สธ.เผย พบ "โอมิครอน" ใน 33 จังหวัด รวม 740 ราย

สธ.เผย พบ "โอมิครอน" ใน 33 จังหวัด รวม 740 ราย

สธ. เผย พบผู้ป่วย "โอมิครอน" ในไทย 740 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 489 ราย ติดเชื้อในประเทศ 251 ราย พบอย่างน้อย 1 ราย ใน 33 จังหวัด

วันนี้ (29 ธ.ค. 64) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวในการแถลงข่าว อัพเดทสายพันธุ์โอมิครอน โดยระบุว่า ขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าโอมิครอนน่าจะแพร่เร็ว แต่ความรุนแรงอาจจะไม่มากนัก ต้องเป็นเรื่องที่ติดตามสถานการณ์ ขณะนี้ มีข้อมูลรายงานอย่างน้อย 108 ประเทศ และในสหรัฐอเมริกา พบว่าตรวจพบโอมิครอนทุกรัฐ และการติดเชื้อทะยานไป 2 แสนราย ขณะที่สายพันธุ์ระบาดหลักทั่วโลกยังเป็น BA.1 ราว 4 หมื่นกว่าราย ยังเป็น BA.1 ส่วนที่กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยมีเล็กน้อย BA.2 ราว 45 ราย และ BA.3 มี 14 ราย

 

  • กทม. พบโอมิครอนมากที่สุด

 

สถานการณ์ในประเทศไทยตั้งแต่ 1 พ.ย.64 ตั้งแต่เปิดให้มีคนเดินทางเข้าประเทศ มีการตรวจสายพันธุ์มาตลอด ตรวจไปราว 8,000 ตัวอย่าง วันนี้พบโอมิครอนสะสมตั้งแต่รายแรกที่พบในประเทศไทย 740 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 489 ราย และ ติดเชื้อในประเทศ 251 ราย เทียบกับภาพรวมราว 8-9% โดยพบในเกือบทุกเขต ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 2 ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ สุโขทัย ตาก

 

เขตที่พบมากที่สุด คือ กทม. เขต 13 เพราะตรวจในคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และคนเหล่านี้มักจะลงเครื่องที่สุวรรณภูมิ ถูกกักตัว หรือรอผล Test & Go รองลงมา คือ เขตสุขภาพที่ 7 แถวขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ที่ทราบว่ามีคลัสเตอร์ใหญ่เกิดขึ้น อีกเขตที่เริ่มพบคือ เขต 11 ภาคใต้ ฝั่งอันดามัน ภูเก็ต สมุย

  • ไทยส่วนใหญ่ยังเป็น เดลตา

 

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนโอมิครอนเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว จากการตรวจรวมทุกกลุ่มทั้งเดินทางเข้าประเทศและในประเทศพบโอมิครอน 66.5% แต่ไม่ได้แปลว่าในไทยวันนี้มีโอมิครอน 66.5% เพราะตัวอย่างสุ่มตรวจ ในทางสถิติ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่หมายตา เช่น กลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทั่วโลกมีโอมิครอนเยอะ ก็ต้องตรวจพบสัดส่วนการติดเชื้อโอมิครอนเยอะมากตามไปด้วย หรือกลุ่มที่มีประวัติสัมผัสผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เช่น คลัสเตอร์กาฬสินธุ์ ตัวอย่างเป็นร้อยซึ่งมีประวัติสัมผัส เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะเป็นโอมิครอนค่อนข้างสูง

 

"หากมองจริงๆ ใน 2 วันที่ผ่านมา มีการตรวจพบการติดเชื้อโอมิครอน 27-28 ธ.ค.64 ราว 200 กว่าราย ในขณะที่เรามีผู้ป่วยภาพรวมของประเทศ ภาพรวมสองวันราว 5,000 ราย ดังนั้น คิดเป็นโอมิครอน 5-6% ยังย้ำว่าในพื้นที่ไทยส่วนใหญ่ยังเป็นเดลตา ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน ”

 

ขณะที่ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ พบโอมิครอน 74.7% ชัดเจนว่ากลุ่มนี้ที่อนุญาตให้เข้ามา ทั้ง Test & Go แซนด์บ็อกซ์ หรือกักตัว หมายความว่าเยอะขึ้น ซึ่งต้องจับตากลุ่มนี้เป็นพิเศษ ติดตามตัว แม้ว่าจะผลเป็นลบในวันที่เข้ามาถึงประเทศไทย มีกำหนดว่าต้องตรวจซ้ำวันที่ 5-6 เพื่อให้ได้ข้อมูลมากขึ้น

  • พบโอมิครอนใน 33 จังหวัด

 

ขณะนี้ มี 33 จังหวัด ตรวจพบโอมิครอนอย่างน้อย 1 ราย มีในทุกเขตสุขภาพยกเว้นเขต 2 เขตเดียว ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และมีผู้สัมผัสที่เกิดขึ้นในประเทศอยู่บ้าน

 

“โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อในประเทศ จะเกี่ยวโยงกับผู้ที่ตรวจพบเชื้อก่อนหน้า โดยเฉพาะคลัสเตอร์ใหญ่กาฬสินธุ์ มีจำนวนมากกว่า 200 ราย และข้ามจังหวัด เช่น กรณี 4 รายที่ลำพูน ก็มาจากคลัสเตอร์กาฬสินธุ์ รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงกาฬสินธุ์ ต้องควบคุมให้ได้”
 

 

ในพื้นที่อื่นๆ จะเห็นว่ามีผู้ติดเชื้อจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศประปราย ที่ภูเก็ต กระบี่ เป็นพวกที่มีโอกาสสัมผัสกับคนติดเชื้อโอมิครอน ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ โดยมีจำนวน 19 จังหวัด เป็นการติดเชื้อในประเทศไทย แต่ก็ยังผูกโยงกับคนที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ

 

สำหรับรายชื่อ 33 จังหวัด พบ "โอมิครอน" ระบาดล่าสุดในรอบ 11 วัน  มีดังนี้

 

เชียงราย 1 คน
เชียงใหม่ 5 คน
ลำปาง 1 คน
ลำพูน 4 คน
พิจิตร 1 คน
นนทบุรี 22 คน
พระนครศรีอยุธยา 2 คน
นครปฐม 1 คน
ประจวบคีรีขันธ์ 3 คน
ชลบุรี 18 คน
สมุทรปราการ 37 คน
สระแก้ว 1 คน
กาฬสินธุ์ 121 คน
ขอนแก่น 12 คน
มหาสารคาม 42 คน
ร้อยเอ็ด 50 คน
เลย 2 คน
หนองคาย 4 คน
หนองบัวลำภู 1 คน
อุดรธานี 3 คน
ชัยภูมิ 1 คน
นครราชสีมา 2 คน
บุรีรัมย์ 1 คน
สุรินทร์ 3 คน
มุกดาหาร 1 คน
ยโสธร 1 คน
อุบลราชธานี 4 คน
กระบี่ 3 คน
ภูเก็ต 92 คน
สุราษฎร์ธานี 19 คน
ปัตตานี 4 คน
สงขลา 1 คน
กรุงเทพมหานคร 277 คน

 

สธ.เผย พบ \"โอมิครอน\" ใน 33 จังหวัด รวม 740 ราย

 

  • หน้ากากผ้ายังช่วยป้องกันได้

 

จากข้อคำถามที่ว่า หน้ากากผ้าสามารถป้องกันโอมิครอนได้หรือไม่ นพ.ศุภกิจ อธิบายว่า ต่อให้ใส่ N95 หากใส่ไม่ถูก ก็ไม่ได้กันได้ 100% ขึ้นกับการใส่ วิธีใส่ และการใส่ N95 ใส่ทั้งวันไม่ได้ ขณะที่รองลงมาคือ หน้ากากอนามัย หากคุณภาพดีจะป้องกันได้ระดับหนึ่ง และรองลงมาอีกคือหน้ากากผ้า ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า โอมิครอน ไม่ได้ตัวเล็กลง และยังมาจากสารคัดหลั่งเหมือนเดิมประมาณ 5-6 ไมครอนขึ้นไป ดังนั้น มันไม่ได้ต่างจากเชื้อเดิมที่มีอยู่ การที่หน้ากากสามารถกันเชื้ออัลฟา เดลตา เบต้าได้ ก็สามารถกันโอมิครอนได้เช่นกัน ต้องตั้งสติให้ดี การที่แพร่เร็ว มันมีปัจจัยอื่นๆ มากพอสมควร ไม่ใช่เพราะว่าใส่หน้ากากผ้าแล้วกันไม่ได้ ต้องทำความเข้าใจ

 

และที่สำคัญคือ นอกจากคุณสมบัติของหน้ากาก การใส่ให้ถูกเป็นเรื่องสำคัญ หากใส่แล้วหายใจปลอดโปร่งโล่งสบาย แปลว่ามีรูรั่วด้านข้างมากมาย โอกาสป้องกันก็ลดลงไปอีก เพราะฉะนั้น โดยหลักการ หน้ากากผ้าที่เราแนะนำ ควรเป็นผ้าที่มีคุณสมบัติดี เช่น มัสลิน และมีจำนวนชั้นพอสมควรในการป้องกัน และใส่ให้ถูก เป็นเรื่องที่ไม่ควรตกใจและทำให้เกิดการสับสนวุ่นวาย หน้ากากผ้ายืนยันว่ายังช่วยป้องกันความเสี่ยงได้

 

  • สุ่มตรวจสายพันธุ์อยู่เสมอ 

 

ขณะเดียวกัน การเจอ "โอมิครอน" เพิ่มขึ้น มีข้อคำถามว่าจะมีการสุ่มตรวจสายพันธุ์อื่นๆ ด้วยหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ต้องเรียนว่าวันนี้ เราตรวจไม่ได้ตรวจเฉพาะโอมิครอน เรามองหาทุกสายพันธุ์ที่มองหาทุกสายพันธุ์ที่เคยมีในประเทศไทย อย่างที่เรียนว่า เราสุ่มตรวจไม่ใช่เฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงคนที่อยู่ชายแดน คนไข้อาการหนัก คลัสเตอร์แปลกๆ ยังสุ่มตรวจตลอดเวลา และจำนวนหนึ่งมีการถอดรหัสพันธุกรรม และส่งข้อมูลทั้งหมดไป GISAID ประเด็นคือ การแพร่ระบาดใดๆ ก็ตาม หากมีจำนวนการแพร่เชื้อค่อนข้างมากและเร็ว โอกาสกลายพันธุ์สูงตามไปด้วย

 

"ตอนที่เดลตาระบาดในไทย ติดเชื้อวันละ 2-3 หมื่นราย เราก็ห่วงว่าอาจจะมีสายพันธุ์ย่อย และทั่วโลกก็พบว่า ตอนนี้มีสายพันธุ์ย่อยของเดลตาไปถึง AY.85 แล้ว เพราะฉะนั้น ทั่วโลกต้องช่วยกัน ยืนยันว่าแม้จะวันหยุด ได้สั่งการให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่ง ไม่หยุดตรวจสายพันธุ์ จะดำเนินการอย่างเข้มข้น เพียงแต่ว่า วันนี้ ตัวเลขของโอมิครอนเยอะขึ้น เป็นธรรมชาติของการแพร่เชื้อ ทั่วโลกก็พบแบบนี้มากขึ้น เราต้องสุ่มตรวจต่อไปและถอดรหัสต่อไป หากมีข้อมูลเพิ่มเติมจะมาเรียนพี่น้องสื่อมวลชนทราบ" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์