อุตสาหกรรม "ปูนซีเมนต์" ยั่งยืน ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เติบโตไปพร้อมชุมชน

อุตสาหกรรม "ปูนซีเมนต์" ยั่งยืน ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เติบโตไปพร้อมชุมชน

แม้การผลิต "ปูนซีเมนต์" จะมีส่วนให้เกิด "ก๊าซเรือนกระจก" แต่ปัจจุบัน "กลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์" ภายใต้ “สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย” ได้ร่วมพัฒนานวัตกรรม “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน ให้เติบโตไปพร้อมกัน

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2563) ความต้องการใช้ ปูนซีเมนต์ ในประเทศอยู่ที่ประมาณ 30 – 35 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 50 – 60% ของกำลังการผลิตโดยรวม ขณะเดียวกัน ธุรกิจซีเมนต์ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากใช้พลังงานมาก การผลิตปูนซีเมนต์ 1 ตัน ปล่อยคาร์บอนถึง 900-1,000 กิโลกรัมคาร์บอน การใช้นวัตกรรม คำนึกถึงชุมชนและสิ่งแวดล้อม จึงมีส่วนสำคัญในการลดผลกระทบ

 

กลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ของไทย ซึ่งมุ่งเน้นสนับสนุนการพัฒนาเติบโตของประเทศเป็นหลัก เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวให้ก้าวข้ามความท้าทายหลายประการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การแข่งขัน เทคโนโลยี การพัฒนานวัตกรรม การสนองตอบความต้องการของผู้บริโภค รวมไปถึงด้านทรัพยากร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม ชุมชน ด้านกฎหมายและระเบียบ เป็นต้น

 

เพื่อให้อุตสาหกรรมดำเนินการอย่างยั่งยืน ในปี 2549 มีการก่อตั้ง “สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย” เพื่อเชื่อมโยง ส่งเสริมการร่วมมือระหว่างผู้ผลิตของไทย ยกระดับให้ทัดเทียมกับระดับโลก เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับทิศทางขับเคลื่อนประเทศ โดยปัจจุบันมีสมาชิก 7 ราย โรงงานทั่วประเทศ 12 แห่ง กำลังการผลิตรวม 60 ล้านตัน

 

“ชนะ ภูมี” นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า จากการประชุม COP26 ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ดีในการเคาะบ้านเราว่าอาจจะต้องเร่งมือในส่วนที่เราเคยทำได้ดีให้เดินหน้าได้เร็วขึ้น เนื่องจากพื้นฐานอุตสาหกรรมซีเมนต์เป็นพื้นฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในสารสนับสนุนอุตสาหกรรมภาครัฐ การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทาง “ESG” หรือสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) สมาคมฯ ทำงานควบคู่กันกับการดำเนินธุรกิจ

 

อุตสาหกรรม "ปูนซีเมนต์" ยั่งยืน ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เติบโตไปพร้อมชุมชน

ในปี 2564 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน (Global Warming) ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกวิจัย พัฒนา และนําเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่าง “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ลดการปล่อยคาร์บอนเหลือ 871 กิโลกรัมคาร์บอน ตาม มอก. 2594

 

ภายใต้ “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก : มาตรการทดแทนปูนเม็ด” ระหว่าง 19 หน่วยงาน โดยการสนับสนุนของ 5 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

ความร่วมมือครอบคลุมตั้งแต่การวิจัยพัฒนา การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต การปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์และกฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง การสร้างความรู้ความเข้าใจ การส่งเสริมใช้งาน ตลอดจนการรายงานผลและการทวนสอบ เป็นต้น สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ จากมาตรการทดแทนปูนเม็ด เทียบเท่าปลูกต้นไม้กว่า 31 ล้านต้น เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2565

 

ถัดมา คือ พัฒนาเหมืองหินปูนสู่ความยั่งยืน “เขาวงโมเดล” และ “แก่งคอยโมเดล” ได้รับความเห็นชอบในร่างแผนผังโครงการจากภาครัฐ เป็นต้นแบบการทำเหมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อนาคตเป็นแหล่งน้ำและจุดเรียนรู้สำหรับชุมชน

 

อุตสาหกรรม "ปูนซีเมนต์" ยั่งยืน ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เติบโตไปพร้อมชุมชน

“สมาคมฯ ส่งเสริมให้สมาชิกดำเนินงานตามแนวทางเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) ด้วยการทำเหมืองให้ถูกต้องและปลอดภัยตามหลักวิชาการที่เกี่ยวข้อง นำวัตถุดิบมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าตามนโยบายภาครัฐ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ควบคู่กับการบริหารจัดการพัฒนาพื้นที่ ดูแลสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน และที่สำคัญเปิดโอกาสให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ”

 

ปัจจุบันแนวทางการฟื้นฟูเหมืองได้ปรับให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และคำนึงถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยวางแผนและดำเนินการฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ ตลอดกระบวนการดำเนินงานของเหมือง และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่ได้จากการฟื้นฟูเหมือง และสอดคล้องกับ การดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่

 

นอกจากนี้ ยัง “สร้าง Ecosystem สำหรับการจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว” (Waste) สนับสนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ลดการเกิดของเสียและผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจด้วยการบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอย่างเหมาะสมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยทางสมาคมฯ มีนโยบายส่งเสริมสมาชิกจัดการ Waste อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดกระบวนการ

 

ยกตัวอย่าง สมาชิกของสมาคมฯ มีการเซ็น MOU กับกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รับใบอ้อยเป็นเชื้อเพลิงทางเลือก เพิ่มรายได้เกษตรกร ลดการเผาปี 2564 เกิน 75% และตั้งเป้าปีนี้ลดให้ได้ 90% ปัจจุบันอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ได้นำของเหลือทิ้งทั้งจากภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และการเกษตร มากกว่า 1.5 ล้านตันต่อปี มาเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาปูนซีเมนต์แบบ Co-processing รวมทั้งใช้จัดการขยะติดเชื้อโควิด-19 ที่ จ.นครศรีธรรมราชอีกด้วย

 

นอกจากนี้ ยังมีแนวทางที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในนำเศษคอนกรีตที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างและรื้อถอน (Demolition Waste) มาใช้ประโยชน์อีกด้วย โดยการดำเนินงานลักษณะนี้ เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องตามนโยบาย BCG ของภาครัฐ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน และเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกทางหนึ่ง

 

อุตสาหกรรม "ปูนซีเมนต์" ยั่งยืน ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เติบโตไปพร้อมชุมชน

 

สำหรับเป้าหมายต่อไป ทางสมาคมฯ ยังคงมุ่งเดินหน้าดำเนินการเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งกระบวนการผลิต การทำเหมืองตามแนวทาง Green Mining ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ควบคู่การดูแลชุมชนโดยผนึกกำลังบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคีในประเทศและต่างประเทศ ขับเคลื่อนอย่างเข้มข้น

 

โดยกำหนด“Mission 2023” ตั้งเป้าในปี 2566 ลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการทดแทนปูนเม็ด ให้ได้ 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าปลูกต้นไม้กว่า 122,000,000 ต้นโดยผู้ผลิตทุกรายพร้อมใจส่งปูนซีเมนต์ ลดโลกร้อน “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” เข้าสู่การใช้งานในวงกว้างทั่วประเทศ เพื่อให้การลดก๊าซเรือนกระจกบรรลุเป้าหมาย

 

อุตสาหกรรม "ปูนซีเมนต์" ยั่งยืน ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เติบโตไปพร้อมชุมชน

 

  • อุตสาหกรรม – ชุมชน เติบโตอย่างยั่งยืน

 

สำหรับตัวอย่าง การพัฒนาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไปพร้อมๆ กับการดูแลชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่

 

1) การเป็นแหล่งน้ำ เหมืองบ้านแม่ทาน จ.ลำปาง พัฒนาเป็นแหล่งน้ำ และส่งต่อไปยังบ่อน้ำชุมชนใกล้เคียงให้ได้ใช้ประโยชน์กว่า 250 ครัวเรือน ทั้งนี้ ช่วงปีที่ผ่านมา ได้นำน้ำกว่า 1.3 ล้านลูกบาศ์เมตรจากบ่อเหมือง ช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง

 

2) การเป็นแก้มลิงรับน้ำ เหมืองห้วยแร่ จ.สระบุรี เปิดคันขอบเหมืองแร่ดินซีเมนต์ที่สิ้นสุดการทำเหมืองแล้ว ให้เป็นพื้นที่แก้มลิงสามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 6.6 ล้านลูกบาศก์เมตรช่วยป้องกันน้ำท่วมนาข้าวในพื้นที่มากกว่า 1,000 ไร่ และบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่โดยรอบ เมื่อช่วงสถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา

 

3) เหมืองใน จ.นครสวรรค์ จ.ลพบุรี จ.นครศรีธรรมราช อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นแหล่งน้ำ จุดเรียนรู้ และพื้นที่สันทนาการสำหรับชุมชนใช้ประโยชน์ นับเป็นต้นแบบความร่วมมือการนำทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่า และพัฒนาพื้นที่เพื่อชุมชนใช้ประโยชน์ในอนาคต ส่งผลให้อุตสาหกรรมและชุมชนเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน