให้ "โควิด-19" เป็น "โรคประจําถิ่น" และแผนดูแลประชาชนหลังจากนี้

นับตั้งแต่ "โควิด-19" ปรากฏขึ้นครั้งแรกในจีนเมื่อเดือน ธ.ค. 2562 ถึงวันนี้คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 5,614,118 คน ตามข้อมูลของสํานักข่าวเอเอฟพี ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ในโลกคือสหรัฐ 872,126 คน ตามด้วยบราซิล 623,843 คนอินเดีย 491,127 คน และรัสเซีย 328,105 คน

แต่ถ้ารวมการเสียชีวิต ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 องค์การอนามัยโลกประเมินว่ารวมแล้ว น่าจะมากกว่านี้ 2-3 เท่า นี่คือฤทธิ์ร้ายของโควิด-19 ที่หลายคนคาดไม่ถึงเช่นเดียวกับบริษัทประกันภัย

ข้อมูลจากแหล่งข่าววงในระบุตัวเลขการเคลมประกัน จากกรมธรรม์โควิด-19 ทั้งรูปแบบเจอจ่ายจบ และแบบอื่นๆ จะสูงถึง 1 แสนล้านบาท จากยอดเคลมในปัจจุบันที่คาดว่า ใกล้เคียง 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการเคลมเพิ่มขึ้นหลังจาก ที่ยอดติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเพิ่มสูงขึ้นและจะเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทประกันภัยที่ส่วนใหญ่จะรับเบี้ยกรมธรรม์แบบเจอจ่ายจบ

อย่างกรณีบริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) หรือ TGH แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท เกี่ยวกับการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จํากัด (มหาชน)

ย้อนกลับไปเมื่อสองปีก่อนตอนที่โควิด-19 เพิ่งระบาดใหม่ๆ การขายประกันโควิดแบบเจอ จ่าย จบ เรียกเสียงฮือฮาได้มาก ผู้บริโภคไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมีประกันไว้ก่อนย่อมช่วยให้อุ่นใจ

บริษัทประกันเองก็เห็นโอกาสของธุรกิจแต่ใครจะคิดว่าโควิด จะเลยเถิดฉุดไม่อยู่ถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าปีที่ 3 แล้วคนที่ลุ้นมากตอนนี้ คือลูกค้าของอาคเนย์ประกันภัย จํากัด (มหาชน) แต่สําหรับคนทั่วไปก็มีโอกาสลุ้นให้โควิดระลอกโอมิครอนอ่อนแรงลงไปเสียที

จับสัญญาณจากต่างประเทศอังกฤษยกเลิกแผนสอง กลับไปสู่แผนหนึ่งซึ่งหมายถึงประชาชนมีเสรีภาพมากขึ้นใช้ชีวิต ร่วมกับโควิดได้ ส่วนเดนมาร์กแม้พบว่าสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน ติดต่อง่ายกว่าแต่ก็ไม่ได้รุนแรงมากกว่าเตรียมยกเลิกข้อจํากัดต่างๆ ในวันที่ 1 ก.พ.นี้

สถานการณ์ธุรกิจและโควิดทั้งในไทยและต่างประเทศ มีทั้งความหวังและความน่าห่วงถึงที่สุดแล้วโควิดไม่มีวันหนีไปไหน เราต้องใช้ชีวิตร่วมกับมันให้ได้อย่างปลอดภัย แต่การอ่านเกมโควิด ต้องอ่านให้ถูกบริษัทประกันถือว่าอ่านเกมพลาดนั่นคือเรื่องของธุรกิจ ที่สําคัญกว่านั้นคือรัฐบาลผู้รับผิดชอบชีวิตประชาชนต้องมองการณ์ไกล

วานนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็น ประธานการประชุมเห็นชอบแนวทางการพิจารณาให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจําถิ่น ถ้าเข้าเกณฑ์ก็จะประกาศให้ประชาชน ทราบแน่นอนว่าถ้าโควิดเป็นโรคประจําถิ่นได้ประชาชนเศรษฐกิจ ธุรกิจ คงหายใจหายคอกันคล่องขึ้น แต่แผนการดูแลประชาชนหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องคิดกันต่ออย่าปล่อยกันไป ตามยถากรรม