กลไก 3 หมอ ดูแล 30 ล้านครอบครัว รับ "สังคมสูงวัย" แบบไร้รอยต่อ

กลไก 3 หมอ ดูแล 30 ล้านครอบครัว รับ "สังคมสูงวัย" แบบไร้รอยต่อ

ว่ากันว่า ปี 2566 ไทยจะมี "ผู้สูงอายุ" เพิ่มขึ้น 1 ล้านคนต่อปี การรับมือสังคมสูงวัยไม่เพียงแค่เรื่องสุขภาพเท่านั้น ต้องดูครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจและสังคมด้วย โดยที่ผ่านมา สธ. ได้วางกลไก 3 หมอ ดูแล 30 ล้านครอบครัว ระบบดูแลคนไทยแบบไร้รอยต่อเพื่อ ตอบรับ "สังคมสูงวัย"

ปี 2548 ไทยก้าวสู่ "สังคมสูงวัย" มีผู้สูงอายุ 10% ปี 2562 เป็นปีแรกที่มีประชากรสูงอายุมากกว่าประชากรเด็ก คือ มีผู้สูงอายุ 18% เด็ก 15.9% ปี 2565 ก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีผู้สุงอายุ 20% และ ปี 2575 ก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ระดับสุดยอด มีผู้สูงอายุ 28% 

 

ขณะที่ในปี 2579 ประเทศไทยตั้งเป้าหมายอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 80 ปี โดย 79.5% ดูแลตัวเองได้ 19% พึ่งตนเองได้บางส่วน และ 1.5% พึ่งพาทั้งหมด 

 

การเปลี่ยนภาระ เป็นพลัง รวมถึงการดูแลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ เป็นโจทย์ที่ท้าทายของประเทศ และต้องการการทำงานแบบบูรณาการทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับนโยบาย โดยที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้วางกลไก 3 หมอ ดูแลคนไทย รวมถึงเตรียมรับผู้สูงอายุแบบไร้รอยต่อ ตั้งแต่ระดับ อสม. ครอบครัว ไปจนถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 

 

วันนี้ (6 ม.ค. 65) “นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์” อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวในการเสวนาออนไลน์ 3 หมอดูแลใส่ใจผู้สูงวัยแข็งแรง ตอน นโยบาย ทิศทาง ผู้สูงอายุของไทย เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Long Term Care Forum ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สบส.กระทรวงสาธารณสุข โดยระบุว่า สถานการณ์ผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญที่จะใช้กลไก 3 หมอ ทำให้ระบบการส่งต่อบริการระดับปฐมภูมิไปสู่ประชาชนในพื้นที่ได้

 

  • นโยบาย สธ. 9 ด้าน 

 

ในส่วนของ กระทรวงสาธารณสุข การขับเคลื่อนเรื่อง ผู้สูงอายุ อยู่ภายใต้นโยบายมุ่งเน้นกระทรวงสาธารณสุข ปี 2564 – 2565 มีทั้งหมด 9 ด้าน ได้แก่

 

1. ระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็ง

2. เศรษฐกิจสุขภาพ

3. สมุนไพรกัญชา กัญชง

4. สุขภาพวิถีใหม่

5. COVID-19

6. ระบบบริการก้าวหน้า

7. ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม

8. ธรรมาภิบาล

9. องค์กรแห่งความสุข

  • เป้าหมาย ผู้สูงอายุ มีพฤติกรรมสุขภาพดี 50% 

 

โดยเฉพาะใน ด้านที่ 1 ระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็ง การยกระดับบริการปฐมภูมิให้คนไทยทุกครอบครัวมีหมอ 3 คน เชื่อมการดูแลผู้สูงอายุ พัฒนาระบบทุติยภูมิในการเชื่อมต่ออย่างมีประสิทธิภาพ และ ด้านที่ 7 การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม โดยเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มสูงอายุ เป้าหมายคือผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวอย่างมีสุขภาวะ เป้าหมาย คือ

 

1. ประชากรผู้สูงอายุมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ร้อยละ 50

2. ผู้สูงอายุที่ผ่านการคัดกรองและพบว่าเป็นกลุ่มโรคเฉพาะในผู้สูงอายุ (Geriatric Syndromes) ได้รับการดูแลรักษาคลินิกผู้สูงอายุ

3. พัฒนาเรื่องการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว การดูแลผู้สูงอายุในชุมชนร้อยละ 98

 

  • "3 หมอ" ดูแลแบบไร้รอยต่อ

 

พร้อมทั้ง นโยบายบูรณาการระบบสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ขับเคลื่อนการดำเนินงานดูแลผู้สูงอายุแบบไร้รอยต่อในชุมชน รองรับสังคมสูงวัยในปี 2564 – 2565 ตามแนวทางการปฏิรูป Big Rock 3 ได้แก่

 

หมอที่ 1 การคัดกรองพื้นฐาน ผ่าน อสม. นักบริบาล และครอบครัว เมื่อคัดกรองเสร็จ นำไปสู่

หมอที่ 2 คัดกรองเพื่อระบุสาเหตุ ยืนยันความผิดปกติ ความเสี่ยง โดย เจ้าหน้าที่สาธารณสุข แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และ หากต้องการการรักษาระดับสูง จะทำการส่งต่อไป

หมอที่ 3 ได้แก่ คลินิกผู้สูงอายุ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

  • 3 หมอ ดูแล 30 ล้านครอบครัว

 

ทั้งนี้ เป้าหมาย “คัดกรองสุขภาพพื้นฐานสูงวัยในชุมชน” 9 เมนู ได้แก่ การพลัดตกหกล้ม ภาวะโภชนาการ การมองเห็น การได้ยิน ภาวะซึมเศร้า ภาวะสมองเสื่อม การกลั้นปัสสาวะ และสุขภาพช่องปาก ดำเนินการแล้ว 7 จังหวัดนำร่องและจะขยายผลจังหวัดใกล้เคียง

ขณะที่ “ทีม 3 หมอ” ได้แก่ อสม. หมอประจำบ้าน หมอสาธารณสุข และหมอประจำครอบครัว ร่วมดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน เน้นการป้องกัน ดูแลต่อเนื่อง และดูแลแบบผสมผสาน เป้าหมาย 30 ล้านครอบครัว ดำเนินการแล้ว 26 ล้านครอบครัว อสม. 818,446 คน

 

และ “การส่งเสริมศักยภาพสูงวัย” ให้เข้าถึงบริการและพึ่งพาตนเองทางสุขภาพ ลดเสี่ยง พัฒนาต้นแบบตำบล จัดการคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เป้าหมาย 5 ภูมิภาค

 

  • สร้างมาตรฐาน สถานประกอบการดูแลผู้สุงอายุ

 

ขณะเดียวกันการดูแล "ผู้สูงอายุ" ในเขตเมือง โดยใช้ พ.ร.บ.สถานประกอบการ กำหนดให้สถานกิจการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2563 ที่ต้องได้ตามมาตรฐาน กำหนดให้มี 3 ลักษณะ คือ

 

1. ลักษณะของ Day Care ดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงระหว่างวัน ไม่มีการพักค้างคืน

2. การให้บริการดูแลผู้สูงอายุ ที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริม ฟื้นฟูสุขภาพ แบบมีที่พำนักอาศัย

3. ลักษณะการให้การดูแลประคับประคองผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ที่มีการจัดกิจกรรมดูแล ส่งเสริม ฟื้นฟู โดยมีการพักค้างคืน

 

“ขณะนี้ กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว มีสถานประกอบการได้มาตรฐาน 340 แห่ง ผู้ดำเนินการดูแลผู้สูงอายุหรือมีภาวะพึ่งพิง 1,478 ราย สถาบันที่ได้รับรองหลักสูตรผู้ดำเนินการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง 130 ชั่วโมง จำนวน 12 สถาบัน ผู้ให้บริการดูแลผู้สูงอายุขึ้นทะเบียน 4,285 ราย สถาบันที่ได้รับการรับรองหลักสูตร ผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง จำนวน 36 สถาบัน คาดว่าจะมีส่วนช่วยในการผลักดันดูแลผู้สูงอายุให้แข็งแรงโดยใช้กระบวนการ 3 หมอเป็นหลัก” นพ. ธเรศ กล่าว

 

  • 5 ประเด็นสำคัญ ปฏิรูปสาธารณสุข

 

ด้าน “นพ.โสภณ เมฆธน” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง ทิศทางการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข มี 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1.โรคติดต่อ 2.ผู้สูงอายุ 3.โรคที่จะมากับผู้สูงอายุ 4.การเงิน กองทุน ลดความเหลื่อมล้ำ และ 5.การบริหารจัดการ

 

มี 4 เขตนำร่อง โดยจัดการบูรณาการร่วมท้องถิ่น ให้มีประสิทธิภาพในพื้นที่โดยมีเรื่องของกำลังคน ข้อมูลสารสนเทศ เทคโนโลยีสุขภาพ การเงินการคลัง และภาวะผู้นำและอภิบาลระบบ ผ่านระบบบริหารระดับเขตสุขภาพในการดูแล

 

"เป้าหมายเพื่อให้ประเทศ มีเขตสุขภาพที่มีระบบบริหารจัดการแบบบูรณาการและร่วมรับผิดชอบระหว่างหน่วยงานท้องถิ่น มีความคล่องตัว ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล สามารถทำให้เกิดผลสำเร็จในพื้นที่ตามเป้าหมายของการปฏิรูปประเทศด้านการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โรคไม่ติดต่อ ผู้สูงอายุ ระบบหลักประกันสุขภาพและกองทุนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนโยบายกระทรวงสาธารณสุข 30 บาทรักษาทุกที่" 

 

  • ป้องกัน NCD ตั้งแต่วัยทำงาน 

 

รวมถึงการขับเคลื่อนกิจกรรมในการป้องกัน รักษาโรคไม่ติดต่อ (NCD) ตั้งแต้ในวัยทำงาน คือ

1. นโยบายในที่ทำงาน ทำอย่างไรให้ไม่เกิดโรค NCD

2. ชุดสิทธิประโยชน์ที่เน้นรูปแบบบริการเชิงนวัตกรรมใช้เทคโนโลยี

3.ระบบข้อมูลสุขภาพที่ดูแลอาการและมีมาตรฐานข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล

4.มาตรการทางกฎหมายและภาษี เช่น พ.ร.บ.ลดหวาน และมีการขับเคลื่อน พ.ร.บ.ลดเค็ม

 

  • ผู้สูงวัยไทย โรคประจำตัวสูงขึ้น

 

“ศ.นพ. ประเสริฐ อัสสันตชัย” นายกสมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย กล่าวถึง สถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทยว่า ปัญหาต่างๆ ของโรคเรื้อรังมี ข้อมูลรวบรวมจาก 2 กลุ่มประเทศ คือ ประเทศฐานะปานกลางถึงร่ำรวย และประเทศฐานะปานกลางถึงยากจน อันดับ 1 คือ CVD หรือ กลุ่มโรคเกี่ยวกับหัวใจหรือหลอดเลือด โดยทั้งสองกลุ่มประเทศมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน อันดับ 2 คือ โรคมะเร็ง อันดับ 3 โรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งพบในประเทศปานกลางถึงร่ำรวย ขณะที่ อันดับ 4 โรคกระดูกและข้อพบในประเทศปานกลางถึงยากจน

 

ส่วนใน ประเทศไทย จากการสำรวจของสถาบันวิจัยสาธารณสุข และสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข โดยสำรวจสุขภาวะสุขภาพของประชาชนไทย ด้วยการตรวจร่างกายครั้งที่ 3 ระหว่างปี 2546-2547 และ ครั้งที่ 4 ปี 2551 – 2552 พบว่า ความดันโลหิตสูงลดลง แต่เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อัมพฤกษ์อัมพาต โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และไตวายเรื้อรังสูงขึ้น

 

  • ปี 2566 ไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มปีละ 1 ล้านคน

 

ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า ปี 2506 – 2526 ช่วงนั้นเด็กไทยเกิดปีละมากกว่า 1 ล้านคน ดังนั้น เด็กกลุ่มนี้จะกลายเป็นผู้สูงอายุ ในปี 2566 จะมีผู้สูงอายุเข้ามาในระบบปีละ 1 ล้านคน เรื่อยๆ ถึง 20 ปี เป็นสึนามิ ดังนั้น ต้องช่วยเปลี่ยนจาก วัยเกษียณ เป็นพลังไม่เช่นนั้นประเทศเราจะไปไม่รอด ขณะที่ระดับของความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งท้าทาย

 

  • สิ่งแวดล้อม สร้างพลัง ลดภาระ

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) มองว่า ต้องดูเรื่องของ “สิ่งแวดล้อม” เพราะปัจจัยด้านความสามารถของแต่ละคน ขึ้นกับสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น ผู้สูงอายุ 65 ปี ปวดเข่า อยู่แต่บ้าน ไปไหนไม่ได้ แต่หากสามารถปรับสิ่งแวดล้อมให้ไปข้างนอกได้ ไม่ว่าจะเป็นไม้เท้า รถเข็น หรือขึ้นรถเมล์ได้สะดวก เป็นสิ่งแวดล้อมที่ต้องปรับเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเดินทางได้ เปลี่ยนภาระ เป็นพลังได้

 

  • 4 แนวคิดสู่ทศวรรษสุขภาพดี 

 

ล่าสุด WHO มีคอนเซ็ปต์ในเรื่องของ Healthy Aging หรือ ทศวรรษแห่งการมีสุขภาพดี ปี 2020 – 2030 ดังนั้น เหลือเวลาอีก 8 ปี ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ทำให้ได้ มีการเสนอ 4 แนวคิด คือ

 

1.ปรับระบบสุขภาพให้ตอบรับกับผู้สูงอายุ ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุไม่ป่วย ปรับระบบอย่างไรให้เป็น One stop service

2. Long term care ระบบประกันสุขภาพระยะยาว

3. ระบบปรับสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อผู้สูงอายุ

4.ระบบติดตาม และงานวิจัยในเรื่องต่างๆ

 

  • อุบัติการณ์ขาดสารอาหารในผู้สูงวัย

 

ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า ขณะที่ภาวะขาดสารอาหารในผู้สูงอายุไทยก็สำคัญ จากการเจาะเลือดผู้สูงอายุในประเทศไทย 2,336 คน ทั้ง 4 ภาคของประเทศ ในปี 2007 อุบัติการณ์ขาดสารอาหารของผู้สูงอายุที่สบายดีในชุมชน พบว่า

 

- ขาดวิตามินอี 55% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วขาดเพียง 2% โดย วิตามินอี มีมากในเมล็ดธัญพืช และที่ผู้สูงอายุไทยขาดวิตามินอี เนื่องจากฟันไม่ดี เคี้ยวของแข็งไม่ได้

- ขาดโฟเลต 38.8% 

- ขาดวิตามินบี 1 กว่า 30.1% 

 

"จะเห็นว่าการแก้ปัญหาผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งการที่ผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพ อาจมาจากการเคี้ยวไม่ได้ ซึ่งนอกจากจะพบแพทย์แล้ว ยังต้องพบทันตแพทย์ร่วมด้วย" 

 

  • ลักษณะผู้สูงอายุที่แตกต่างจากผู้ป่วยทั่วไป

 

สำหรับ ลักษณะผู้สูงอายุที่แตกต่างจากผู้ป่วยทั่วไป คือ R-A-M-P-S ได้แก่

 

- Reduced body reserve พลังสำรองร่างกายลดลง ไม่ใช่แค่ผมหงอก ผิวเหี่ยวย่น แต่หมายถึงอวัยวะที่เสื่อมลง

- Atypical presentation อาการแสดงที่ไม่แน่นอน การมาหาหมออาจจะมาจากหลายอาการ  

- Multiple pathology มีหลายโรค ในเวลาเดียวกัน

- Polypharmacy ได้รับยาหลายชนิด

- Social adversity ปัญหาด้านสังคม ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพด้วย