สธ. เปิดศูนย์รับมือฝุ่น "PM2.5" เตือนเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง

สธ. เปิดศูนย์รับมือฝุ่น "PM2.5" เตือนเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง

"กรมควบคุมโรค" กระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขในการเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรณีฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน "PM2.5" เตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือ และงดกิจกรรมในพื้นที่โล่ง โดยเฉพาะผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคสำคัญ

จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพ พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวเนื่องจากฝุ่น PM2.5 สูงสุดในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคม ของทุกปี ภาคที่มีอัตราป่วยสะสมสูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ และภาคกลาง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อพิจารณาร่วมกับ ข้อมูลของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) และรายงานการติดตาม ประจำวันที่ 13 มกราคม 2565 พบว่าผลการตรวจวัด PM2.5 ภาพรวมประเทศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นส่วนใหญ่(ค่ามาตรฐานคือ ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) ยกเว้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดตาก ที่มีแนวโน้มพบค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน

 

สาเหตุสำคัญของการเกิด ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มาจากการเผาไหม้ท่อไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ การเผาขยะ เผาหญ้า กระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงงาน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ฝุ่น PM2.5 ยังสามารถรวมตัวกับสารมลพิษอื่นๆ เช่น สารไฮโดรคาร์บอน และโลหะหนักได้ ด้วยขนาดที่เล็กมากจึงสามารถลอดผ่านการกรองของขนจมูกไปยังหลอดลม จนถึงถุงลมปอด และซึมเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลกระทบต่อร่างกาย จึงขอเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือ และงดกิจกรรมในพื้นที่โล่ง

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนภายใต้

3 มาตรการในการรับมือฝุ่นละอองขนาดเล็กPM 2.5 ประกอบด้วย

1)การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่

2)การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่แหล่งกำเนิด

3)การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ลดและป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

 

ซึ่ง กรมควบคุมโรค ได้เตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) และในช่วงที่ค่าฝุ่นPM2.5 เกินมาตรฐาน ขอให้ประชาชนตรวจเช็คค่าฝุ่นPM2.5 จากเวบไซต์ของ กรมควบคุมมลพิษ

 

หรือผ่านทางแอพพลิเคชั่น Air4Thai ก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโอกาสในการรับหรือสัมผัสฝุ่น เช่น ตำรวจจราจร คนขับรถสาธารณะ คนกวาดถนน เป็นต้น

  • เตือนผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค 

ผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคสำคัญที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ

1.กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด

2.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ

3.กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ

4.กลุ่มโรคตาอักเสบ

 

ซึ่งหากได้รับฝุ่นเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วย หรือมีผลต่อสุขภาพรุนแรงกว่าคนทั่วไป ควรสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น (N95) หรือหน้ากากที่มีแผ่นกรองคาร์บอน เนื่องจากมีประสิทธิภาพที่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กได้ ทุกครั้งที่ออกจากบ้านหรือเมื่อไปในพื้นที่ ที่มีระดับฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานหากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ใจสั่น ระคายเคืองตา หรือหากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที

 

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 เป็นกลไกสำคัญในการวางระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคจากฝุ่นละออง PM2.5 เมื่อพบจำนวนผู้ป่วยมากผิดปกติ ในช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน จะมีการรายงานมายังหน่วยงานปฏิบัติการควบคุมโรคระดับจังหวัด และกทม. หรือหน่วย ENVOCCCU เพื่อลงพื้นที่สอบสวน และควบคุมโรคได้อย่างทันการณ์ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์