เครือข่ายจิตอาสา ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต้องทำอย่างไรบ้าง?

เครือข่ายจิตอาสา ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต้องทำอย่างไรบ้าง?

สปสช.ประชุมเครือข่ายจิตอาสา ร่วมแก้ปัญหาที่เครือข่ายจิตอาสาประสบ พร้อมหนุนเสริมการทำงานเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19

ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วานนี้ (12 มกราคม 2565) สปสช.ได้ประชุมกับเครือข่ายจิตอาสาที่ได้ช่วยเหลือดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้เข้าสู่ระบบการรักษา ซึ่งเป้าหมายของ สปสช.ในการประชุมร่วมกันครั้งนี้เพื่อสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายจิตอาสา และต้องการทราบว่าเครือข่ายจิตอาสาต้องการให้ สปสช.ดำเนินการด้านใดบ้างในบทบาทที่ สปสช.ทำได้เพื่ออำนวยความสะดวกให้จิตอาสาสามารถทำงานช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้คล่องตัวมากขึ้น

ที่ผ่านมา สปสช.ได้ทำงานร่วมกับทีมจิตอาสา คือรับผู้ป่วยต่อจากทีมจิตอาสาเพื่อประสานหาหน่วยบริการดูแลให้ รวมถึงการประสานหาเตียงใน รพ.กรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการแย่ลง

 

  • สปสช.แก้ไขปัญหาเครือข่ายจิตอาสา

ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวต่อว่า จากการหารือวานนี้ เครือข่ายจิตอาสาได้สะท้อนปัญหาที่พบเจอในการช่วยเหลือดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นความยากลำบากในการประสานงานและติดต่อกับภาครัฐ ตั้งแต่การไม่เป็น one stop service ทำให้แต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำ ไม่เป็นระบบ จิตอาสาต้องประสานกับหลายหน่วยงานกว่าที่จะได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยที่รอคอยมีอาการแย่ลง

ในส่วนของสิ่งที่ต้องการให้ สปสช.แก้ไขและช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนการทำงานนั้น เช่น ต้องการให้จัดทำการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในลักษณะของ patient journey หรือเมื่อประชาชนมีอาการสงสัยว่าป่วยโควิด จะหา ATK ที่ สปสช.สนับสนุนได้อย่างไร หรือเมื่อตรวจ ATK แล้วพบว่าติดเชื้อต้องทำอย่างไรต่อ หากคนไข้อาการหนักขึ้น จะส่งต่อเข้าระบบอย่างไร ไม่ให้ล่าช้า

รวมไปถึงการต้องมี one stop service หรือการติดต่อหน่วยงานรัฐให้เบ็ดเสร็จในจุดเดียว และการเชื่อมข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วย

 

  • เสริมความเข้าใจเครือข่ายจิตอาสาพร้อมดูแลผู้ป่วย

รวมไปถึงรายละเอียดการดูแลผู้ป่วย เช่น กรณีต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย สปสช.สามารถใช้งบประมาณสนับสนุนรถแท็กซี่ที่เข้ามาร่วมให้บริการได้หรือไม่ รวมไปถึงการขั้นตอนการจ่ายยา-การส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 บทบาทของร้านขายยาที่จะเข้ามาช่วยเสริมการคัดกรองและการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน

กรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตกค้างไม่ได้รับการจับคู่ดูแลกับสถานพยาบาล ต้องทำอย่างไร และอื่นๆ ซึ่งข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ สปสช.รับไปดำเนินการ และจะมีการนัดประชุมอีกครั้งในเร็วๆ นี้ เพื่อสรุปแนวทางทำงานร่วมกันต่อไป

ทั้งนี้ เครือข่ายจิตอาสาที่เข้าร่วมประชุมหารือวานนี้กว่า 80 คนมีทั้งจากเครือข่ายภาคประชาชน ภาคธุรกิจ แพทย์ พยาบาล เภสัชกรอาสา และมูลนิธิต่างๆ เข้าร่วมประชุม