สปสช. คาดใช้ 5 หมื่นลบ. สู้ "โอมิครอน" จัดระบบส่งต่อผู้ป่วยใน 6 ชม.

สปสช. คาดใช้ 5 หมื่นลบ. สู้ "โอมิครอน" จัดระบบส่งต่อผู้ป่วยใน 6 ชม.

สปสช. หวั่นผู้ป่วยโควิดรอบใหม่สูงกว่าเตียงรองรับ คาดใช้งบรับมือ 50,000 ล้านบาท จัดระบบส่งต่อ Home Isolation , Community Isolation และ โรงพยาบาล ภายใน 6 ชั่วโมง รับสายด่วน 1330 รองรับ 20,000 สายต่อวัน เปิดจุดตรวจ “ATK” ฟรี รู้ผลใน 30 นาทีที่ศูนย์ราชการฯ 11-21 ม.ค. 65

หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 "โอมิครอน" รวมถึงเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ในหลายจังหวัด ทำให้ขณะนี้ผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งขึ้นมากกว่า 8,000 ราย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อผู้ป่วยเข้าระบบ คาดการณ์ว่าปีนี้อาจจะต้องใช้งบประมาณราว 50,000 ล้านบาท ในการรองรับมือผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น 

 

โดยขณะนี้ได้รับอนุมัติแล้ว 31,000 ล้านบาท และเตรียมเจ้าหน้าให้บริการเข้าสายด่วน 1330 ซึ่งคา่ดว่าจะมียอดโทรสอบถาม สูงสุดกว่าวันละ 20,000 สาย พร้อมทั้ง ระบบ Home Isolation และ Community Isolation ช่วยผู้ป่วยที่อาการไม่หนัก ไม่มีโรคประจำตัว ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง และมีสถานที่ที่พร้อมสามารถรักษาที่บ้านได้

 

“นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จากประสบการณ์ปีที่ผ่านมาพบว่าเมื่อมีการติดเชื้อจำนวนมาก สิ่งที่กังวลที่สุด คือ เมื่อจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าจำนวนเตียงรองรับ เพราะคนไข้ครองเตียงหมด อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้กำหนด เมื่อป่วยแล้วเข้าระบบ Home Isolation หรืออยู่โรงพยาบาล 10 วัน 


หน้าที่ของ สปสช. ในการรับมือสถานการณ์ โควิด-19 สิ่งแรก คือ ดูแลค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล ตรวจคัดกรองต่างๆ จัดเตรียมระบบการเบิกจ่ายงบประมาณเตรียมพร้อม “ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน” ( Home Isolation : HI) เพื่อรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้หน่วยบริการร่วมระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านเพิ่มขึ้น โดยปรับปรุงแนวทางการจ่ายชดเชยค่าบริการเพื่อให้เกิดการสนับสนุนการบริการที่เหมาะสม

 

สปสช. คาดใช้ 5 หมื่นลบ. สู้ \"โอมิครอน\" จัดระบบส่งต่อผู้ป่วยใน 6 ชม.

รวมถึงการเบิกจ่ายที่รวดเร็วขึ้น และอีกหน้าที่หนึ่งที่เพิ่มเติม คือ การพยายามทำให้ผู้ป่วยได้เข้าสู่ระบบการรักษาอย่างรวดเร็วภายใน 6 ชั่วโมง ทำหน้าที่จับคู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าระบบ Home Isolation / Community Isolation และ โรงพยาบาล โดยเปิด สายด่วน 1330 เพิ่มขึ้นเพื่อจะรับผู้ป่วยที่อาจจะยังหาหน่วยบริการเข้าระบบไม่ได้

 

“การระบาดระลอกที่ผ่านมา เคยเปิดถึง 3,000 คู่สาย มีเจ้าหน้าที่ถึง 500 คน เคยรับสายสูงสุดถึง 25,000 กว่าสายต่อวัน ปัจจุบัน เมื่อสถานการณ์เริ่มมีคนติดเชื้อมากขึ้น มีสายเข้าประมาณ 6,000 สายต่อวัน สปสช. ได้เริ่มเพิ่มจำนวนผู้รับสาย ซึ่งขณะนี้มีราว 300 คน และจะทยอยเพิ่มจำนวนผู้รับสายขึ้นในสัปดาห์หน้าเพื่อรองรับกับผู้ป่วยที่อาจจะโทรเข้ามา เป็นการเตรียมพร้อมสถานการณ์ รวมถึงมีการพูดคุยกับอธิบดีกรมการแพทย์ว่าจะมีการใช้โรบอททดลองโทรเข้าวันละ 20,000 สาย ว่าจะสามารถรับไหวหรือไม่ อยู่ระหว่างดำเนินการทดสอบเร็วๆ นี้”

 

  • เข้าระบบรักษาภายใน 6 ชั่วโมง

 

การเตรียมความพร้อมดังกล่าว ถือเป็นการปฏิบัติตามนโยบายของกรมการแพทย์ ที่ต้องนำผู้ป่วยที่โทรเข้ามาเข้าระบบการรักษาให้ได้ภายใน 6 ชั่วโมง หากภายใน 6 ชั่วโมง เอาเข้าระบบการรักษาไม่ได้จะมีการโทรซ้ำซ้อนทำให้ระบบรวน ดังนั้น ต้องชี้แจงกับประชาชนที่อาจจะตรวจ ATK เองแล้วเป็นบวก หรือไปตรวจที่อื่นเป็นบวก แล้วยังหาเตียงไม่ได้ว่า ใน 6 ชั่วโมงเราจะจัดเข้าระบบให้ได้

 

"ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยเข้าระบบ Home Isolation ใน 2-3 วันที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมาก ข้อมูลวันที่ 6 ม.ค. รับเข้าระบบราว 1,000 ราย วันที่ 7 ม.ค. รับเข้าระบบราว 1,500 ราย ต้องพยายามจับคู่ให้ได้ 6 ชั่วโมงกับหน่วยบริการที่มีศักยภาพ เพราะหากเริ่มบริการ Home Isolation เร็ว ผู้ป่วยจะเกิดความมั่นใจ"

“สำหรับบริการ Home Isolation ยังคงให้บริการเหมือนเดิม คือ อาหาร 3 มื้อ อุปกรณ์เครื่องวัดอุณภูมิ เครื่องวัดออกซิเจน ยา วิดีโอคอลอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และกักตัวประมาณ 10 วัน ในกรณีที่ไม่มีข้อห้ามที่จะอยู่บ้าน แต่หากเป็นกลุ่มเสี่ยง สูงวัย ไม่ได้ฉีดวัคซีน อ้วน มีโรคประจำตัว กลุ่มนี้จะต้องเข้าโรงพยาบาล”

 

ขณะเดียวกัน ในเรื่องของการเตรียมพร้อมงบประมาณ ครม. มีการอนุมัติโครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ ปี 2565 รอบที่ 1 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรอบวงเงิน 31,662.9175 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการสถานพยาบาลที่ให้บริการสาธารณสุขโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศ 

 

  • คาดใช้งบราว 5 หมื่นล้านรับมือ

 

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่างบประมาณดังกล่าวอาจจะไม่เพียงพอ เนื่องจากมีการเบิกเข้ามาเดือนละประมาณ 10,000 ล้านบาท ประมาณการณ์ว่าปีนี้จะใช้ราว 50,000 ล้านบาทเท่ากับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์โอมิครอนว่าต้องเปลี่ยนมาตรการหรือไม่เพราะจะมีผลต่อค่าใช้จ่าย

 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า ต้องยอมรับว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็อยากจะเข้าโรงพยาบาล แต่ตอนนี้เรารู้ว่าหากเป็นโอมิครอน อาการไม่รุนแรง สามารถรักษาที่บ้านได้ ดังนั้น ตอนนี้เราจึงอยากจะเปลี่ยนว่าเป็นไปได้หรือไม่หากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงให้อยู่บ้านและเราดูแล ซึ่งต้องทำความตกลงกับผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาว่าพร้อมหรือไม่ ต้องซักประวัติให้ดีว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ได้รับวัคซีนหรือยังเพราะเชื่อว่าคนที่ได้รับวัคซีนจะอาการไม่เยอะ และหากอายุไม่เยอะ ไม่มีโรคประจำตัว ก็อยู่บ้านได้ โดยเราจะส่งอาหาร ยา ไปให้

 

“บางคนที่ไปตรวจที่หน่วยบริการและเจอผลบวก บางหน่วยบริการก็รับเข้าระบบเลยไม่ได้โทรเข้าสายด่วน 1330 ทุกคน รอบนี้ต้องเรียนว่าไม่ใช่แค่ กทม. แต่เป็นทั่วประเทศที่ระบาด โดยจังหวัดที่โทรเข้าสายด่วน 1330 ส่วนใหญ่เป็นจุดที่มีคลัสเตอร์ เช่น เชียงใหม่ อุบลราชธานี ขอนแก่น”

 

อย่างไรก็ตามขอแนะนำประชาชนว่าหากพบผลบวกแล้วที่บ้านเหมาะจะเป็น Home Isolation ก็แนะนำให้ทำเป็น Home Isolation เพราะเชื่อว่าอาการไม่รุนแรง ทั้งนี้หน่วยบริการทุกระดับสามารถตรวจ ATK ได้ และขณะนี้ประชาชนก็ซื้อเองประมาณ 30-40 บาท ราคาแล้วแต่ยี่ห้อ อย่างไรก็ตาม เมื่อคนเข้าถึง ATK ง่าย ต้องยอมรับว่าบางครั้งผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการเลย แต่ซื้อมาตรวจก็เจอ

 

  • ตรวจ ATK ฟรีที่ศูนย์ราชการฯ

 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์โรค โควิด-19 ที่เริ่มกลับมาระบาดหนักจนมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ขณะเดียวกันก็มีประชาชนที่ต้องการเข้ารับการตรวจหาเชื้อเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน สปสช. ประสานงานคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่มจุดตรวจโควิด-19 เชิงรุก เพื่อสนับสนุนกรุงเทพมหานครและเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน โดยจะเริ่มตรวจตั้งแต่วันที่ 11-21 ม.ค. 2565 (หยุดวันเสาร์-อาทิตย์) เป็นต้นไป

 

สปสช. คาดใช้ 5 หมื่นลบ. สู้ \"โอมิครอน\" จัดระบบส่งต่อผู้ป่วยใน 6 ชม.

 

โดยตั้งเป้าตรวจวันละ 1,000 คน จุดตรวจเป็นจุดเดิมที่เคยเปิดตรวจโควิดด้วย ATK เมื่อเดือน ก.ค.2564 คือ ลานจอดรถชั้น 1 อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ โดย คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นผู้ตรวจ เป็นความร่วมมือระหว่าง สปสช. คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.)

 

การตรวจหาเชื้อโควิดดังกล่าว จะใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK ที่ขึ้นทะเบียนแบบใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ (Professional Use) ซึ่งจะทราบผลตรวจภายใน 30 นาที โดยหากปรากฎว่าผลตรวจเป็นบวกหรือติดเชื้อก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หรือในระบบชุมชน (Community Isolation)

 

“ซึ่งขณะนี้กรุงเทพมหานคร รวมถึงภาคประชาสังคมได้ดำเนินการแล้ว โดยเมื่อทราบผลว่าติดเชื้อซึ่งส่วนใหญ่การพบการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มการตรวจเชิงรุกคือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือกลุ่มสีเขียว ก็จะมีการรายงานผลเข้าระบบฐานข้อมูลของ สปสช. ส่วนท่านกลับไปกักตัวที่บ้านก่อน อย่าออกไปไหน สปสช.จะจับคู่สถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อการดูแลให้ ซึ่งก็จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อไปหาท่านภายใน 6 ชั่วโมงตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้” ทพ.อรรถพร กล่าว

 

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้านจะได้รับการดูแลติดตามอาการ บริการส่งยา ส่งอาหาร ส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ ที่วัดไข้แบบดิจิทัล เครื่องวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว เป็นต้น ในกรณีที่จำเป็นอาจได้รับการเอกซเรย์ปอด การตรวจ RT-PCR จนหายป่วย หรือส่งต่อไปรักษาต่อในโรงพยาบาลกรณีอาการเปลี่ยนแปลง

 

สปสช. คาดใช้ 5 หมื่นลบ. สู้ \"โอมิครอน\" จัดระบบส่งต่อผู้ป่วยใน 6 ชม.

 

  • เข้าสู่ระบบ Home Isolation

 

สำหรับ ผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษา ให้ดำเนินการตามนี้เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) 1.โทร. สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 หรือ 2.กรอกข้อมูลที่ https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI หรือ 3. เข้าทางไลน์ สปสช.โดยเพิ่มเพื่อน @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 (เลือกเมนูบริการเกี่ยวกับโควิด-19 หลังจากนั้นเลือกลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation)

 

ต่างจังหวัดสามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือ รพ.สต.ใกล้บ้านได้ แต่หากไม่สะดวก ติดต่อ 3 ช่องทางข้างต้น (ช่องทางใดช่องทางหนึ่ง) ได้เช่นกัน ภายใน 6 ชั่วโมงจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อประเมินอาการเบื้องต้น (หากยังไม่ได้รับการติดต่อกลับภายใน 6 ชั่วโมงขอให้โทร.แจ้งที่สายด่วน สปสช. 1330 อีกครั้ง ทางเจ้าหน้าที่จะติดตามให้) โดยเจ้าหน้าที่จะประสานและจับคู่กับสถานพยาบาลเพื่อรักษาตามระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านต่อไป กรณี โทร.สายด่วน 1330 ไม่ติด เนื่องจากมีประชาชน โทร.เข้ามามาก ไม่ต้องกังวล สปสช.จัดเจ้าหน้าที่โทรกลับสายที่โทรไม่ติดเพื่อรับข้อมูลเข้าระบบ

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือไลน์ สปสช. คลิก  เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso หรือไลน์ สปสช-ตรวจโควิด พิมพ์เพิ่มเพื่อน @218qffqr

 

สปสช. คาดใช้ 5 หมื่นลบ. สู้ \"โอมิครอน\" จัดระบบส่งต่อผู้ป่วยใน 6 ชม.