"โควิด-19" กระทบ “กาย-ใจ” เด็ก แนะพ่อแม่สร้างเวลาคุณภาพ

"โควิด-19" กระทบ “กาย-ใจ” เด็ก  แนะพ่อแม่สร้างเวลาคุณภาพ

"โควิด-19" กว่า 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบในวงกว้างทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สุขภาพกาย และ "สุขภาพจิต" และไม่เพียงแค่ผู้ใหญ่เท่านั้น เพราะเด็ก และ "วัยรุ่น" ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ผลการประเมิน สุขภาพจิต เด็กและ วัยรุ่น ไทยโดย กรมสุขภาพจิต เก็บข้อมูลจากเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีจำนวน 183,974 คน ที่เข้ามาประเมินสุขภาพจิตตนเองผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ของ กรมสุขภาพจิต ในช่วง 18 เดือนของการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564 พบว่า ร้อยละ 28 ของเด็กและวัยรุ่นมีภาวะเครียดสูง, ร้อยละ 32 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ในขณะที่อีกร้อยละ 22 มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย

 

วานนี้ (2 ธ.ค.64) ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และโฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวในงานแถลงข่าว โควิดกระทบสุขภาพจิต เยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างไร จัดโดย บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต ระบุว่า ปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตคนไทย หากบอกเป็นตัวเลขคร่าวๆ จะพบว่า คนไทยและทั่วโลกมีความคล้ายกัน โดยปกติจะมีคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตราว 20-25% ในสังคม แต่ไม่ใช่แค่จิตเวชเท่านั้นยังรวมไปถึงความเครียดด้วย ขณะที่ ผู้ป่วยจิตเวชราว 10%

 

ทั้งนี้ ช่วงโควิด-19 ปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยจะขึ้นๆ ลงๆ หากระบาดมากเครียดมาก แต่หากระบาดน้อยมีการผ่อนคลายมาตรการ ความเครียดก็จะลดต่ำลง แต่ความเครียดในเด็กและวัยรุ่นมีอัตราสูงมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่ต้องการเพื่อน สังคม ต้องการพัฒนาการ ใกล้เรียนจบและเริ่มทำงาน

 

โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางกาย และผลกระทบทางจิตใจ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย สำหรับทาง “กาย” แน่นอนว่าการติดโควิด ทำให้เกิดผลกระทบทางกายมากมาย บางคนเป็นเล็กน้อย แต่บางคนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แม้ผู้เสียชีวิตในไทยเทียบกับต่างประเทศอาจไม่สูง แต่เราสูญเสียทรัพยากรบุคคลของประเทศไป นอกจากนี้ คนที่ป่วยและหายยังมีผลทำให้สมรรถภาพร่างกายลดลง หรือที่เรียกว่า ภาวะลองโควิด (Long COVID) ที่อาจได้รับผลกระทบทั้งปอด การหายใจ กล้ามเนื้อ ฯลฯ

 

"โควิด-19" กระทบ “กาย-ใจ” เด็ก  แนะพ่อแม่สร้างเวลาคุณภาพ

ขณะเดียวกันทาง “จิตใจ” ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงสังคม วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลง ทำให้คนไม่สามารถปรับตัวได้หรือปรับตัวได้ไม่ดีนัก เกิดความเครียดสูงขึ้น ความเครียดเป็นพื้นฐานของทุกอย่าง ความเครียดที่มากขึ้นจะส่งผลต่อสุขภาพจิต ความสัมพันธ์ในครอบครัว และส่งผลต่อกาย เครียดมากนอนไม่หลับ ปวดหัว ปวดท้อง เจอบ่อยโดยเฉพาะในเด็ก พอไม่สบายกาย ก็ส่งผลต่อจิตด้วย

 

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้สุขภาพกาย จิต มีปัญหา ผู้ใหญ่กังวลว่าจะตกงาน สำหรับผลกระทบต่อเด็กต้องมองหลายด้าน ทั้งเรื่องพัฒนาการร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ ความรู้สึก การเข้าสังคม พัฒนาการเหล่านี้ส่วนมากเกิดที่บ้านและโรงเรียน แต่การอยู่บ้านทุกคนกลับเครียด ดูเหมือนจะใช้เวลาร่วมกันแต่จิตใจอาจไม่พร้อม พ่อแม่ไม่รู้จะพาไปทำอะไร บางคนไม่พร้อมเรียนออนไลน์ทำให้พัฒนาการด้านความรู้น้อยลง เด็กไม่ได้เจอเพื่อนพัฒนาการทางการเข้าสังคมหายไป

 

“พัฒนาการด้านเข้าสังคมสำคัญมาก หากเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางจะเกิดปัญหา การจัดการอารมณ์ก็สำคัญ ดังนั้นพัฒนาการทุกด้านของเด็กเสียไป เด็กต้องเรียนรู้ เรียนหนังสือ ต่อให้เรียนออนไลน์ พ่อแม่ทุกคนก็รู้ว่าไม่เท่ากับไปเรียนที่โรงเรียน ส่งผลระยะสั้น กลาง และระยะยาว ในอนาคต”

 

“อย่างไรก็ตาม แม้ความเครียดโดยรวมสูงขึ้นแต่การมาพบแพทย์ไม่ต่างจากเดิมมากนัก เพราะจิตแพทย์อาจลดการนัดหมายคนไข้ลง ขณะเดียวกัน พบว่า ปัญหาการกลั่นแกล้งโรงเรียนหายไป ปัญหาเด็กที่ไม่อยากไปโรงเรียนหายไป แต่ปัญหาบางอย่างมากขึ้น เช่น ปัญหาสมาธิ เรียนออนไลน์ การทะเลาะในครอบครัว และต่อให้โควิดจบปัญหาสุขภาพจิตก็ยังไม่จบเพราะผลกระทบจิตใจเด็กที่สูญเสียคนในครอบครัว สูญเสียพัฒนาการ อาจจะส่งผลต่อปลายทาง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมาพูดกันหลังจากโควิดจบ”

 

"โควิด-19" กระทบ “กาย-ใจ” เด็ก  แนะพ่อแม่สร้างเวลาคุณภาพ

ทั้งนี้ สำหรับพ่อแม่ “ดร.นพ.วรตม์” ให้คำแนะนำว่า ทำให้ดีที่สุดที่สามารถทำได้ บางคนวิธีการไม่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าพ่อแม่เองต้องรู้ข้อจำกัดว่าไม่สามารออกมาข้างนอกได้ พ่อแม่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างเต็มที่เท่าที่ตัวเองทำได้ อาจจะไม่ดีที่สุดสำหรับคนอื่นแต่ดีที่สุดสำหรับครอบครัว เช่น การออกกำลังกาย ลูกชอบฟุตบอล ทางที่ดีที่สุด คือ อาจจะออกกำลังกายภายในบ้าน

 

“ก่อนโควิดพ่อแม่หลายคนอยากมีเวลาอยุ่กับลูกเยอะๆ แต่ตอนนี้ได้เวลานี้มาแล้ว ในวิกฤติมีโอกาส เราใช้มันอย่างคุ้มค่าหรือไม่ ทำให้เป็นเวลามีคุณภาพหรือไม่ หรือว่าอยู่ด้วยกันแต่ต่างคนต่างอยู่ ดังนั้น หากมีเวลาอยู่ด้วยกันขอให้ตั้งใจในการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ ขณะเดียวกันพ่อแม่หากอยากให้ลูกเคารพ เราต้องเคารพเด็กในแบบที่เขาควรจะได้รับ เขาอยากทำอะไร อยากให้พ่อแม่ทำอะไร ทำกิจกรรมอะไรกับเขา บางทีเราอาจจะเข้าใจเขามากขึ้น”

 

ต่อจากนี้สิ่งสำคัญ คือ ทุกคนต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมให้ได้มากที่สุด บนพื้นฐานความปลอดภัย หากเด็กไม่รู้สึกปลอดภัย ในการไปโรงเรียน ก็ไม่สามารถมีพัฒนาการที่เต็มที่ ขณะนี้ เริ่มมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น ขอบคุณประชาชนที่ออกมาฉีด เข็ม 1 เกือบ 70% มีการป้องกันตัวมากขึ้น และภาครัฐพยายามสนับสนุนให้คนออกมาใช้ชีวิตบนพื้นฐานความปลอดภัย ไม่เอาตัวเองไปจุดที่เสี่ยงมาก หากทำได้เราจะสามารถปรับตัวเองได้

 

"โควิด-19" กระทบ “กาย-ใจ” เด็ก  แนะพ่อแม่สร้างเวลาคุณภาพ

 

  • ดูแลเด็ก-วัยรุ่น เมื่อมีการติดโควิดในครอบครัว

 

สำหรับแนวทางการดูแลจิตใจเด็กและวัยรุ่น เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในครอบครัว จาก กรมสุขภาพจิต มีดังนี้

 

1. บอกเล่าเหตุการณ์ให้เด็กฟังอย่างตรงไปตรงมา 

2.พยายามสอบถามความต้องการของเด็ก เพื่อให้เด็กรู้สึกมีคุณค่าและสามารถควบคุมอะไรบางอย่างได้ เช่น เลือกช่วงเวลาที่จะติดต่อกันเป็นประจำ หรือตารางกิจกรรมประจำวัน

3. ช่วยเหลือเด็กให้รู้จักและจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ เพื่อให้เด็กสามารถเข้าใจอารมณ์ต่างๆ ให้เด็กลองคิดกิจกรรมที่ช่วยจัดการอารมณ์ได้ด้วยตัวเอง

4. ให้เด็กสามารถสื่อสารกับผู้ปกครองได้อย่างสม่ำเสมอ เช่น ผ่านทางออนไลน์หรือโทรศัพท์ 

5.แสดงความเข้าอกเข้าใจถึงอารมณ์และการแสดงออกของเด็ก ไม่ต่อว่าและไม่ด่วนตัดสิน

6.ช่วยให้เด็กสามารถคงกิจวัตรประจำวันคล้ายเดิมได้มากที่สุด เพื่อลดความรู้สึกถึงสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

7.สร้างความเชื่อมั่นว่าผู้ที่ดูแลเด็กในขณะนั้นเป็นที่พึ่งพิงให้เด็กได้ ทั้งในกรณีที่เด็กต้องไปอยู่ในโรงพยาบาล หรือเด็กต้องอยู่กับผู้ดูแลคนอื่นขณะที่ผู้ปกครองรักษาตัว

 

  • เล่นกีฬาเยียวยาช่วงโควิด

 

สมัชชา พรหมศิริ Chief of Staff ฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อสุขภาวะทางจิต (Mental Wellbeing) ตลอดจนพัฒนาการของเด็กและเยาวชนในทุกด้าน ทั้งนี้ จากรายงานล่าสุดขององค์การยูนิเซฟระบุว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างรุนแรงและกลายเป็นวิกฤตที่หนักหนาสาหัสที่สุดในประวัติศาสตร์ 75 ปี และกลายเป็นอุปสรรคฉุดรั้งความก้าวหน้าในหลายด้านที่สะสมมาหลายศตวรรษ ทั้งด้านความยากจน สุขภาพ การเข้าถึงการศึกษา โภชนาการ การคุ้มครองเด็ก และสุขภาพจิตของเด็ก 

 

"โควิด-19" กระทบ “กาย-ใจ” เด็ก  แนะพ่อแม่สร้างเวลาคุณภาพ

 

ปี 2549 โครงการ แสนสิริ อะคาเดมี่ แสนสิริ  ให้การส่งเสริมการเรียนรู้พื้นฐานด้านกีฬาฟุตบอลให้เยาวชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย  5 สนาม ได้แก่ สนามฟุตบอลปัญญาซอคเกอร์ปาร์ค สนามฟุตบอลอาม่าซ็อคเกอร์คลับ สนามฟุตบอลศูนย์ฝึกกีฬา อ่อนนุช สนามฟุตบอล The Corner FC และสนามหน้าที่ว่าการอำเภอกระทู้ จ.ภูเก็ต ปัจจุบันมีประมาณ  8,000 คน

 

ล่าสุด จัดทำโครงการ เพื่อดูแลสุขภาวะทางจิต (Mental Wellbeing) เชิญนักจิตวิทยาและนักโภชนาการมาให้ความรู้และส่งเสริมพัฒนาการ รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจของผู้ปกครองในการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยในปีหน้า (2565) ขยายการให้ความรู้ครอบคลุม 360 องศามากขึ้น

 

อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในช่วงเดือนมษายน 2564 ได้ปรับรูปแบบการฝึกซ้อมส่งคลิปวีดีโอจากโค้ชให้แก่เด็กๆ ใช้ในการฝึกทักษะที่สามารถฝึกเองที่บ้านได้ ทั้งแบบเรียลไทม์ และผ่านการส่งคลิปวีดีโอจากนั้นให้เด็กอัดคลิปในการฝึกส่งมายังโค้ช เพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะที่ต่อเนื่อง หากสถานกาารณ์ผ่อนคลายจะกลับมาเปิดทำการฝึกซ้อมในสนามจริงอีกครั้ง