หน่วยงานรัฐ สั่ง WFH หลังปีใหม่ 7-14 วัน สกัดโควิด-19

หน่วยงานรัฐ สั่ง WFH หลังปีใหม่ 7-14 วัน สกัดโควิด-19

เทศกาลปีใหม่ที่มีการกลับภูมิลำเนา เฉลิมฉลอง ทานอาหารร่วมกัน โดยเฉพาะในช่วงที่ "โอมิครอน" ระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น เป็นความกังวลว่าจะเกิดการระบาดซ้ำ ทำให้ภาครัฐหลายหน่วยงานเริ่มสั่งการให้มีการ "Work From Home" 7-14 วันหลังปีใหม่ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

หลังจากที่ มีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในหลายประเทศโดยเฉพาะในแถบยุโรปพุ่งสูง มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุล้านคนต่อวัน โดยวันนี้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อใหม่กว่า 1,874,615 ราย ทำให้ผู้ป่วยสะสม 286,858,755 ราย

 

ขณะที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย 31 ธ.ค. 64 ป่วยรายใหม่ 3,111 ราย เสียชีวิต 26 ราย แม้อัตราการป่วยและเสียชีวิตจะยังไม่สูงในระดับที่น่ากังวลแต่ก็ประมาทไม่ได้ โดยเฉพาะหลังปีใหม่ที่มีการเดินทางกลับภูมิลำเนา หากยังประมาท อาจทำให้เกิดการระบาดหนักได้อีกระลอก

 

ตัวอย่างที่ได้เห็นก่อนหน้านี้ คือ คลัสเตอร์ “โอมิครอน” กาฬสินธุ์ ที่เรียกได้ว่าเป็น “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” ทำให้มีผู้ติดเชื้อใน 11 อำเภอมากกว่า 200 ราย และยังกระจายไปใน 11 จังหวัดภาคอีสานและภาคเหนือ โดยต้นตอการระบาดดังกล่าวมาจาการรับประทานอาหารในร้านร่วมกัน ทำให้เกิดการระบาดและกระจายเป็นวงกว้าง

 

นอกจากนี้ ยังพบ คลัสเตอร์นักศึกษาในกทม. ซึ่งมีการดื่มแอลกอฮอลล์ในร้านอาหาร ส่งผลให้มีการติดเชื้อกว่า 52 ราย อีกทั้ง จากการตรวจหาเชื้อในสภาพแวดล้อม พบเชื้อโควิด-19 ในระบบปรับอากาศ

 

ขณะเดียวกัน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งมีการเดินทางข้ามจังหวัด รวมถึงเป็นเทศกาลเฉลิมฉลอง อาจเป็นต้นตอให้เกิดการระบาดขึ้นมาได้หลังเทศกาล ปีใหม่ โดยเฉพาะ “โอมิครอน” ซึ่งมีการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ดูได้จากอัตราผู้ติดเชื้อในวันที่ 18 ธ.ค. 64 จำนวน 63 ราย และพุ่งขึ้นมาทะลุ 1,145 ราย ในวันนี้ (31 ธ.ค. 64) ส่งผลให้หลายหน่วยงานมีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดไม่ว่าจะเป็น สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงศึกษาธิการ ทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home เป็นเวลา 7-14 วันโดยเฉพาะคนที่กลับจากภูมิลำเนา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

 

  • เยอรมนี ยอดโอมิครอนพุ่ง 26%

 

หากดูสถานการณ์ใน "แอฟริกาใต้" ซึ่งเป็นพื้นที่จุดกำเนิดโอมิครอน พบว่า มีผู้ติดเชื้อสูงกว่าในช่วงเดลตาระบาด แต่จำนวนผู้เสียชีวิตไม่สูงมาก ขณะเดียวกัน มีแนวโน้มว่าแอฟริกาใต้จะพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม "นพ.เฉวตสรร นามวาท" ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวในงานแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 64 ว่า แอฟริกาใต้ ค่อนข้างมั่นใจว่าโอมิครอน ไม่ได้ทำให้มีอาการเสียชีวิตในเปอร์เซ็นต์สูง แต่การจะสรุปว่าประเทศอื่นเป็นอย่างนี้หรือไม่ ต้องติดตามข้อมูลต่อเนื่องไป

 

แม้ในแอฟริกา จะมีแนวโน้มพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ในหลายประเทศยังคงมีผู้ติดเชื้อพุ่งสูง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และ สหราชอาณาจักร รวมถึง เยอรมนี ซึ่งวันนี้ (31 ธ.ค. 64) ศบค. รายงานว่า มียอดผู้ติดเชื้อโอมิครอนพุ่งสูงถึง 26% โดยเพิ่ม 2,686 ราย ภายในวันเดียว ทำให้ยอดสะสมอยู่ที่ 13,129 ราย

 

  • ผู้ติดเชื้อโอมิครอนพุ่งทะลุพัน

 

สำหรับรายงานผู้ติดเชื้อ “โอมิครอน” ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 64 พบว่า มีจำนวนพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในวันที่ 18 ธ.ค. พบผู้ติดเชื้อ 63 ราย ขณะที่ข้อมูลล่าสุด 30 ธ.ค. พบผู้ติดเชื้อ โอมิครอน สะสม 1,145 ราย ในจำนวนนี้เป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ 620 รายและติดในประเทศ 525 ราย เมื่อดูอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยตั้งแต่ 18 ธ.ค. พบว่า

- 18 ธ.ค.จำนวน 63 ราย

- 19 ธ.ค.จำนวน 89 ราย

- 20 ธ.ค.จำนวน 97 ราย

- 21 ธ.ค.จำนวน 104 ราย

- 22 ธ.ค.จำนวน 154 ราย

- 23 ธ.ค.จำนวน 205 ราย

- 24 ธ.ค.จำนวน 289 ราย

- 25 ธ.ค.จำนวน 387 ราย

- 26 ธ.ค.จำนวน 514 ราย

- 28 ธ.ค. จำนวน 740 ราย

- 29 ธ.ค.จำนวน 934 ราย

- 30 ธ.ค.จำนวน 1,145 ราย

  • 3 ฉากทัศน์ คาดการณ์หลังปีใหม่

 

ก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ประมาณการ 3 ฉากทัศน์ (scenario) ของการระบาดโควิด-19 หลังปีใหม่ โดยมีการคาดการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อเทียบกับการปฏิบัติตามมาตรการที่แตกต่างกันออกไป เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน ได้แก่

 

แบบที่ 1 รุนแรงที่สุด (Least favourable) เป็นฉากทัศน์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น กรณีอัตราการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นจากการระบาดโอมิครอนในประเทศ มีการฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. แต่ประชาชนให้ความร่วมมือน้อย หรือไม่ให้ความร่วมมือ ไม่มีการป้องกัน ไม่มีมาตรการอะไรมากจะเกิดการระบาดและควบคุมยาก ใช้เวลา 3-4 เดือนควบคุมโรคได้ มีผู้ติดเชื้อ 30,000 รายต่อวัน เสียชีวิต 170-180 คนต่อวัน

 

แบบที่ 2 ปานกลาง (Possible) มีอัตราการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นจากการระบาดของโอมิครอนในประเทศ มีการฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ประชาชนให้ความร่วมมือ Universal Prevention (UP) สถานประกอบการ จัดกิจกรรมปฏิบัติตาม VUCA ดี จะมีผู้ติดเชื้อ 15,000-16,000 รายต่อวัน เสียชีวิตราว 100 รายต่อวัน

 

แบบที่ 3 ดีที่สุด (Most favourable) ซึ่งสธ.อยากให้เป็นไปตามฉากทัศน์นี้หรือดีกว่านี้ โดยมีอัตราการแพร่เชื้อของโอมิครอนไม่สูงมาก เนื่องจากยังควบคุมการระบาดในประเทศได้ช่วงเดือน ม.ค. 2565 เร่งฉีดวัคซีนในทุกกลุ่มได้สูงทั้งเข็ม 1,2 และเข็มบูสเตอร์ มากกว่า 4 ล้านโดสต่อสัปดาห์ และประชาชนให้ความร่วมมือ UP เต็มที่ ลดกิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมาก สถานประกอบการจัดกิจกรรมปฏิบัติตาม VUCA อย่างเคร่งครัด และผับบาร์เปิดและควบคุมได้ดีมาก มีผู้ติดเชื้อ 10,000 นิดๆต่อวัน และเสียชีวิต 60-70 คนต่อวัน ใช้เวลาควบคุมได้ใน 1-2 เดือน

 

  • หลังปีใหม่ ป่วยแตะ 3 หมื่นราย อาจเป็นไปได้

 

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 64 ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์เพจ THE STANDARD โดยประเมินสถานการณ์ โควิด-19 ในขณะนี้ หากตัดเรื่อง "โอมิครอน" ออกไป สถานการณ์โควิดในบ้านเราตอนนี้เรียกว่าดีขึ้น โดย 3 ฉากทัศน์ ที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ประเมินสถานการณ์ไว้หลังปีใหม่ โดยที่แย่ที่สุด คือ อาจไปแตะ 3 หมื่นรายต่อวัน มองว่าก็อาจจะเป็นไปได้จริงๆ เราเห็นในยุโรปชัดเจน อังกฤษช่วงที่ระบาดต่อให้หนักมากๆ ตอนอัลฟาระบาด อย่างมากก็ 5-6 หมื่นราย แต่ตอนนี้ทะลุแสนไปเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นเกิดได้ ด้วยการแพร่กระจายของโอมิครอนที่เร็วมากๆ

 

“เมื่อกลับไปดูที่ 2 ฉากทัศน์ที่เหลือคนก็ยังคงหวั่นใจ หากดูแค่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ อาจจะดูน่ากลัวเพราะเรามีภาพจากตอนเดลตาระบาด แต่ในสถานการณ์ ณ ตอนนี้ผ่านมา 5-6 เดือน ต่อให้ตัวเลขหลักหมื่นก็เชื่อว่าสถานการณ์ไม่น่าจะหนักหน่วงเท่าเมื่อกลางปี”

 

  • หมอเฉลิมชัย แนะ WFH หลังปีใหม่ 10 วัน

 

ด้าน นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยให้ความเห็นว่า ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน คงจะกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทยแน่นอน ในระยะเวลาอีกไม่นานนี้ (ไม่น่าจะเกินสิ้นเดือนมกราคม 2565) เพราะมีอัตราเพิ่มเช่นเดียวกับทั่วโลกโดยเฉพาะตัวเลขในยุโรป สัดส่วนของการติดไวรัส Omicron ในประเทศ (Local Transmission) จะเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ แพร่อย่างรวดเร็ว แม้จะมีความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา

 

ทั้งนี้ วิธีที่จะช่วยทำให้ระบบสุขภาพรับมือไหวคือ ทำให้มีการติดเชื้อต่ำกว่าวันละ 20,000 ราย เพื่อที่จะมีผู้ติดเชื้อ อยู่ในจำนวนที่ระบบสุขภาพจะรับมือไหว โดยการช่วยกันใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา (กันไวรัสโอมิครอน ได้เช่นเดียวกับไวรัสเดลตา) และเมื่อต้องทานอาหาร ขอให้แยกกันทาน (ยกเว้นเฉพาะคนที่อยู่อาศัยในบ้านเดียวกันจริง)

 

รวมถึง เร่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 โดยเร็ว ให้ได้ 50 ล้านคน ซึ่งน่าจะทำได้ในสามเดือน ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดเข็มที่ 1 ก็ให้รณรงค์และดำเนินการให้มาฉีดโดยเร็ว ส่วนใครที่ไม่แน่ใจว่า ตนเองในช่วงเทศกาลปีใหม่ (31 ธค.64 - 3 มค.65) มีความเสี่ยง เช่น ไปทานอาหารเฉลิมฉลองกับคนอื่น หรือถอดหน้ากากร้องเพลงสังสรรค์ พูดคุยอยู่ในห้องที่ระบายอากาศไม่ดี ให้กักตัวเองที่บ้านหลังปีใหม่ หรือทำงานแบบเวิร์คฟอร์มโฮม (WFH) 10 วัน จากวันที่ 4-14 มกราคม 2565 ก็จะทำให้อัตราการเพิ่มของผู้ติดไวรัส Omicron ที่ติดกันเองภายในประเทศเป็นไปช้าลงจะได้ทำให้เรามีเวลามากพอ ที่จะสามารถเร่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ได้ทัน และระบบสุขภาพจะสามารถรองรับผู้ติดเชื้อ Omicron ได้

 

  • ปลัดสำนักนายกฯ สั่ง WFH วันที่ 1-14 ม.ค. 65

 

สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกหนังสือ ลงนาม นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 เรื่องแนวปฏิบัติของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐภายหลังเทศกาลปีใหม่ ถึงหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงและเทียบเท่า โดยเนื้อหาระบุว่า ด้วยนายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้สำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งแนวปฏิบัติของส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐภายหลังเทศกาลปีใหม่

 

เพื่อยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในสถานที่ราชการและหน่วยงานของรัฐ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีแนวโน้มการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก และในหลายพื้นที่ของประเทศ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐพิจารณาสั่งการให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที หรือบุคลากรในความรับผิดชอบ พิจารณาดำเนินการปฏิบัติในระหว่างวันที่ 1-14 มกราคม 2564 ดังนี้

 

1. พิจารณาดำเนินการมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งหน่วยงาน (Work From Home) ตามความเหมาะสม โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน ตามความในข้อ 2 แห่งข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 40) ลงวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2564

 

2. พิจารณาหลีกเลี่ยงจัดกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดการรวมกลุ่มหรือเคลื่อนที่ของกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น การประชุม การสัมมนา การฝึกอบรม การจัดสอบ ฯลฯ หากมีความจำเป็นให้จัดกิจกรรมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากที่สุด ทั้งนี้ ยกเว้นกรณีการยกเลิก ระงับ หรือเลื่อนการจัดกิจกรรมใดแล้วอาจเกิดผลเสียต่อทางราชการ ขอให้พิจารณาดำเนินการจัดกิจกรรมดังกล่าวภายใต้มาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเต็มขีดความสามารถ

 

หน่วยงานรัฐ สั่ง WFH หลังปีใหม่ 7-14 วัน สกัดโควิด-19

 

  • สธ. สั่งเจ้าหน้าที่ WFH 7 วัน

 

ขณะเดียวกัน ทางด้าน กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2564 นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนปลัด กระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกข้อความส่วนราชการ ที่ สธ.0208.07/ว 1055 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 เรื่องการดำเนินการให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) ถึงอธิบดีกรม ทุกกรม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก และหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี ผู้อำนวยการกอง/ศูนย์/กลุ่ม และหน่วยงานต่างๆในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ส่วนกลาง)

 

หน่วยงานรัฐ สั่ง WFH หลังปีใหม่ 7-14 วัน สกัดโควิด-19

 

โดยระบุว่า ตามที่ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับแจ้งให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งและการเหลื่อมเวลาปฏิบัติงาน เพื่อรองรับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันอย่างเต็มประสิทธิภาพและเหมาะสม โดยกำหนดสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของสัดส่วนจำนวนเจ้าหน้าที่ผู้มาปฏิบัติงาน ณ สำนักงานที่ตั้งส่วนกลาง และให้ทุกส่วนราชการและทุกหน่วยงานรวบรวมผลการดำเนินการเก็บไว้ ณ หน่วยงาน เป็นรายเดือน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรายงานข้อมูลต่อกระทรวงสาธารณสุขต่อไปนั้น

 

เนื่องจากรองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 ถึงนโยบายการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หลังจาก เทศกาลปีใหม่ โดยให้เจ้าหน้าที่ผู้เดินทางกลับภูมิลำเนา ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) เป็นระยะเวลา 7 วัน จึงขอให้ส่วนราชการในสังกัด(ส่วนกลาง) ทุกแห่ง ปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดต่อไปด้วย

 

หน่วยงานรัฐ สั่ง WFH หลังปีใหม่ 7-14 วัน สกัดโควิด-19

 

ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.64 “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แนะว่า ขอให้ผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลปีใหม่ เมื่อกลับมาแล้วขอให้ทำงานที่บ้าน (Work from Home) เป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือจำกัดการทำงานโดยแบ่งเป็นช่วงเวลา เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งความเห็นเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ดี หากทำได้ก็จะเกิดความปลอดภัยมากขึ้น

 

  • ศธ. Work From Home 14 วัน 85%

 

ด้านกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 64 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มคลี่คลายลงอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกันก็มีการแพร่ระบาด ของ "โอมิครอน" (Omicron) เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ประกอบกับในช่วงเทศกาลปีใหม่เป็นห้วงเวลาสำคัญที่จะมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จัดงานตามประเพณีท้องถิ่นและทางศาสนา ที่มีการรวมกลุ่มบุคคลจำนวนมาก มีการเดินทางท่องเที่ยว

 

ดังนั้น เพื่อเป็นการเฝ้าระวังป้องกันการระบาดของโรคภายหลังช่วงเทศกาลปีใหม่ ตนจึงมอบหมายให้ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของ ศธ.

 

ทั้งนี้ ประกาศ ศธ.ฉบับใหม่ล่าสุดลงวันที่ 30 ธันวาคมนี้ กำหนดให้บุคลากรในสังกัดและในกำกับของ ศธ.ปฏิบัติงานภายในที่พัก ( Work From Home) อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ตั้งแต่วันที่ 1-14 มกราคม 2565 โดยการปฏิบัติงานดังกล่าวต้องไม่กระทบกับภารกิจให้บริการแก่ประชาชน

 

ส่วนผู้บริหารของ ศธ.ในระดับบริหารสูง ระดับบริหารต้น ระดับอำนวยการสูง และผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ให้ปฏิบัติงานภายในหน่วยงานต้นสังกัดตามปกติ , ให้หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ.กำกับควบคุมดูแลการปฏิบัติงานภายในที่พักของบุคลากรในเวลาราชการให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ บุคลากรที่ต้องเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะให้ปฏิบัติงานภายในที่พัก

 

  • เรียน On-site เข้มมาตรการ 6-6-7

 

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานศึกษาในสังกัด ศธ. ที่จัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนแบบ on-site ทุกแห่ง ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย 6-6-7 เพื่อลดความเสี่ยงโควิดในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด ซึ่งประกอบด้วย 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ คัดกรองวัดไข้ ลดการแออัด และทำความสะอาด , 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ ) ดูแลตนเอง ใช้ช้อนกลางส่วนตัว กินอาหารปรุงสุกใหม่ ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน สำรวจตรวจสอบ และกักกันตัวเอง

 

  • 7 มาตรการเข้ม สถานศึกษา

 

ส่วนแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา คือ 1.ประเมิน TSC+ และรายงานผลผ่าน MOE COVID อย่างต่อเนื่อง 2.Small Bubble ทำกิจกรรมแบบกลุ่มย่อย 3.จัดอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ 4.อนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ ความสะอาด น้ำ ขยะ 5.School Isolation มีแผนเผชิญเหตุและซักซ้อม 6.Seal Route ดูแลการเดินทางจากบ้านไปกลับโรงเรียน 7. จัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา

 

“การออกประกาศ Work From Home ของ ศธ.ครั้งนี้ เป็นมาตรการหนึ่งในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ที่อาจจะมีการแพร่ระบาดภายหลังที่มีวันหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่ อย่างไรก็ตามช่วงเวลาวันหยุดในเทศกาลปีใหม่นี้ แม้รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยที่ลดลง แต่ขอให้นักเรียน นักศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา และพี่ น้อง ประชาชนทุกคน ไม่ประมาท การ์ดไม่ตก ระมัดระวังการเดินทางไปร่วมกิจกรรมในสถานที่ต่างๆ ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือสบู่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ มีไข้ และไอจาม และคอยสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอ” รมว.ศธ.กล่าว