ปลัดสธ.ระบุข้อมูล "โอมิครอน"ตอนนี้ ความรุนแรงไม่มากกว่าสายพันธุ์เดลตา

ปลัดสธ.ระบุข้อมูล "โอมิครอน"ตอนนี้ ความรุนแรงไม่มากกว่าสายพันธุ์เดลตา

ปลัดสธ.ระบุข้อมูลโอมิครอน ณ ตอนนี้ ความรุนแรงไม่มากกว่าเดลตา แต่อาจแพร่เร็วกว่า ยกระดับระบบควบคุมป้องกันโรค-วางแผนรองรับการรักษา เตรียมเสนอฉากทัศน์คาดการณ์โอมิครอนระบาด 27 ธ.ค.

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่ศาลาพระธรรมโกศาจารย์ วัดพุทธปัญญา จังหวัดนนทบุรี กระทรวงสาธารณสุข นำโดยนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 )ในประเทศไทย  

       นพ.เกียรติภูมิ กล่าวภายหลังการทำบุญว่า ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนโควิด-19สะสมได้ 101 ล้านโดส เป็นการสร้างความปลอดภัยของประเทศชาติ แต่ในการระบาด 2 ปีที่ผ่านมา มีคนป่วย เสียชีวิตมากกว่า 2 หมื่นราย กระทรวงสาธารณสุขมีความเสียใจต่อการเสียชีวิตที่ผ่านมา ในจำนวนนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ประมาณ 20 กว่าราย อสม. 38 ราย จากนี้ หวังว่าทุกคนจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไป และรีสตาร์ทการทำงานกันใหม่ ซึ่งขณะนี้ประเทศมีความปลอดภัยพอควร 

   สำหรับเชื้อโอมิครอนนั้น ข้อมูลยังไม่ชัดเจน แต่ข้อสรุป ณ ตอนนี้(23 ธ.ค.2564)คือความรุนแรงไม่มากกว่าเดลตา อาจแพร่เร็วกว่า แต่ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้  ซึ่งเตียงรองรับทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 2 แสนเตียง ตอนนี้ใช้ไป 3 หมื่นเตียง อย่างไรก็ตาม สธ.ประชุมเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. มีการยกระดับควบคุม ป้องกันโรค วางแผนรองรับทั้งการรักษา และได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค จำลองฉากทัศน์คาดการณ์การระบาดของเชื้อโอมิครอนด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปวันที่ 27 ธ.ค. นี้ โดยจะมีการเพิ่มตัวแปรเรื่องการครอบคลุมวัคซีนเข้าไปด้วย  

         “หากประเมินในช่วงที่เชื้อเดลตาเข้าไทยขณะนั้นการฉีดวัคซีนเพียง 20-30% เท่านั้น ส่งผลให้ความรู้ยังมีไม่มาก เตียงก็อาจจะไม่พอ แต่ตอนนี้มีเตียงเพียงพอ มีระบบการดูแลที่บ้านหรือในชุมชน( HI /CI) รองรับ และการครอบคลุมวัคซีนมีมากขึ้น เบื้องต้น จากข้อมูลกรมควบคุมโรครายงานเข้ามา คือ โอมิครอนความรุนแรงไม่น่ามากกว่าเดลตา เพราะจากข้อมูล และรายงานต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ติดเชื้อเป็นหมื่นราย เสียชีวิตราว 12 ราย" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

    อนึ่ง ประเทศไทยมีการเปิดระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2563 โดยเป็นการเฝ้าระวังผู้เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน วันที่ 13 ม.ค.2563 รายงานยืนยันพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศไทย และรายแรกนอกประเทศจีน วันที่ 15 ม.ค. 2563 พบผู้ป่วยคนไทยรายแรกเดินทางกลับจากจีน วันที่ 27 ม.ค. 2563 นายกรัฐมนตรี แถลงยกระดับศูนย์ปฎิบัติการณ์ตอบโต้สถานการณ์ วันที่ 30 ม.ค.2563 องค์การอนามัยโลก(WHO) ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ และวันที่ 1 มี.ค.2563 ประเทศไทยมีรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19รายแรก