10 มาตรการไทยยกระดับ ชะลอ"โอมิครอน"เข้าประเทศ

10 มาตรการไทยยกระดับ ชะลอ"โอมิครอน"เข้าประเทศ

ท่ามกลางข้อมูลที่ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน แต่มีแนวโน้มแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา หลายประเทศจึงประกาศมาตรการด่วนเพื่อป้องกัน รวมถึง ประเทศไทยด้วย ซึ่งมีการยกระดับแล้วอย่างน้อย 10 มาตรการ เพื่อชะลอเวลาไม่ให้ระบาดออกไปนานที่สุด

1.ห้าม 8 ประเทศเข้าประเทศไทยตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2564

    8 ประเทศที่ประเทศไทยประกาศเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2564 ห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติที่เดินทางจากประเทศเหล่านี้เข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564 เนื่องจากเป็นประเทศที่เสี่ยงต่อการระบาดของโควิด-19สายพันธุ์ใหม่โอมิครอน ประกอบด้วย บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวิ โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว

2.ประเทศอื่นนอกเหนือจาก 8 ประเทศในทวีปแอฟริกาให้เข้าประเทศในรูปแบบกักตัว

     จากที่ประเทศไทยมีการเปิดประเทศเมื่อวันที่1 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา โดยกำหนดการเข้าประเทศใน 3 รูปแบบ คือ เทสต์แอนด์โก ซึ่งมี 63 ประเทศ แต่ไม่มีรายชื่อประเทศจากทวีปแอฟริกา  แซนด์บอกซ์ ซึ่งเดิมประเทศจากแอฟริกาสามารถเข้ามาในรูปแบบนี้ได้ แต่ยกระดับให้ไม่สามารถเข้าในรูปแบบนี้ได้ และกักตัว โดยประเทศจากทวีปแอฟริกานอกเหนือจาก 8 ประเทศที่ห้ามเข้า สามารถเข้ามาในประเทศไทยได้ โดยจะต้องมีการกักตัวตามที่กำหนด

3.เพิ่มวันกักตัวจาก 10 วันเป็น 14 วัน 
      จากที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีการปรับลดวันกักตัวของผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยจาก 14 วันเหลือ 10 วัน เนื่องจากการวิเคราะห์ข้อมูลก่อนหน้านี้พบว่า การตรวจพบติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวันที่ 5-7 อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสายพันธุ์โอมิครอน จึงได้มีการปรับให้การกักตัวเป็น 14 วันเช่นเดิม

4.ใช้การตรวจRT-PCR ในผู้เดินทางเข้าประเทศแบบเทสต์แอนด์โก

       กรณีผู้เดินทางเข้ามาในประเทศด้วยรูปแบบเทสต์แอนด์โก จาก 63 ประเทศที่มีการประกาศ ซึ่งเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยจะต้องตรวจหาโควิด-19ทันทีในวันแรกที่มาถึง โดยใช้การตรวจวิธีมาตรฐานRT-PCR  แต่เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2564  ศบค.เห็นชอบให้ใช้การตรวจด้วยATKในกรณีได้ ทว่าเมื่อกลางดึกวันที่ 26 พ.ย. องค์การอนามัยโลกหรือWHO ประกาศให้โควิดสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน เป็นสายพันธุ์น่าห่วงกังวล(VOC)ตัวที่ 5 ในวันที่ 27 พ.ย.สธ.จึงให้มีการใช้วิธีการตรวจRT-PCTในกรณีต่อไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2564

5.ส่งตัวอย่างจากผู้เดินทางเข้าประเทศตรวจสายพันธุ์ทุกราย 

       สธ.ได้ขอให้สถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ที่มีการตรวจโควิด-19ให้กับผู้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยทุกแห่ง หากตรวจพบการติดเชื้อ จะต้องส่งตัวอย่างเพื่อตรวจหาสายพันธุ์โอมิครอนยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกราย

6.เพิ่มเทคนิคตรวจหาสายพันธุ์โอมิครอนให้ได้รวดเร็ว

        จากที่โอมิครอนเป็นโควิดสายพันธุ์ ในประเทศไทยจึงยังไม่มีน้ำยาเฉพาะในการตรวจหาสายพันธุ์เหมือนสายพันธุ์อื่น แต่เนื่องจากจุดกลายพันธุ์ของโอมิครอนบางจุดเหมือนกันในสายพันธุ์อัลฟาและบางจุดเหมือนกัหบในสายพันธุ์เบตา จึงมีการน้ำยาเฉพาะของ 2 สายพันธุ์มาตรวจหาโอมิครอน โดยหากพบว่าแสดงเป็นบวกในทั้ง 2 สายพันธุ์แสดงว่าเป็นโอมิครอน ซึ่งทำให้สามารถตรวจรู้ผลได้รวดเร็วใน 1 วัน โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจได้ เป็นการใช้ระหว่างที่พัฒนาน้ำยาตรวจเฉพาะของโอมิครอน ที่คาดว่าจะใช้เวลา 2 สัปดาห์

7.ติดตามตัวผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกามาตรวจโควิด-19รอบที่ 4 ด้วยวิธีRT-PCR

       ก่อนวันที่ 27 พ.ย.2564 ผู้เดินทางจากประเทศในทวีปแอฟริกาสามารถเข้าประเทศไทยได้ในรูปแบบแซนด์บอกซ์ หากเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และมีผลตรวจยืนยันด้วยวิธีRT-PCRก่อนเดินทางไม่พบเชื้อภายใน 72 ชั่วโมง   เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยวันแรกมีการตรวจด้วยหาเชื้อ RT-PCR  และก่อนออกจากแซนด์บอกซ์ในวันที่ 7 มีการตรวจหาเชื้ออีกครั้งด้วยATK เท่ากับจะต้องมีการตรวจหาเชื้อแล้ว 3 ครั้งและทั้งหมดต้องแสดงผลไม่พบเชื้อ ดังนั้น ผู้เดินทางในกลุ่มนี้ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น  จึงได้มีการติดตามมาตรวจหาเชื้อยืนยันอีกครั้งด้วยวิธีRT-PCRเป็นการตรวจครั้งที่ 4 

8.มท. กำชับผู้ว่าฯ ทั่วประเทศคุมเข้มแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย
     กระทรวงมหาดไทย(มท.)ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการดำเนินมาตรการในการสกัดกั้นโรคดังกล่าวจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้มข้นตามอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ทั้งจังหวัดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกับจังหวัดชายแดน และจังหวัดชั้นใน
ต้องให้ความสำคัญกับการข่าว รู้ข้อมูลผู้เดินทางเข้า-ออกพื้นที่ และบูรณาการฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง ควบคุมการลักลอบเข้าประเทศ
และการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอย่างเข้มข้น เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง และเฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน”เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน

9.เตรียมพร้อมระบบสาธารณสุข

    การสำรองยาฟาร์วิพิราเวียร์ ขณะนี้มีการสำรองไว้ใช้ได้ 45 วัน  หากมีการใช้วันละ 5 แสนเม็ด และองค์การเภสัชกรรม(อภ.)มีการสำรองวัตถุดิบไว้สำหรับการผลิตยาฟาร์วิพิราเวียร์ได้เองรองรับ 60 ล้านเม็ด  รวมถึง มีการลงนามสัญญาจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ที่จะเข้ามาในเดือนม.ค.2565 อีก 5 หมื่นคอร์ส และเตรียมจัดหายาแพกซ์โลวิดอีก 5 หมื่นคอร์ส เพื่อเตรียมไว้เป็นทางเลือกในการรักษา
ส่วนวัคซีน ประเทศไทยมีวัคซีนมากพอ โดยเป็นวัคซีนที่จัดหาโดยรัฐ 130 ล้านโดส และวัคซีนทางเลือกอีก  20-30 ล้านโดส ซึ่งหากสถานการณ์ของโอไมครอนมีความรุนแรงต่อการระบาด ในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วและจำเป็นต้องบูสเตอร์โดส ก็มีวัคซีนมากเพียงพอที่จะฉีดให้ โดยวัคซีนไฟเซอร์ที่สั่งซื้อ  30 ล้านโดส ขณะนี้ฉีดไปแล้วประมาณ 10 ล้านโดส เหลืออีก 20 ล้านโดส  แอสตร้าเซนเนเก้าเหลืออีก 20 ล้านโดส และโมเดอร์นาที่รับบริจาค 1 ล้านโดสก็ยังฉีดไปได้ไม่มาก

10.กำชับ 7 จังหวัดสำรองเตียงเพิ่ม

     จากจำนวนเตียงโควิด-19 ราว 2 แสนเตียง ขณะนี้มีการครองเตียงอยู่ที่ 28.8 % ยังมีเตียงเพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม อาจมีเตียงหนาแน่นในบางจังหวัด ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะจังหวัดที่ติดเชื้อแบบ Sideway คือ มีผู้ติดเชื้อขึ้นลงไม่มาก ประมาณ 100 รายต่อวัน หากเกิดระบาดขึ้นจำเป็นต้องใช้เตียงเหลืองหรือเตียงแดง ซึ่งมี 10 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีการครองเตียงเกิน 70% มี 5 จังหวัด คือ ขอนแก่น เตียงแดง 72% เตียงเหลือง 76.9% , นครศรีธรรมราช เตียงแดง 72.6% เตียงเหลือง 73.9% , พัทลุง เตียงเหลือง 83.2% , กระบี่ ครองเตียงทั้งหมด 84.2% เตียงแดง 88.1% เตียงเหลือง 89.4% และสตูล เตียงแดง 72.7%

ส่วนจังหวัดที่เป็นลักษณะของ Increasing คือ เคสปัจจุบันต่อวันเพิ่มขึ้นวันละ 100 รายต่อวัน ก็กังวลว่าถ้ามาทุกวันต้องอยู่อย่างน้อย 14 วัน หรือเคสหนัก 20 วันก็จะไม่พอ โดยจังหวัดที่มีการครองเตียงเกิน 70% มี 2 จังหวัด คือ สิงห์บุรี เตียงแดง 57.1% ถือว่ายังเพียงพอ แต่เตียงเหลือง 71.2% ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ และ สุราษฎร์ธานี เตียงแดง 73.1% และเตียงเหลือง 79.6%