วิจัยชี้ วัยทำงานเชื่อมั่น "หุ่นยนต์" ช่วยสนับสนุนงานได้ดีกว่ามนุษย์

วิจัยชี้ วัยทำงานเชื่อมั่น "หุ่นยนต์" ช่วยสนับสนุนงานได้ดีกว่ามนุษย์

วิจัยเผยปี 2022 ผู้คนจะให้ความสำคัญกับการสร้าง "อาชีพ" มากที่สุด หลังจากหลายคนตกงานในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดย 88% ของคนวัยทำงานในเอเชียแปซิฟิก เชื่อว่า "หุ่นยนต์" ช่วยสนับสนุนเรื่องอาชีพการงานของพวกเขาได้ดีกว่ามนุษย์

ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคสมัยนี้เทคโนโลยี AI (ปัญญาประดิษฐ์) หรือ "หุ่นยนต์" เข้ามามีบทบาทในสาย "อาชีพ" ต่างๆ มากขึ้น หนึ่งในอาชีพที่หลายคนมองว่าอาจถูก AI แย่งงานไปก่อนใครเพื่อนก็คือ HR (Human Resource Management) หรือสายงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์

เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นจริง เพราะมีข้อมูลจากงานวิจัยของ "AI@work 2021 Research Report Oracle APEC" (บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล) ระบุว่า ในปี 2022 สิ่งที่คนวัยทำงานในเอเชียแปซิฟิกให้ความสำคัญมากที่สุดคือการสร้างอาชีพ 

โดยผลวิจัยชี้ว่า ผู้คนยุคนี้กำลังหันมาใช้หุ่นยนต์เพื่อส่งเสริมอาชีพการงานมากขึ้น หลังจากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา "โควิด-19" ทำให้ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม จนทำให้พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยว แปลกแยก และต้องการผู้ให้คำแนะนำเรื่องงานมากขึ้น

และที่น่าสนใจคือ คนวัยทำงานยุคนี้เริ่มมองว่า "หุ่นยนต์" สามารถสนับสนุนและแนะนำอาชีพการงานได้ดีกว่า HR ที่เป็นมนุษย์จริงๆ เสียอีก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปล้วงลึกเรื่องนี้ให้มากขึ้น ตามมาดูกันเลย

 

  • คนวัยทำงานส่วนใหญ่เชื่อว่า "หุ่นยนต์" แนะนำงานได้ดีกว่ามนุษย์

งานวิจัยชี้ว่า 88% ของคนวัยทำงานในเอเชียแปซิฟิก เชื่อว่า "หุ่นยนต์" สามารถส่งเสริมหน้าที่การงานของพวกเขาได้ดีกว่ามนุษย์ และยังมี 41% ของวัยทำงานชาวเอเชียให้ความเห็นว่า หุ่นยนต์ให้คำแนะนำที่ปราศจากอคติได้ดีกว่ามนุษย์

อีกทั้งวัยทำงาน 38% มองว่า AI สามารถส่งต่อข้อมูลที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับทักษะหรือเป้าหมายที่คนวัยทำงานต้องการได้ดีกว่ามนุษย์ และอีก 37% ของวัยทำงานมองว่า AI สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับอาชีพได้อย่างรวดเร็วกว่ามนุษย์

 

 

  • วัยทำงานยุคโควิด ต้องการใช้เทคโนโลยีช่วยเรื่องงานมากขึ้น

นอกจากนี้ผลวิจัยยังระบุอีกว่า คนวัยทำงานชาวเอเชียแปซิฟิกมากถึง 89% ต้องการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการทำงาน และคนวัยทำงาน 82% ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตตามคำแนะนำของหุ่นยนต์ โดยแบ่งย่อยได้เป็น

- 40% ต้องการใช้เทคโนโลยีมาแนะนำวิธีการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ในอนาคต

- 39% ต้องการเรียนรู้ทักษะที่พนักงานจำเป็นต้องพัฒนาในสายงาน

- 37% ต้องการคำแนะนำถึงขั้นตอนต่อไปเพื่อก้าวสู่เป้าหมายในอาชีพการงาน

 

  • คนส่วนหนึ่งยังรู้สึกว่า HR ที่เป็นมนุษย์ยังมีบทบาทสำคัญ

แต่ทั้งนี้ ผู้คนอีกบางส่วนก็ยังเชื่อมั่นว่ามนุษย์มีบทบาทสำคัญมากในการพัฒนาอาชีพในแต่ละสายงาน โดย 45% เชื่อว่ามนุษย์สามารถให้การสนับสนุนได้ดีกว่า "หุ่นยนต์" ในแง่ที่สามารถให้คำปรึกษาตามประสบการณ์ของแต่ละคนได้ 

และวัยทำงานบางส่วนอีก 43% มองว่าการแนะนำงานจากมนุษย์ด้วยกันสามารถบอกจุดแข็งและจุดอ่อนของงานแต่ละอาชีพได้ดีกว่าหุ่นยนต์ และอีก 39% มองว่า HR ที่เป็นมนุษย์ยังสามารถแนะนำตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้ดีกว่าหุ่นยนต์ (39%)

 

 

  • คนส่วนใหญ่อยากทำงานกับบริษัทที่ใช้ AI มาช่วยส่งเสริมงาน

อีกหนึ่งผลวิจัยที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ วัยทำงานในเอเชียแปซิฟิกถึง 91% มองว่าบริษัทควรรับฟังความต้องการของพนักงานให้มากกว่านี้ และอีก 61% มองว่าอยากทำงานกับบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาส่งเสริมการเติบโตในอาชีพการงาน

ด้านนายทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นนี้ ก่อให้เกิดแนวทางใหม่ๆของการทำงานในอนาคต

ถึงแม้ว่าคนส่วนมากจะรู้สึกยึดติดอยู่กับสิ่งต่างๆในชีวิต วิตกกังวลถึงอนาคต ติดอยู่กับกิจวัตรประจำวันเดิมๆ และรู้สึกโดดเดี่ยว เมื่อผู้คนเริ่มเรียงลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ในชีวิตใหม่ จะกลับมารู้สึกมีพลังในการเรียกร้องงานที่เหมาะสม และไม่ลังเลที่จะมองหาความสำเร็จ

ดังนั้นองค์กรในประไทยจำเป็นต้องกระตือรือร้นมากขึ้น ที่จะรักษาบุคลากรที่มีความสามารถไว้ในองค์กร โดยบริษัทต้องเพิ่มการดูแลพนักงานในด้านต่างๆ เป็น 2 เท่าเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ และสามารถแนะนำสายงานที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อให้พนักงานสามารถกลับมาควบคุมการใช้ชีวิต หน้าที่การงานได้เหมือนเดิม

หมายเหตุ : งานวิจัยชิ้นนี้ทำการศึกษาจากพนักงาน ผู้จัดการ หัวหน้าแผนกทรัพยากรบุคคล และผู้บริหารระดับสูงจำนวนมากกว่า 14,600 คนใน 13 ประเทศ มีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด มากกว่า 6,000 คน รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เช่น ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์

---------------------------------------

อ้างอิง : AI-at-work 2021 Research Report