เช็ค! สถานที่เสี่ยงติดโควิด19 หลังสธ.ยกระดับเตือนภัย

เช็ค! สถานที่เสี่ยงติดโควิด19 หลังสธ.ยกระดับเตือนภัย

สธ.ชี้ทั่วโลกติดโควิด19พุ่ง แต่อัตราการเสียชีวิตลดลง ขอคนไทยงดไปสถานที่เสี่ยง-ไปต่างประเทศ เลี่ยงเดินทางข้ามจังหวัดที่ไม่จำเป็น ชงศบค.ปรับมาตราการ-ระดับสีพื้นที่ อาจมี 10 จังหวัดโดนเข้ม

เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวว่าสถานการณ์โควิด -19 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าว ว่า ทั่วโลกภาพรวมของโรคมีผู้ติดเชื้อเข้าใกล้ 300 ล้านคน โดยเฉพาะ อเมริกา อินเดีย บราซิล สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และในหลายๆ ทวีป ที่มีข้อสังเกตคืออัตราการเสียชีวิตเริ่มลดน้อยลงจากเดิม อยู่ที่ 2.2% ขณะนี้เหลือ 1.8% เพราะเชื้ออ่อนแรงลง มีการฉีดวัคซีนไปทั่วโลก และการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะผลกระทบจากการระบาดทั่วโลกจะมีผลกระทบถึงประเทศไทยด้วย

สำหรับประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่รายงาน 5,775 ราย เพิ่มมากกว่าค่าเฉลี่ยใน 7 วันย้อนหลังซึ่งอยู่ที่ 3,561 ราย เป็นวันที่ผู้ป่วยเพิ่มค่อนข้างมาก โดยเป็นผู้มาจากต่างประเทศ 215 รายจากระบบ test & go 135 ราย แซนด์บ็อกซ์ 62 ราย แต่แนวโน้มคนมีอาการหนักปอดอักเสบลดลง เหลือ 536 ราย และผู้ที่มีอาการมากต้องใส่ท่อช่วยหายใจก็ลดลง 146 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 11 คนแนวโน้มลดลง สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลก อีกทั้ง ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนไปค่อนข้างมากเกินร้อยล้านโดสแล้ว แนวโน้มก็จะเป็นคล้ายๆ แบบนี้ เพียงแต่การติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น รวมถึงยังต้องระมัดระวังสายพันธุ์โอมิครอน จากการมีกิจกรรมที่มีการเฉลิมฉลองคริสต์มาสและปีใหม่ ซึ่งยังต้องประเมินผลและแจ้งเตือนประชาชน

   ทั้งนี้เมื่อกลับมาแล้ว work from home ยังเป็นมาตรฐานสำคัญคนที่จำเป็นจะต้องกลับไปทำงานก็ขอให้ตรวจด้วยATKอย่างน้อย 2 ครั้งห่างกัน 3 วันเพื่อที่จะได้มีมาตรการในการระมัดระวังทั้งตัวท่านเองและบุคคลที่ทำงานร่วมกับท่าน กรณีมีผลตรวจATKบวกให้ติดต่อสายด่วน 1330 สปสช.เพื่อลงทะเบียนรับยา รับอุปกรณ์ในการติดตามและมีการรักษาเวลา 10 วัน และช่วงนี้ขอให้งดไปสถานที่เสี่ยงร้านอาหารกึ่งผับบาร์

สำหรับผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดในวันนี้เป็นผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีหรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เพราะฉะนั้น คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ขอให้ลูกหลานผู้เกี่ยวข้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขพาคนเหล่านี้ไปรับวัคซีน เพราะวัคซีนพิสูจน์หลายครั้งแล้วว่าลดการเสียชีวิตในผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังและผู้สูงอายุได้

ภาพรวมในแต่ละจังหวัด วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ จังหวัดชลบุรีมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเป็นอันดับ 1 อันดับ 2 คือสมุทรปราการ ส่วนกทม.ตกมาเป็นอันดับ 3 ถ้าสังเกตดูจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากส่วนใหญ่จะเป็นจังหวัดท่องเที่ยว จังหวัดที่มีคนเดินทางหนาแน่น รวมทั้งการเกิดคลัสเตอร์ในร้านอาหารกึ่งผับ บาร์ที่มีการดำเนินการดื่มสุราผิดตามมาตรการที่กำหนด ซึ่งมีหลายที่ เช่น อุบลราชธานี เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเรียบร้อยแล้ว

“ถ้าดูในภาพรวมแนวโน้นเส้นกราฟที่ทำนายเอาไว้ค่อนข้างขึ้นเร็ว ถ้าเป็นไปตามที่คาดการณ์ ถ้าไม่มีมาตรการหรือความร่วมมือของประชาชน ซึ่งจะขอความร่วมมือเพิ่มเติม จะทำให้มีผู้ติดเชื้อรายวันเกิน 10,000 รายได้ภายในเร็ววันนี้ ส่วนผู้เสียชีวิต ยังมีแนวโน้มลดลง แต่ต้องให้รับการฉีดวัคซีนเป็นหลักโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ตอนนี้ถึงแม้ว่าโอมิครอนจะมีอาการความรุนแรงลดลง แต่หากยังติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยงก็ยังมีความเสี่ยงเสียชีวิตได้” นพ.โอภาส กล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า จากการประชุม eoc กระทรวงสาธารณสุข เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ยกระดับการเตือนภัยจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว สิ่งที่จะดำเนินการคือ 1. ขอให้งดไปสถานที่เสี่ยง งดรับประทานอาหาร ดื่มสุราในร้านอาหาร สำหรับสถานที่เสี่ยงทุกประเภท เช่น สถานที่ที่ระบบระบายอากาศไม่ดี สถานที่มีคนอยู่ร่วมกันอย่างแออัด สถานที่ที่มีการใส่หน้ากากอนามัยน้อยมากหรือไม่ใส่หน้ากากอนามัย ตัวอย่างที่เห็นชัดคือร้านอาหารกึ่งผับบาร์ที่เป็นต้นตอการระบาดหลายคลัสเตอร์ที่กาฬสินธุ์และอุบลราชธานี 2. กิจกรรมที่มีคนรวมตัวเป็นหมู่มากขอให้หลีกเลี่ยงหรืองดการไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนรวมตัวอยู่เป็นหมู่มาก

3. การเดินทางข้ามจังหวัดขอให้งดโดยสารรถขนส่งสาธารณะทุกประเภทโดยไม่จำเป็น แต่หากมีความจำเป็นก็ขอให้ระมัดระวัง ซึ่งขณะนี้ขนส่งสาธารณะได้มีมาตรการค่อนข้างเข้มงวดไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัย การตรวจATKในยานพาหนะที่ต้องเดินทางร่วมกันเป็นเวลานาน ทั้งนี้ย้ำว่ายังเดินทางข้ามจังหวัดได้ แต่ขอให้เป็นกรณีจำเป็นเท่านั้น หากไม่จำเป็นก็ขอให้หลีกเลี่ยงและมีการป้องกันตัวเองอย่างเข้มงวด ส่วนการเดินทางไปต่างประเทศ ขณะนี้พบว่าประชาชนที่เดินทางไปต่างประเทศติดเชื้อกลับมาจำนวนมาก ดังนั้นตอนนี้หากไม่จำเป็นก็ขอให้งดเดินทางไปต่างประเทศ อย่างที่ทราบตอนนี้ ถ้าเทียบสถานการณ์ทั่วโลกกับประเทศไทยและไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรปมีการติดเชื้อสูงกว่าประเทศไทย
"ขอให้งดเดินทางไปต่างประเทศโดยไม่จำเป็น ส่วนคนไทยที่เดินทางกลับมาจะต้องถูกกักตัว ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข จะเสนอศบค.ในวันที่ 7 ม.ค.ให้เข้มงวดในเรื่องของการปรับมาตรการเพิ่มเติม และปรับระดับสีจังหวัด"นพ.โอภาสกล่าว

เมื่อถามว่ามีกี่จังหวัดที่จะปรับเป็นสีแดง สีแดงส้ม นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องนี้สธ.เตรียมเสนอ แต่ขอให้ผ่านการพิจารณาของศบค.ก่อน ซึ่งจะประชุมในวันที่ 7 ม.ค.นี้ ขณะนี้ถ้าดูสถานการณ์จะมีอยู่ 10 จังหวัดที่มีอัตราการติดเชื้อเกิน 100 รายต่อวัน แต่ก็จะต้องประเมินอีกครั้ง ส่วนมาตรการที่จะเข้าไปดำเนินการนั้นเบื้องต้นกรณีสีแดง สีแดงส้ม การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นทำไม่ได้หากพื้นที่ไหนถูกยกระดับก็ทำไม่ได้

ส่วนโรงเรียนไม่ถือเป็นพื้นที่เสี่ยง จุดที่เสี่ยงในโรงเรียนมี 2 จุดคือ 1. การรับประทานอาหารในโรงอาหาร 2. การทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่น การเชียร์กีฬา การร้องเพลง หากปรับตรงนี้ได้ก็ไม่ถือว่าเสี่ยง ขณะที่วันเด็กเสาร์ที่ 8 ม.ค.นี้ ขอให้ประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงกัน อย่างกรณีมีกิจกรรมโรงหนังให้เด็กเข้าไปดูหนังฟรีนั้นหากมีระบบระบายอากาศดี มีการจำกัดจำนวนคน มีการสวมหน้ากากอนามัยก็สามารถทำได้ แต่ขอให้ประเมิน และชั่งน้ำหนักดูว่าจะคุ้มหรือไม่ หากไม่คุ้มอาจจะเลื่อนดีกว่า

เมื่อถามว่าขณะนี้ประชาชนต้องไม่ไปรับประทานอาหารข้างนอก หรือห้างสรรพสินค้าต้องปิดหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เป็นการแจ้งเตือนประชาชน เพราะการใช้ชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ต้องระมัดระวัง เพียงแต่การรับประทานอาหารต้องถอดหน้ากากอนามัยออก หากถอดไม่นาน ความเสี่ยงก็น้อยลง รวมถึงคนที่เราไปรับประทานอาหารร่วมด้วย หลายครั้งใช้วิธีตรวจ ATK ก่อนไปรับประทานอาหารก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงระดับ 5 ที่ต้องงดหมด ยังไม่ต้องล็อกดาวน์ ตอนนี้จึงขอความร่วมมือว่า อะไรคือความเสี่ยง อะไรขอความร่วมมือ สรุปคือ มาตรการทางกฎหมายขอให้รอทาง ศบค. ซึ่งสธ.ได้เตรียมข้อมูลแล้ว โดยมีแนวทางต่างๆ อย่างการเข้าประเทศ เป็นต้น
“ส่วนห้างสรรพสินค้าก็ต้องพิจารณาว่า จุดไหนมีความเสี่ยง คือ ทั้งหมดทั้งปวงเราไม่ได้ปิดแบบเหมาเข่ง เพราะคนก็ต้องทำงาน หากปิดหมด พวกเขาจะต้องกลับบ้าน กลับภูมิลำเนาก็จะยิ่งเสี่ยงนำเชื้อไปแพร่ระบาดได้ รวมไปถึงโรงงาน ก็ไม่ต้องปิด ซึ่งหากพบการติดเชื้อให้ทำงานในวงจำกัดเรียกว่า บับเบิลแอนด์ซิล” นพ.โอภาส กล่าว

เมื่อถามว่าในวันเด็กจะมีการจัดกิจกรรม และบางแห่งจะให้เด็กเข้าดูภาพยนต์ในโรงภาพยนตร์ฟรี จะเสี่ยงหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ต้องพิจารณา 1. ถ้าระบายอากาศดีถือว่าไม่เสี่ยง 2.เด็กเข้าไปต้องไม่หนาแน่น และ 3. การใส่หน้ากากอนามัยต้องรัดกุม หาก 3 กิจกรรมปฏิบัติแล้วไม่เกิดความเสี่ยงก็จัดได้ แต่ก็ต้องพิจารณาว่าคุ้มจะจัดหรือไม่ อย่างความเสี่ยงยังมี ควบคุมได้ไม่ได้ หากเลื่อนได้ก็ควรเลื่อน อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมศบค. เรื่องกิจกรรมวันเด็กจะเป็นในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขจะแนะนำในหลักการ โดยหลักๆ สธ. จะเสนอเรื่องสถานการณ์ สรุปผลการฉีดวัคซีน การฉีดวัคซีนปี 2565 การปรับมาตรการพื้นที่สี และมาตรการเข้าออกประเทศ เป็นต้น