ความท้าทายของระบบสุขภาพในอนาคต | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ความท้าทายของระบบสุขภาพในอนาคต | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 อันเป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่มาจนปัจจุบันร่วมสองปี เราได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ มากมายจากการจัดการกับวิกฤตครั้งนี้

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งการใช้ดิจิทัลในชีวิตประจำวันรวมถึงด้านสุขภาพของคนไทย ซึ่งน่าจะสามารถพัฒนาต่อยอดให้เป็นการใช้บริการแพทย์ทางไกลอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต
 
ภายใต้สถานการณ์วิกฤตนี้ เราพบว่าประชาชนได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพของตนเองตลอดจนครอบครัวและชุมชนสูงมากขึ้น หลายคนมีทักษะความรอบรู้มากขึ้นในการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน 

เราได้เห็นการเกิดขึ้นของโมเดลการบริการสุขภาพรูปแบบใหม่ๆ ทั้งการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ชุมชน การมีส่วนร่วมทำงานกันแบบข้ามวิชาชีพและข้ามหน่วยงาน รวมถึงการทำงานของบุคคลต่างๆ นอกวิชาชีพสาธารณสุขทั้งจากภาครัฐ เอกชนและประชาชน ที่มาร่วมกันทำงานช่วยเหลือในการบริหารจัดการสาธารณสุขในภาวะวิกฤต 

เราเห็นโมเดลการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Isolation) การดูแลผู้ป่วยในชุมชน (Community Isolation) และการดูแลผู้ป่วยในโรงแรมที่จัดระบบไว้ (Hospitel) นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้รับข้อมูลสุขภาพขนาดใหญ่ (Health Big Data) จากประชาชนที่มาตรวจเชื้อไวรัสหรือลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีน ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะนำไปต่อยอดในการจัดทำฐานข้อมูลสุขภาพรายบุคคลของคนไทย  

สถานการณ์โควิด-19 ยังทำให้เห็นจุดอ่อนของระบบสุขภาพที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะในการจัดการบริการสุขภาพปฐมภูมิในเขตเมือง (Urban Primary Care System) โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ยังไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ดีอย่างในกรณีบริการสุขภาพปฐมภูมิในชนบท ซึ่งเกิดขึ้นจากทั้งลักษณะภูมิสังคมของประชาชนในเขตเมืองที่แตกต่างจากเขตชนบทมาก และระบบกลไกและกฎระเบียบในการบริหารจัดการในเขตเมืองที่มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งยังไม่สามารถทำงานบูรณาการกันได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก 

ทั้งนี้ ระบบสุขภาพของประเทศไทยในอนาคตจะยังเผชิญกับความท้าทายต่างๆ อีกหลายประการ ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันเตรียมการรองรับและเรียนรู้ต่อยอดจากประสบการณ์ในการจัดการวิกฤตที่เกิดขึ้น

ความท้าทายที่สำคัญคือ แนวโน้มความต้องการบริการสุขภาพที่สูงขึ้น (Healthcare Demand) อันเกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมสูงวัย (Ageing Society) ซึ่งแนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นจนมีสัดส่วนเกือบร้อยละ 30 ของประชากรไทยในอีก 14 ปีข้างหน้า

ความท้าทายของระบบสุขภาพในอนาคต | ธราธร รัตนนฤมิตศร

รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตสมัยใหม่ที่เร่งรีบและมีความเครียดสูง มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ ส่งผลต่อแนวโน้มการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) เพิ่มขึ้น รวมไปถึงโอกาสของการเกิดขึ้นของโรคอุบัติใหม่ในอนาคตเพิ่มขึ้น ในขณะที่อีกด้าน ประชาชนบางกลุ่มยังขาดความรอบรู้ด้านสุขภาพ ปัญหาข้อมูลล้นเกินและข่าวลวง และการขาดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้มีสุขภาวะที่ดี 

นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมือแพทย์ยังมีปัญหาการกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพและเมืองใหญ่ ซึ่งส่งผลให้ภาระงานในพื้นที่ต่างจังหวัดหรือพื้นที่ห่างไกลมีสูง อันนำมาสู่ปัญหาความแออัดของโรงพยาบาลและปัญหาการให้บริการสาธารณสุขได้อย่างมีคุณภาพสูงอย่างทั่วถึง 

อย่างไรก็ตาม โอกาสในการปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อเผชิญกับความท้าทายส่วนสำคัญน่าจะมาจากแนวโน้มของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดและสร้างให้เกิดวิธีการใหม่ๆ ในการนำมาใช้ในการบริหารจัดการในทุกวงการ ร่วมทั้งในระบบสุขภาพ โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่จะเปิดโอกาสให้ระบบสุขภาพสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและลดต้นทุนการให้บริการลงได้ เช่น โอกาสสำหรับการใช้บริการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) หรือบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ เพื่อช่วยให้คำปรึกษา ตรวจสอบอาการและกลั่นกรองเบื้องต้นก่อนที่ประชาชนจะมาโรงพยาบาลได้ ประชาชนสามารถใช้อุปกรณ์ติดตาม เช่น Smart Watch เพื่อตรวจสอบสุขภาพของตนเองและนำข้อมูลสุขภาพมาใช้ในการวิเคราะห์ 

นอกจากนี้ พัฒนาการของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน จีโนมิกส์ การพิมพ์สามมิติและอื่นๆ ที่พัฒนาขึ้นมากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรค ควบคุมโรค รักษาโรค และช่วยบริหารจัดการภายในระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนได้มากขึ้น  

ความท้าทายของระบบสุขภาพในอนาคต | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมในการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ วัคซีนและยารักษาโรค  และโอกาสของการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านสุขภาพเพื่อให้บริการทางการแพทย์อย่างแม่นยำและรายบุคคล (Personalized Medicine)  การเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพด้านสุขภาพ (HealthTech) ก็จะเป็นผู้เล่นใหม่ที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นในการให้บริการสุขภาพกับประชาชน 

 อย่างไรก็ตาม อนาคตยังมีความท้าทายในการวางระบบเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภัยคุกคามไซเบอร์ และความท้าทายในการการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติสูง หากไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศได้ รวมถึงความท้าทายจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงต่างๆ (Climate Change) ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ระบบสุขภาพต้องเตรียมพร้อมแนวทางในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินที่มีแนวโน้มเกิดถี่มากขึ้นในอนาคต

วิกฤตโควิด-19 น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทุกฝ่ายนำมาเรียนรู้ ถอดบทเรียนและประสบการณ์ แก้ไขจุดอ่อน คว้าโอกาสจากเทคโนโลยี และเดินหน้าพลิกโฉมระบบสุขภาพของประเทศไทยไปด้วยกัน.
คอลัมน์ : คิดอนาคต
ธราธร รัตนนฤมิตศร
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/