ล้างแอร์ ฆ่าเชื้อไวรัส ป้องกันโควิด-19 ทุกสายพันธุ์

ล้างแอร์ ฆ่าเชื้อไวรัส ป้องกันโควิด-19 ทุกสายพันธุ์

คลัสเตอร์นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน กทม. ที่มีการกินดื่มในร้านอาหาร จนเกิดการติดเชื้อโควิด-19 กว่า 52 ราย เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยพบว่า มีประวัติรับประทานอาหาร ดื่มสุราร่วมกันในร้านอาหารกึ่งผับแห่งหนึ่ง (ร้าน A) ในพื้นที่กทม. ช่วง 8-14 ธ.ค.

โดย ปัจจัยเสี่ยงข้อจำกัดที่พบคือ ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในเครื่องปรับอากาศ ภายในร้าน A จากการเก็บตัวอย่างในช่องแอร์จำนวน 2 เครื่อง ช่วงเวลาทานอาหารและดื่มเครื่องดื่ม เป็นเวลานาน (ไม่สวมหน้ากาก) และ จากการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม และตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมภายในร้าน A และ ร้านอาหารในลักษณะเดียวกัน (ให้บริการจำหน่ายและให้ดื่มสุราในร้านได้) พื้นที่ใกล้เคียงพบว่า หลายร้านไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเครื่องปรับอากาศ กลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 ก็คงต้องหาวิธีป้องกันซึ่งง่ายที่สุดคือ การทำความสะอาดบ้าน ร้านอาหาร ผับ บาร์ และการล้างแอร์ 

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผย 7 วิธีหยุดเชื้อโควิด-19 ในบ้าน โดยมีดังนี้

1.ทำความสะอาดรถยนต์ทุกครั้งหลังใช้งาน โดยใช้น้ำผสมผงซักฟอกทั่วไป หรือน้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดทำความสะอาดที่เปิด- ปิดประตูรถและห้องโดยสารภายใน เช่น เบาะที่นั่ง พวงมาลัย ปุ่มแอร์ วิทยุ เป็นต้น

2.เก็บรองเท้าไว้นอกบ้าน หรือนอกห้อง และทำความสะอาดเท้าทันที 

3. ถอดหน้ากากอนามัยทิ้งในถุงให้มิดชิด 

4.เช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัว เช่นกระเป๋า โทรศัพท์ นาฬิกาข้อมือ แว่นตา กุญแจบ้าน กุญแจรถด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ 

5.ทำความสะอาดมือ 

6.เปลี่ยนเสื้อผ้าและแยกตะกร้าชุดที่ใส่นอกบ้านกับในบ้านออกจากกัน หรือควรซักทันที

7.อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายก่อนสัมผัสสิ่งของในบ้าน สัตว์เลี้ยง หรือสมาชิกในครอบครัว

 

  • ล้างแอร์ ฆ่าเชื้อไวรัส ทำได้ด้วยตนเอง

นอกจากนั้น จากข้อมูล baan & BEYOND ระบุวิธีล้างแอร์ด้วยตนเองง่ายๆ เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อไวรัส ป้องกันโควิด-19

แอร์ เครื่องปรับอากาศ มีความชื้นทั้งที่ตัวแอร์และตัวท่อแอร์ อันเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อโรคต่างๆ เจริญเติบโตได้ง่าย  ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา  เชื้อไวรัส โดยควรจะล้างทำความสะอาดแอร์แบบเต็มระบบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่หากใช้แอร์เป็นประจำควรล้างแอร์ 6 เดือน/ ครั้ง หรือสามารถล้างแอร์เป็นประจำได้ โดยดูตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมและการใช้งานแอร์เป็นหลัก

ก่อนอื่นต้องมาเตรียมอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ก่อนล้างแอร์ ได้แก่

1. ไขควง

2. เครื่องฉีดน้ำแรงดัน/ สายฉีดและหัวฉีด

3. โบลวเวอร์ (เครื่องเป่าลม)

4. ผ้าใบ/ ถังน้ำ

5. แปรง/ น้ำสบู่/ น้ำยาฆ่าเชื้อโรค

 

  • เปิดขั้นตอนการล้างแอร์ ป้องกันโควิด-19

ส่วนขั้นตอนการล้างแอร์ด้วยตนเองนั้น ลองทำได้ดังนี้

1. เริ่มด้วยการเปิดหน้ากากแอร์ แล้วถอดแผ่นกรองอากาศ (ฟิลเตอร์) ออกมา ระวังอย่าให้ฝุ่นหรือสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ฟุ้งกระจาย รวบรวมรอเอาไปล้างทำความสะอาด ซึ่งควรถอดแผ่นกรองอากาศออกมาล้างอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง หรือล้างเมื่อฝุ่นเริ่มหนา

2. ขันสกรูน็อตที่ยึดหน้ากากแอร์และฝาครอบแอร์ จากนั้นถอดออกมา รวบรวมรอทำความสะอาด

3. ขันสกรูที่ล็อกถาดน้ำทิ้ง และถอดมอเตอร์สวิงออก จากนั้นขยับถาดน้ำทิ้งเพื่อปลดล็อกและดึงออกมา รวบรวมไปทำความสะอาด

4. ถอดแผ่นเกล็ดกระจายลมออก เพื่อรวบรวมไปทำความสะอาดเช่นกัน

5. ใช้ถุงพลาสติกครอบวงจรไฟฟ้าของแอร์ให้มิดชิด

6. นำผ้าใบมาขึง โดยคลุมที่ใต้แอร์และพาดลงไปในถังพลาสติก ให้ผ้าใบเป็นลักษณะคล้ายกรวยที่ลำเลียงน้ำลงถัง และเพื่อไม่ให้น้ำกระเด็นไปที่กำแพงหรือหยดลงพื้น

7. ฉีดล้างทำความสะอาดให้ทั่วแผงคอยล์เย็น ด้วยเครื่องฉีดน้ำแรงดันหรือสายฉีดน้ำทั่วไปก็ได้

8. จากนั้นใช้โบลวเวอร์ (เครื่องเป่าลม) เป่าแผงคอยล์เย็นและแผงวงจรไฟฟ้าให้แห้งสนิท

9. ใช้แปรงและน้ำสบู่ขัดล้างแผ่นกรองอากาศ หน้ากากแอร์ ฝาครอบแอร์ ถาดน้ำทิ้ง และแผ่นเกล็ดกระจายลม ที่สำคัญช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบนี้ ควรผสมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเพื่อทำความสะอาดด้วย จากนั้นใช้เครื่องเป่าลม เป่าให้แห้งสนิท

10. เมื่อล้างทำความสะอาดทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ให้ประกอบชิ้นส่วนกลับเข้าที่ โดยเริ่มจากแผ่นเกล็ดกระจายลม แล้วย้อนกลับไปตามลำดับจากตอนที่ถอด

11. มาถึงขั้นตอนล้างทำความสะอาดคอยล์ร้อน (คอมเพรซเซอร์แอร์ที่ตั้งอยู่นอกบ้าน) ล้างง่ายๆ แค่ฉีดน้ำไล่ฝุ่นจากด้านนอกเครื่องให้สะอาด โดยไม่ต้องถอดชิ้นส่วนออก

12. ขั้นตอนนี้ เป็นขั้นตอนที่จะช่วยปกป้องคุณจากเชื้อโรคได้ ในขณะที่ยังปิดแอร์อยู่ ให้ฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อโรคเข้าไปที่ช่องหน้ากากแอร์ ทิ้งไว้ 10 - 15 นาที

13. ขั้นตอนสุดท้าย ให้ลองเปิดแอร์ทิ้งไว้อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เพื่อทดสอบความปกติของระบบต่างๆ ของแอร์ และไล่ความชื้นที่อาจค้างจากการล้างแอร์

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์