ฉีดไฟเซอร์5-11 ปี ปลาย ม.ค. นำร่อง “กลุ่มเสี่ยง”ที่รพ.เด็ก

ฉีดไฟเซอร์5-11 ปี ปลาย ม.ค.  นำร่อง “กลุ่มเสี่ยง”ที่รพ.เด็ก

สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 และอัตราการครองเตียงของเด็ก ในขณะนี้อาจจะไม่ได้มากกว่าปกติ แต่หากคาดการณ์จากจำนวนผู้ป่วยโควิดที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในต่างประเทศ กลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน เด็กกลุ่ม 5-11 ปี เป็นกลุ่มที่ยังไม่ฉีดวัคซีน ส่วนหนึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่มีวัคซีนให้ฉีด และเชื้อไม่ได้มีความรุนแรง แม้ผู้ป่วยโควิดเด็กจะมีจำนวนไม่มาก “การฉีดวัคซีนโควิด-19” ย่อมเป็นทางการป้องกันการติดเชื้อโควิดในเด็กได้ดีที่สุด

  • เด็กติดเชื้อโอมิครอนแล้ว 59 ราย

นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) กล่าวว่า โรงพยาบาลเด็ก มีเตียงเด็ก 70 เตียง เตียงสีแดงสำหรับทารกแรกเกิดและเด็กโต 13 เตียง ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยอาการสีแดงและสีส้ม มีเพียงอาการสีเหลือง 1 ราย นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยเด็กที่เข้ากระบวนการกักตัวและรักษาโควิด-19 อยู่ที่บ้าน (home isolation หรือ HI) 60 คน และเป็นผู้ป่วยใน 32 คน ในจำนวนนี้มีคนไข้อายุน้อยสุดเพียง 4 เดือน

ทั้งนี้ ระยะที่มีการระบาดโควิดโอมิครอน รพ.เด็ก ได้รับผู้ป่วยดูแลรวมทั้งสิ้น 59 รายซึ่งผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 และต้องการรับบริการขอให้ติดต่อผ่านระบบโทรสายด่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 1330 เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป

 

  • ไฟเซอร์เด็ก5-11ปีถึงไทย26ม.ค.

วานนี้ (19 ม.ค.2565) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี ว่า ได้รับรายงานจาก นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรคว่าวัคซีนล็อตแรกจะเข้ามาถึงประเทศไทยวันที่ 26 ม.ค.2565 จำนวน 3 ล้านโดส จาก 10 ล้านโดสที่สั่งจองไว้ในเบื้องต้น

ต่อจากนั้นจะมีการสุ่มตัวอย่างให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจรับรองรุ่นการผลิต ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ก็ทราบผล จากนั้นจะกระจายไปฉีดเด็ก เริ่มที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ก่อนเป็นแห่งแรก เพื่อเดินหน้าฉีดให้กับเด็กที่มีโรคประจำตัว ซึ่งถือเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงก่อน

ส่วนการกระจายไปยัง รพ.ต่างๆ ซึ่งได้ประสานกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับเด็ก ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้ปกครองให้พาบุตรหลานมาฉีดวัคซีนเพื่อความปลอดภัย

ฉีดไฟเซอร์5-11 ปี ปลาย ม.ค.  นำร่อง “กลุ่มเสี่ยง”ที่รพ.เด็ก

  • คาดเริ่มฉีดวัคซีนในเด็ก31ม.ค.

ขณะที่ นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนในเด็ก จะเริ่มในวันที่ 31 ม.ค.2565 เนื่องจากต่อให้วัคซีนเข้ามาวันที่ 26 ม.ค. แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบ และกระจายวัคซีนไปยัง รพ.ต่างๆ

สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กจะมีขนาด 1 ขวด บรรจุ 1.3 มิลลิลิตร และเมื่อผสมกับน้ำเกลือจะมีขนาด 2.6 มิลลิลิตร ทำให้วัคซีน 1 ขวด สามารถฉีดให้กับเด็กได้ถึง 10 คน คนละ 0.2 มิลลิลิตร และบริษัทพัฒนาให้วัคซีนสามารถเก็บรักษาได้นานหลังผสมน้ำเกลือในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์ จากเดิม 4 สัปดาห์

 

  • แนะฉีดวัคซีนในเด็กและวัยรุ่น

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็ก และวัยรุ่น ฉบับที่ 4 สำหรับเด็กอายุ 5-<12 ปี และวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป โดยมีการปรับปรุงคำแนะนำวิธีการฉีดวัคซีน ดังนี้ เด็กและวัยรุ่น เพศชายอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้ฉีดวัคซีน mRNA ไฟเซอร์ เข็มแรก เว้นระยะห่าง 8-12 สัปดาห์ แล้วจึงฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ส่วนเด็กอายุ 5-12 ปีฉีดวัคซีน mRNA ไฟเซอร์ สูตรสำหรับเด็ก ขนาด 10 ไมโครกรัม ปริมาณ 0.2 มิลลิลิตร เข้ากล้ามเนื้อ 2 ครั้ง ห่างกัน 3-12 สัปดาห์ (โดยระยะห่าง 8-12 สัปดาห์ จะดีกว่า 3-4 สัปดาห์)

  • ฉีดวัคซีนในเด็กเพียงครึ่งของผู้ใหญ่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) ระบุเกี่ยวกับ โควิด-19 วัคซีน ขนาดของวัคซีนในเด็ก และผู้ใหญ่ ว่าขนาดวัคซีนในเด็ก และผู้ใหญ่ ตามหลักการให้วัคซีนในอดีต เช่นไวรัสตับอักเสบ บี และเอ วัคซีนขนาดเด็ก และผู้ใหญ่ จะแบ่งกันที่อายุ 18 ปี เด็กใช้ครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ เพราะเด็กจะตอบสนองภูมิต้านทานได้ดีมาก ดีกว่าผู้ใหญ่ จึงใช้ขนาดวัคซีนน้อยกว่าผู้ใหญ่

 ทั้งนี้ วัคซีนไฟเซอร์ ขนาดของเด็ก 5-11 ปี ให้เพียง 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ (จาก 30 mcg เป็น 10 mcg) ดังนั้น จึงเชื่อว่าขนาดของเด็ก 12-18 ปี ที่ระบบภูมิต้านทานดี วัคซีนไฟเซอร์ไม่น่าจะต้องใช้ขนาดผู้ใหญ่ น่าจะลดขนาดลงเพื่อลดอาการข้างเคียงในเด็กลงได้ ทำนองเดียวกันวัคซีนโมเดอร์นาที่มีขนาดผู้ใหญ่ ให้ถึง 100 mcg เมื่อให้ในเด็กจะต้องลดลงเป็นครึ่งหรือ 1 ใน 4 ของผู้ใหญ่คงต้องรอการศึกษา และขณะนี้กำลังมีการศึกษากันมากทั่วโลก

  • มาตรการปลอดภัยในร.ร.

มาตรการความปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ในโรงเรียนนั้น นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในช่วงเดือน ม.ค.2565 พบว่า มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเด็กอายุ 13-19 ปี จะมีอัตราการติดเชื้อมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น

ความรุนแรงของโรคพบว่า ตั้งแต่เดือน พ.ย.2564- วันที่ 18 ม.ค.2565 มีเด็กอายุตำ่กว่า 18 ปี เสียชีวิต 1 คนถือเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำ ส่วนการรับวัคซีนของเด็กนั้น พบว่า เด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปี จำนวน 5 ล้านคน ได้รับเข็ม 1 จำนวน 4.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 88.44 เข็ม 2 จำนวน 4.09 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 79.66 และมีการขอรับวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนเด็กนักเรียนอายุ 5-11 ปี นั้น วัคซีนเด็กจะเข้ามาปลายเดือน ม.ค.65

ส่วนมาตรการป้องกันในโรงเรียนนั้น นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า เมื่อโรงเรียนเปิดให้เด็กกลับมาเรียนในโรงเรียนแล้ว จะต้องมีมาตรการที่เข้มข้นในการคัดกรอง ป้องกันโรค มีแผนเผชิญเหตุ เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ คัดกรองอุณหภูมิก่อนเข้าเรียน ลดความแออัดในห้องเรียน ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมบ่อยๆ ครู นักเรียน ฉีดวัคซีน การรับประทานอาหาร ต้องมีช้อนกลางส่วนตัว เป็นต้น

โดยขณะนี้ ศบค.ชุดเล็ก ได้อนุมัติให้เด็กกลับมาเรียนในโรงเรียนได้หรือ การเรียนแบบออนไซด์ เกือบทุกพื้นที่แล้ว ขอให้โรงเรียนปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มข้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครองและชุมชน

  • แผนเผชิญติดเชื้อในโรงเรียน

สำหรับแผนเผชิญเหตุเมื่อโรงเรียนพบการติดเชื้อ ควรปฏิบัติดังนี้ กรณีพบการติดเชื้อ 1 ห้องเรียน จำนวน 1-2 คน ให้ปิดห้องเรียนนั้น 3 วัน และทำความสะอาด นำผู้ติดเชื้อเข้าระบบการรักษา ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้หยุดเรียนและเรียนออนไลน์ ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำให้เรียนออนไซด์ต่อไปและต้องสังเกตอาการ ไม่ต้องหยุดเรียนทั้งโรงเรียน

กรณีติดเชื้อมากกว่า 2 คนและมากกว่า 1 ห้องเรียน ให้ปิดห้องเรียนนั้น 3 วัน และทำความสะอาด ไม่ปิดทั้งโรงเรียน งดกิจกรรมรวมกลุ่มทุกกิจกรรม ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้หยุดเรียนและเรียนออนไลน์ ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำให้เรียนออนไซด์ต่อไปและต้องสังเกตอาการ , กรณีพบเด็กติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ ให้จัดศูนย์กักตัวในโรงเรียน การพิจารณาปิดโรงเรียนให้ทำโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

เรามีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ส่วนใหญ่เด็กนักเรียนจะติดเชื้อจากคนในครอบครัว ดังนั้นจะต้องทำให้ครอบครัวมีความเสี่ยงต่ำที่สุด และมีภูมิคุ้มกันสูงสุด โดยจัดสิ่งแวดล้อมในบ้านให้สะอาด ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมในบ้านบ่อยๆ และปฏิบัติตนเองให้ปลอดภัย ด้วยการล้างมือบ่อยๆนพ.สราวุฒิ กล่าว

ถ้าไปพื้นที่เสี่ยงมา ขอให้สวมหน้ากากอนามัยในบ้าน ไม่รวมกลุ่มกับเด็ก ผู้สูงอายุ ทั้งนี้เราพบว่า ยังมีเด็กนักเรียนร้อยละ 10 ที่ยังไม่รับวัคซีน ขณะที่ผู้ปกครอง ก็ยังไม่รับวัคซีนอีกร้อยละ 10 เช่นกัน กรณีเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงและจำเป็นต้องไปโรงเรียน ขอให้ผู้ปกครองติดต่อขอรับวัคซีน ซึ่งกระทรวงจัดเตรียมไว้อย่างเพียงพอ