"หุ่นยนต์" การแพทย์ เจน 5 เปลี่ยนผ่านระบบผ่าตัดแห่งอนาคต

"หุ่นยนต์" การแพทย์ เจน 5 เปลี่ยนผ่านระบบผ่าตัดแห่งอนาคต

วิศวะมหิดล ร่วมกับ ม.เซี่ยงไฮ้เจียวทง จัดสัมนา "หุ่นยนต์" การแพทย์ เจนเนอเรชั่นที่ 5 สู่การแพทย์แห่งอนาคต เปลี่ยนผ่านระบบผ่าตัด สู่ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ ผ่าตัดตลอดกระบวนการอย่างสมบูรณ์ 100%

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง และสมาคม IEEE Robotics & Automation Society Thailand Chapter จัดงานสัมมนา : หุ่นยนต์การแพทย์ เจนเนอเรชั่นที่ 5 ภายใต้ โครงการ Reinventing University : Mahidol Medical Robotics Program โดยมี ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี และ รศ.ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเป็นประธานเปิดงานผ่านระบบออนไลน์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายด้านหุ่นยนต์ทางการแพทย์ให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็งในระดับภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย

 

  • ศูนย์วิจัย BARTLAB พัฒนาหุ่นยนต์การแพทย์แห่งแรก


รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ภาพรวมและการเติบโตของงานวิจัยพัฒนา หุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Medical Robotics) ในประเทศไทย เริ่มในยุคบุกเบิกเมื่อ 20 ปีก่อน โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ก่อตั้ง ศูนย์วิจัย BARTLAB และได้สร้างทีมนักวิจัย นวัตกร และพัฒนาบุคลากรด้านหุ่นยนต์การแพทย์ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย 

 

โดยทำงานอย่างใกล้ชิด ร่วมกับแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ และสร้างผลงานนวัตกรรมเฮลท์เทคมาจนถึงปัจจุบัน เช่น หุ่นยนต์ผ่าตัดสมอง หุ่นยนต์ผ่าตัดกระดูกสันหลัง หุ่นยนต์ช่วยแพทย์อัจฉริยะ Telemedicine หุ่นยนต์ฟื้นฟูผู้ป่วย วัสดุและอุปกรณ์เฮลท์เทคเพื่อสุขภาพ อุปกรณ์ฝึกสอนแพทย์ เป็นต้น ตอบโจทย์การพัฒนาเทคโนโลยี อุตสาหกรรมเฮลท์แคร์และเครื่องมือแพทย์ของประเทศสู่อนาคต

 

\"หุ่นยนต์\" การแพทย์ เจน 5 เปลี่ยนผ่านระบบผ่าตัดแห่งอนาคต

  • หุ่นยนต์การแพทย์ 5 เจนเนอเรชั่น

 

ศาสตราจารย์ กวง จง หยาง (Guang-Zhong Yang) คณบดี สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง (Shanghai Joao Tong) ที่มีชื่อเสียงด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ของประเทศจีน กล่าวถึง หุ่นยนต์การแพทย์ เจนเนเรอชั่นที่ 5 ในอนาคต ว่า ในโลกวิทยาการด้านหุ่นยนต์การแพทย์นั้นมีพัฒนาการต่อเนื่องมากว่า 40 ปี แบ่งเป็น 5 เจนเนอเรชั่น ดังนี้

 

เริ่มตั้งแต่ หุ่นยนต์การแพทย์ เจนเนอเรชั่นที่ 1 ในช่วงทศวรรษปี 1980’s เริ่มจากการประยุกต์หุ่นยนต์แขนกลที่ใช้ในอุตสากรรมมาพัฒนาดัดแปลงใช้งานทางการแพทย์ เช่น หุ่นยนต์ Puma, Neuromate

 

ต่อมา เจนเนอเรชั่นที่ 2 ช่วงปี 1990- 2003 มีการออกแบบและผลิตนวัตกรรมหุ่นยนต์การแพทย์มากมาย เช่น หุ่นยนต์ ROBODOC หุ่นยนต์ ZEUS ใช้ในการฝึกทางคลินิค CyberKnife เป็นระบบหุ่นยนต์ฉายรังสีศัลยกรรมสำหรับผ่าตัดเนื้องอก เซลมะเร็งและอื่นๆได้ทั่วร่างกาย และในปี 2003 หุ่นยนต์ผ่าตัด da Vinci ผลงานของสตาร์ทอัพชื่อ Intuitive Surgical เปิดตัวในลอนดอนด้วยเทคโนโลยีอันก้าวล้ำเป็นที่ยอมรับในนานาประเทศ และพัฒนามาจนถึงปัจจุบันโดยครองส่วนแบ่งตลาดโลกสูงที่สุด

 

สำหรับ เจนเนอเรชั่นที่ 3 ช่วงปี 2015 จะเป็นหุ่นยนต์ที่ออกแบบและพัฒนาสำหรับการใช้ผ่าตัดเฉพาะที่ของร่างกายมนุษย์ ช่วยให้แพทย์ทำงานได้สะดวกและมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคต่างๆได้ดียิ่งขึ้น เช่น da Vinci SP ในปี 2018 หุ่นยนต์ Monach ซึ่งเป็น Flexible Robot มีระบบนำทางแบบ 3D สำหรับส่องกล้องทางเดินหายใจส่วนล่าง กล่องเสียง ตรวจภายในหลอดลม เป็นต้น

 

\"หุ่นยนต์\" การแพทย์ เจน 5 เปลี่ยนผ่านระบบผ่าตัดแห่งอนาคต

ส่วนการพัฒนาหุ่นยนต์ใน เจนเนอเรชั่นที่ 4 เป็นการต่อยอดพัฒนาหุ่นยนต์การแพทย์ที่ใช้กับกลุ่มโรคต่างๆ โดยแบ่งเป็น หุ่นยนต์สำหรับระบบประสาท/การบาดเจ็บที่หู คอ จมูก (Neuro/ENT) หุ่นยนต์สำหรับการตรวจรักษาลำไส้ (Endoluminal) หุ่นยนต์สำหรับงานผ่าตัดช่องท้องด้วยวิธีผ่านกล้อง (Laparoscopy) และหุ่นยนต์สำหรับการผ่าตัดกระดูก (Orthopaedics)

 

สำหรับหุ่นยนต์การแพทย์แห่งอนาคตใน เจนเนอเรชั่นที่ 5 จะเป็นไมโครโรบอตที่มีขนาดเล็กลงผสานรวมเทคโนโลยีการทำงานหลายอย่างเข้าด้วยกัน

 

  • เปลี่ยนผ่านระบบผ่าตัดแห่งอนาคต 

 

ศาสตราจารย์ กวง จง หยาง กล่าวต่อไปว่า การเปลี่ยนผ่านระบบผ่าตัดในโรงพยาบาลสำหรับอนาคตจะมี 5 ลำดับของการพัฒนาความก้าวหน้าของเทคโนโลยีระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ จากเดิมที่เป็นการผ่าตัดของแพทย์โดยไม่มีระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติใดๆ มาช่วยเลย มาเป็น

 

1.การผ่าตัดโดยมีหุ่นยนต์มีส่วนช่วยแพทย์ผ่าตัด

2. พัฒนาการผ่าตัดไปสู่การทำงานอัตโนมัติให้บรรลุภารกิจหลักที่ตั้งไว้

3. ใช้ระบบอัตโนมัติในการผ่าตัดที่มีการกำหนดเงื่อนไข

4. การใช้ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติระดับสูง

5. ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติดำเนินการผ่าตัดตลอดกระบวนการอย่างสมบูรณ์ 100% ในที่สุด

 

  • 4 คุณลักษณะหุ่นยนต์การแพทย์

 

หุ่นยนต์การแพทย์ในอนาคต จะมีคุณลักษณะ 4 อย่าง คือ

1. ความไปกันได้กับระบบ (Compliant)

2. ความต่อเนื่อง (Continuum)

3. การประสานร่วมมือ (Corporative)

4.เป็นที่ยอมรับในคุณภาพ (Cognitive) อุปกรณ์เครื่องมือจะมีขนาดเล็กลง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพ ความเร็วยิ่งขึ้น เช่น High-Speed Endomicroscopy, Fabrication Across Scales

 

  • หุ่นยนต์การแพทย์ที่ใช้ในไทย 

 

ด้านทีมคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จในการทำงานร่วมกับคณะวิศวะมหิดล เช่น พัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดปลูกเส้นผมในประเทศไทย (Robotic Hair Transplantation) โดย รศ.นพ.รัฐพล ตวงทอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นผมและหนังศีรษะ ได้พัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ผ่าตัดปลูกผมระบบ FUE ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วแม่นยำ

 

ผศ.นพ.วิษณุ กัมทรทิพย์ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู ได้นำเสนอเกี่ยวงกับ “Siriraj NeuRoART: Experience, Expectation & Evolution” การสร้างผลงานนวัตกรรมทางการแพทย์ อาทิเช่น การพัฒนาหุ่นยนต์และอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย หุ่นยนต์ฝึกการเดิน (RAGT), Rigid Wearable Exoskeleton Lower Limb, Upper Limb Robotic Rehabilitation เป็นต้น เชื่อมั่นว่าการทำงานร่วมกันระหว่างวิศวกรและแพทย์เปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้

 

ด้านทีมคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร.นพ.สรยุทธ์ ชำนาญเวช ได้นำเสนอประสบการณ์ด้านพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดระบบประสาทที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “Robotic Integrated Neurosurgery in Ramathibodi Hospital” ด้วยความร่วมมือจากคณะวิศวะมหิดล ในการพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดสมอง หุ่นยนต์ผ่าตัดกระดูกสันหลังได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

 

นอกจากนี้ รศ.นพ.หม่อมหลวง ชาครีย์ กิติยากร หัวหน้าศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ได้เผยถึงการดำเนินงานของศูนย์ MIND หรือ Medical Innovations Development Ramathibodi Center ว่า ศูนย์ฯเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเฮลท์แคร์ ระหว่างบุคลากรแพทย์ วิศวกร นักวิทยาศาสตร์และนักศึกษา ตลอดจนทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการช่วยจำหน่ายผลงานด้านนวัตกรรมที่ได้รับการแจ้งจดทางทรัพย์สินทางปัญญา บริหารจัดการนวัตกรรมให้เข้าสู่เชิงพาณิชย์โดยเร็วเพื่อให้มีการผลิตและจัดจำหน่ายต่อไปอีกด้วย