เช็ค! "โอมิครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.2 อันตรายแค่ไหน เหมือนหรือต่างจากเดิม?

เช็ค! "โอมิครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.2 อันตรายแค่ไหน เหมือนหรือต่างจากเดิม?

ไขข้อสงสัย! "โอมิครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.2 คืออะไร? อันตรายเท่ากับโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือไม่? เรารวบรวมข้อควรรู้เกี่ยวกับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย ทั้งแบบ BA.1 และ BA.2 มาให้ทราบ เช็คที่นี่!

หลังจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ออกมาเปิดเผยว่า ไทยพบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ แตกย่อยออกมาจาก "โอมิครอน" อีกทีหนึ่ง โดยเบื้องต้นระบุชื่อว่า "โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2" โดยล่าสุดพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวแล้ว 1 ราย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้จัก "โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2" ให้มากขึ้น พร้อมหาคำตอบว่าการกลายพันธุ์ครั้งนี้เกิดจากอะไร? แล้วเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้อันตรายมากน้อยแค่ไหน?

1. "โอมิครอน" กลายพันธุ์ในไทยมี 2 ชนิด BA.1, BA.2

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายว่า ในประเทศไทยพบการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด "โอมิครอน" สายพันธุ์ย่อย 2 ชนิด คือ

  • โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 : พบการกลายพันธุ์ตำแหน่ง K417N, T478K, N501Y และ del69/70 แต่ไม่พบการกลายพันธุ์ตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นรูปแบบการกลายพันธุ์รูปแบบหนึ่งของสายพันธุ์โอมิครอน โดยในไทยพบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 รายแรกเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564
  • โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 : ไม่พบการกลายพันธุ์บน spike โปรตีน ของตำแหน่ง 69-70 ซึ่งแตกต่างจาก BA.1 และ BA.3 ตรวจพบรายแรกตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2565 ส่วน BA.3 ยังไม่พบในประเทศไทย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

2. โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ไม่แตกต่างจาก BA.1

จากการติดตามสถานการณ์ระบาดและการกระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ยังไม่พบความแตกต่างจากสายพันธุ์ย่อย BA.1 ในประเด็น ความสามารถในการแพร่เชื้อที่รวดเร็ว อาการรุนแรง หรือสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ จากการติดเชื้อหรือการได้รับวัคซีนมาก่อน

"ด้วยข้อมูลที่มีอยู่ปัจจุบัน ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า BA.2  แพร่เร็ว รุนแรง อาการหนัก และหลบภูมิคุ้มกันได้แค่ไหน ยังบอกไม่ได้ ถ้าสัดส่วนเปลี่ยนจากที่มี 2 % เพิ่มเป็น  5 %  10 % ในเวลาถัดมาอาจจะต้องจับตาดู แสดงว่าอาจจะแพร่เร็วกว่า" นายแพทย์ศุภกิจกล่าว

3. โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ระบาดรุนแรงหรือไม่?

เท่าที่ดูข้อมูลในประเทศไทย พบว่ามีผู้ป่วยอาการหนักจากโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 จำนวน 14 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ติดในประทศ 5 ราย ซึ่งมี 1 รายเสียชีวิต คือ ผู้ป่วยติดเตียงที่เสียชีวิตจากโอมิครอนรายแรกที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา  ในจำนวนที่น้อยเท่านี้จึงยังบอกไม่ได้ว่า BA.2 จะรุนแรงกว่า BA.1 หรือไม่ 

แต่ภาพรวมกรมการแพทย์ประเมินเบื้องต้นว่า จากการที่มีผู้เสียชีวิต 7 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 0.1% จากโอมิครอน ซึ่งถือว่าอัตราค่อนข้างต่ำ ขณะนี้ทางกรมการแพทย์กำลังจัดทำรายละเอียดว่า อาการหนัก อาการปานกลาง มากน้อยแค่ไหน รวมถึงปัจจัยในการกำหนดรายละเอียดการฉีดวัคซีนอย่างไรด้วย  

 

4. วิธีป้องกันโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2

สำหรับการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศไทยปัจจุบัน พบว่า ภาพรวมมีผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอน 94.6% , เดลตา 5.4% 

ส่วนการป้องกันการติดเชื้อ/ป้องกันอาการป่วยหนัก จากเชื้อโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 นั้น นายแพทย์ศุภกิจแนะนำว่า ยังคงต้องบูสเตอร์ด้วยวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มมีความเสี่ยงมีโรคเรื้อรัง และกลุ่มผู้สูงอายุ สำหรับคนหนุ่มสาวที่มีร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันดี โอกาสเสียชีวิตจะน้อยมาก