เร่งช่วยเหลือลูกจ้าง กรณีนายจ้างเรียกเก็บค่าเดินทางมาทำงาน

เร่งช่วยเหลือลูกจ้าง กรณีนายจ้างเรียกเก็บค่าเดินทางมาทำงาน

รมว.แรงงาน เร่งช่วยเหลือลูกจ้างร้องเรียนผ่านโซเชียล กรณีนายจ้างเรียกเก็บค่าเดินทางมาทำงาน และสภาพการจ้างงานไม่เป็นไปตามข้อตกลง  สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบหาข้อเท็จจริง และดำเนินการช่วยเหลือทันที  

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรณีลูกจ้างร้องเรียนผ่าน Facebook ของกระทรวงแรงงาน เนื่องจากลูกจ้างสมัครเข้าไปทำงานที่สวนทุเรียน จังหวัดพิจิตร แล้วถูกนายจ้างเรียกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน และสภาพการจ้างงานไม่เป็นไปตามข้อตกลงนั้น กระทรวงแรงงาน ได้รับทราบข้อร้องเรียนดังกล่าว และได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 
ลงพื้นที่พร้อมด้วยสำนักงานจัดหางานจังหวัดพิจิตร และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิจิตร เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างทันที

 

  • เอาผิดนายจ้างเก็บเงินค่าเดินทางมาทำงาน

โดยพบว่า ลูกจ้าง ผู้ร้องเรียนได้ติดต่อสมัครงานทาง facebook และได้รับการติดต่อจากนายจ้างโดยเสนองานให้ไปทำที่สวนทุเรียน จังหวัดพิจิตร ซึ่งนายจ้างได้เดินทางไปรับลูกจ้าง และครอบครัวที่จังหวัดระยอง ในระหว่างการเดินทาง นายจ้างได้แจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 5,000 บาท แต่ลูกจ้างมิได้ตอบตกลงหรือปฏิเสธแต่อย่างใด เมื่อได้มีการเจรจาตกลงเกี่ยวกับการจ้างงาน นายจ้างแจ้งว่าค่าตอบแทนต้องรอดูผลงานก่อนซึ่งการจ้างจะเป็นลักษณะงานเหมา กำหนดจ่ายค่าตอบแทนทุกวันสิ้นเดือน ลูกจ้างและครอบครัวจึงได้ตัดสินใจที่จะไม่ทำงานกับนายจ้าง เนื่องจากไม่สามารถตกลงกันในเรื่องค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงานได้

 

  • พร้อมช่วยเหลือลูกจ้างถูกนานจ้างเอาเปรียบ

สำนักงานจัดหางานจังหวัดพิจิตรจึงได้ประสานนายจ้างสวนส้ม รายอื่น เพื่อจะให้ลูกจ้างเข้าไปทำงาน แต่ลูกจ้างนั้นไม่ประสงค์จะทำงานที่จังหวัดพิจิตรแล้ว และจะขอกลับไปจังหวัดระยอง สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพิจิตรจึงได้ให้ความช่วยเหลือค่าอาหาร และค่าน้ำมันรถ พร้อมทั้งประสานศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดพิจิตรเพื่อให้ที่พักอาศัยให้แก่ลูกจ้างและครอบครัว 1 คืน และจัดหารถยนต์เพื่อนำลูกจ้างและครอบครัวไปส่งยังจังหวัดระยอง 

 นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าวนี้ไม่พบว่ามีการหลอกลวงมาทำงาน ไม่ได้มีการกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด จึงไม่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และเนื่องจากลูกจ้างยังไม่ได้มีการทำงาน สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานจึงยังไม่เกิดขึ้น