ผลสุ่มตรวจ"โอมิครอน"ในประเทศไทย "โอมิครอนไลค์"วิธีมาตรฐานเจอติดเชื้อ

ผลสุ่มตรวจ"โอมิครอน"ในประเทศไทย "โอมิครอนไลค์"วิธีมาตรฐานเจอติดเชื้อ

สธ.เผยตรวจเบื้องต้นไทยพบติดโอมิครอนเพิ่ม 1 ราย เป็นรายที่ 4  สุ่มตรวจเฝ้าระวังในประเทศยังไม่พบโอมิครอน ส่วนใหญ่ยังเป็น เดลตา ระบุ“โอมิครอน ไลค์”ยังตรวจด้วยRT-PCRเจอติดโควิด-19 เร่งเพาะเชื้อโอมิครอน ศึกษาผลต่อภูมิคุ้มกันของคนไทย 

          เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 6 ธ.ค.2564 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับตัวอย่างมา 1 ราย ชายไทย อายุ 41 ปี เจ้าหน้าที่ยูเอ็น เป็นผู้เดินทางจาประเทศ ดีอาร์ คองโก เข้าประเทศไทยผ่านระบบ Test and go มีประวัติรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ผลตรวจเบื้องต้นด้วยวิธี SNP หรือ สนิปเทสต์ ตรวจเฉพาะตำแหน่งยีน พบว่ามีโอกาสเป็นโอมิครอน โดยมีตำแหน่งกลายพันธุ์สอดคล้องกับตำแหน่งที่พบในโอมิครอน 4 ตำแหน่ง  นับเป็นรายที่ 4 ที่ประเทศไทยตรวจพบ

      "สรุปไทยมีคอนเฟิร์มโอมิครอน 3 รายเป็นชาวอเมริกัน 1 รายและเป็นหญิงไทย 2 รายที่เดินทางจากประเทศไนจีเรีย ส่วนรายที่ 4 เป็นชายไทย เดินทางมาจากต่างประเทศ ย้ำว่ายังไม่พบเคสที่เกิดขึ้นในประเทศ ขณะนี้ผลตรวจรายที่ 4 เบื้องต้นมีแนวโน้มว่าจะเป็นโอมิครอน ซึ่งต้องรอผลการตรวจยืนยันอีกครั้ง และทางกรมควบคุมโรคกำลังสอบสวนติดตามผู้สัมผัส" นพ.ศุภกิจ กล่าว

       นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่มีการระบาดโควิด-19 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่าย ได้เฝ้าระวังการตรวจรหัสพันธุกรรมมาโดยตลอด แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ ตรวจด้วยวิธี SNP หรือ สนิปเทสต์ ตรวจเฉพาะตำแหน่งยีน เพื่อดูสายพันธุ์เบื้องต้น เช่น เดลตา เบตา อัลฟ่า ใช้เวลา 1 วัน และตรวจด้วย WGS หรือ โฮจีโนมซีเควนซิ่ง เป็นการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสทั้งตัว เพื่อยืนยันอีกครั้ง ซึ่งในการตรวจหาสายพันธุ์โอมิครอนจะใช้วิธีการตรวจทั้ง 2 แบบ โดยหากตรวจวิธี SNPแล้วผลเบื้องต้นเป็นโอมิครอนจะตรวจด้วยวิธีWGSทุกราย เพื่อให้เกิดความมั่นใจและยืนยันผล
ยังไม่พบโอมิครอนภายในไทย

         สำหรับการตรวจสะสมตั้งแต่ 1 พ.ย.-  8 ธ.ค.2564 ผู้เดินทางจากต่างประเทศ และสุ่มคนที่อยู่ในประเทศ รวม 1,645 ตัวอย่าง เจอเดลตา เกือบทั้งหมด ยกเว้น 4 รายเป็นโอมิครอน เท่ากับมีเดลตาราว 99%กว่าๆ ส่วนโอมิครอน ไม่ถึง 1% ดังนั้น ศัตรูที่อยู่รอบบ้านตอนนี้ยังเป็นสายพันธุ์เดลตา โดยตัวอย่างตรวจโอมิครอนในประเทศนั้น มีการสุ่มจากคนที่มีอาการหนัก ตามแนวชายแดน คลัสเตอร์ที่น่าสงสัย ผู้ที่รับวัคซีนครบโดสแล้วแต่ยังติดเชื้อ  ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง  และผู้ที่ติดเชื้อซ้ำ  กลุ่มเหล่านี้หากตรวจพบติดโควิด-19ก็จะมีการสุ่มมาตรวจหาสายพันธุ์ เพื่อเฝ้าระวังสายพันธุ์โอมิครอนภายในประเทศ ซึ่งการตรวจวิธีSNPนั้น ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่งสามาระตรวจสายพันธุ์ได้ 

เร่งเพาะโอมิครอนศึกษาผลต่อภูมิฯคนไทย

    นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กรมได้ตัวอย่างเชื้อโอมิครอนเป็นๆมาแล้ว อยู่ระหว่างการเพาะเชื้อให้ได้ปริมาณมากขึ้น เพื่อนำมาทดสอบกับภูมิคุ้มกันของคนไทย ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19สูตรต่างๆว่าเป็นอย่างไร ให้ได้เป็นข้อมูลของคนไทยเองว่าจัดการได้โอมิครอนได้แค่ไหน  แต่จะต้องใช้เวลาในการศึกษา
“โอมิครอนไลค์”แล็ปไทยยังตรวจได้
     ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีวิธีตรวจด้วยRT-PCRยังตรวจเจอโควิด-19หากติดโอมิครอน ไลค์ หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า  ยังสามารถตรวจได้ว่าติดโควิด-19 ส่วนจะเป็นสายพันธุ์ใดจะต้องใช้วิธีการตรวจดังกล่าวข้างต้น  โดยการตรวจด้วยวิธีSNP ว่าเป็นโอมิครอน เดิมบอกว่าถ้าเจอ 2 ตำหน่งที่เหมือนอัลฟาและเบตาอยู่ในตัวอย่างเดียวกัน จะสรุปว่าเป็นโอมิครอน แต่ถ้าเชื้อตีเนียนส่วนที่เป็นอัลฟาในโอมิครอนหาไม่เจอแล้ว ก็มีการดักด้วยการตรวจอีก 2 ตำแหน่ง คือ T478K และ N501Y เพราะฉะนั้น เท่ากับมีการตรวจ 4 ตำแหน่ง  เหมือนกับ 4 รายที่มีการตรวจพบ เชื้อจึงยังเนียนไม่ได้ ยังตรวจจับได้ เว้นจะมีการกลายพันธุ์จนกระทั่งเป็นคนละเรื่องละราว ต้องมาว่าสูตรตรวจดันใหม่