4 ความเปลี่ยนแปลง ยุคโควิด-19 สู่การปรับตัว Next Normal

4 ความเปลี่ยนแปลง ยุคโควิด-19 สู่การปรับตัว Next Normal

"โควิด-19" สร้างการเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ การศึกษา การทำธุรกิจทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค ไม่เพียงแค่การปรับตัวในยุค "New Normal" แต่ยังต้องปรับตัวให้ทันเพื่อใช้ชีวิตแบบ "Next Normal" อีกด้วย

เป็นเวลากว่า 2 ปีที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับ โควิด-19 เกิดการปรับตัวอย่างรุนแรงทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยชนิดที่เรียกว่าไม่ปรับตัวก็อยู่ไม่ได้ ทำให้มีความปกติใหม่ๆ New Normal เกิดขึ้น เทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการใช้จ่ายด้วยระบบออนไลน์ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกๆ กลุ่มประชากร ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นกว่า 40% และความนิยมการเป็นผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้นทำให้ธุรกิจ OEM เป็นที่นิยม รวมถึงรูปแบบทางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป และสิ่งสำคัญ คือ ความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพและการแพทย์ การปรับตัวจึงต้องอาศัยเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ ในการเข้ามาเป็นตัวช่วย

 

วันนี้ (8 ธ.ค. 64) ศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด หรือ นีโอ กล่าวภายในงานแถลงข่าว ภาครัฐ-เอกชน ผนึกกำลังเตรียมจัด 4 งานใหญ่ส่งท้ายปี ณ ไบเทคบางนา โดยระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 กว่า 2 ปีที่ผ่านมา คนไทยมีการปรับตัวมากขึ้น มีเทรนด์ในการทำงานอยู่บ้าน ใช้เทคโนโลยี และเริ่มมองหาในการทำธุรกิจ สร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง ขณะเดียวกัน นักเรียนนักศึกษา ที่ไปโรงเรียนไม่ได้ ทำให้ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน ดังนั้น เทคโนโลยีด้านการศึกษา จะเปลี่ยนแปลงไปในอีกรูปแบบหนึ่ง

 

นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ โดยมีคนสูงวัย 20% ของจำนวนประชากร นับเป็น 1 ใน 4 ของคนไทยทั้งหมด ชีวิตความเป็นอยู่ และไลฟ์สไตล์ของคนกลุ่มนี้จะเป็นอย่างไร ไม่มีใครอยากพึ่งพาลูกหลานในอนาคต ดังนั้น ทำอย่างไรให้คนเริ่มวางแผนชีวิตของตนเอง ปูทางเรื่องการดูแลสุขภาพ การเงิน การใช้ชีวิตระยะยาวให้มีความสุขและไม่รบกวนลูกหลานมากนัก ดังนั้น Next Normal ในอนาคตจะปรับตัวอย่างไร

 

4 ความเปลี่ยนแปลง ยุคโควิด-19 สู่การปรับตัว Next Normal

1. โลกเปลี่ยน การศึกษาเปลี่ยน

 

ดร.วรวงค์ รักเรืองเดช รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การเรียนรู้ของเด็กสมัยนี้ เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเด็กสมัยนี้จะเรียนรู้ใน 3 มิติ คือ

 

1. ธรรมชาติสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

2. เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามามีบทบาทกับเราในทุกวัน

และ 3. เรื่องของคน สังคม วัฒนธรรมแต่เดิมเราเรียนรู้การพูดคุยพบปะกัน แต่เด็กสมัยนี้เรียนรู้โลกอีกแบบหนึ่ง คือ การอยู่ในสังคมออนไลน์

 

ดังนั้น ทักษะในการใช้ชีวิตจะคนละเรื่องกับเด็กยุคก่อน เพราเกิดมากับเทคโนโลยี เส้นแบ่งของโควิด-19 ทำให้เกิดปรากฎการตรงนี้ขึ้นมา แล้วเราจะให้เด็กเรียนรู้อะไรได้บ้าง เคารพธรรมชาติอย่างไร และอยู่กับเทคโนโลยี เรียนรู้สังคมออนไลน์ให้ได้

 

การศึกษาเป็นระบบการเตรียมความพร้อมของคนในอนาคต เด็กในวันนี้เขาจะได้ใช้ทักษะความรู้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่จะใช้ชีวิตในอีก 40 -50 ปี ดังนั้น การเรียนรู้สำคัญมาก แต่ถามว่าเขาจะฝึกเรียนรู้สิ่งใหม่ได้อย่างไร เป็นคำถามที่ทุกคนต้องช่วยกัน ปัจจุบัน เด็กอยากเรียนสิ่งที่ตัวเองสนใจ ผลสำรวจเด็กในกทม. ใช้เน็ตวันละ 12 – 13 ชั่วโมงต่อวัน ความยากอยู่ที่เด็กที่เกิดมาเขาจะเรียนรู้โลกวิถีใหม่ โดยที่ต้องหาคนไกด์ที่มีความสามารถสูง นั่นคือ ครู

 

4 ความเปลี่ยนแปลง ยุคโควิด-19 สู่การปรับตัว Next Normal

คำถาม คือ เราจะช่วยครูที่จะเป็นคนไกด์ให้เด็ก ให้ฟีดแบคที่ดีให้กับเด็กได้เรียนรู้เรื่องพวกนี้ได้อย่างไร เทคโนโลยีดิจิทัลที่เห็น โลกกำลังเปลี่ยน โรงเรียนจะเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ใช้สื่อ เครื่องมือ อุปกรณ์ 5G ในอนาคต สังคมอาจจะเป็นคนจัดการศึกษาเองก็ได้ หรือโรงเรียนอาจจะเป็นพื้นที่ในการมาพูดคุยในส่วนที่ทำออนไลน์ไม่ได้ ทำการทดลอง หรือแม้กระทั่งอาจจะไม่มีโรงเรียนแล้วก็ได้ โลกมีฉากทัศน์ที่กำลังเกิดขึ้น แต่สิ่งที่พวกเราอยากเห็น คือ โซลูชั่น ที่จะนำมาช่วยกันตอบโจทย์

 

“ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สสวท. มีโครงการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางคณิศาสตร์และวิทยาศาสตร์ กว่า 30 ปี มีครูในระบบ 5,000 คน ซึ่งเป็นครูที่เก่งมาก เนื่องจากเรียนรู้ธรรมชาติ เทคโนโลยี และสามารถถ่ายทอดให้คนยุคใหม่ได้ เป็นจุดสำคัญที่เชื่อว่าครูเหล่านี้สามารถช่วยในระบบการศึกษาได้"

 

"นอกจากนี้ โควิด-19 ทำให้เด็กไปโรงเรียนไม่ได้ เราในฐานะผู้ผลิตหนังสือเรียน ตั้งแต่ ป.1 – ม.6 เด็กไม่มีหนังสือเรียนทำอย่างไร เราใช้เวลาปีกว่าในการผลิตคลิป เปลี่ยนหนังสือ 12 ชั้นปี 120 ปก เป็นคลิปวิดีโอสั้นๆ สอนจากครูที่เก่งที่สุด แปลงออกมาไว้ในออนไลน์ 3,000 กว่าคลิป จำลองเหตุการณ์ทุกอย่าง เรียนรู้จากของจริง ให้เด็กได้เห็นภาพขึ้นมา รวมถึง สื่อ AR เช่น เรื่องของเซลล์ หรือการดูแกนกลางของโลก นี่เป็นนวัตกรรม และเมื่อเรามีคอนเทนต์ที่ครบ ครูสามารถเลือกใช้ได้” ดร.วรวงค์ กล่าว 

 

4 ความเปลี่ยนแปลง ยุคโควิด-19 สู่การปรับตัว Next Normal

 

2. เทรนด์รับจ้างผลิต (OEM) เติบโตยุคโควิด

 

ไพฑูรย์ ศิริฉัตรชัยกุล รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีคำถามว่า อุตสาหกรรม OEM จะเติบโตจริงหรือไม่ แต่ ยุคโควิด-19 ทำให้เกิดการบริโภคสินค้า และ OEM เติบโต เนื่องจากเทรนด์ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ จึงเกิดการแมชชิ่งกับผู้ประกอบการ OEM ที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้า สิ่งเหล่านี้เป็นเทรนด์ใน 2 ปีที่เติบโตกันอย่างมากมาย ประกอบกับเทรนด์อีคอมเมิร์ซ โดยในปีนี้มีการสำรวจว่า อีคอมเมิร์ซเติบโต 40% ในขณะที่ธุรกิจอื่นๆ ได้รับผลกระทบ

 

"ดังนั้น เทรนด์รับจ้างผลิตจะเติบโตต่อไป เพราะอนาคตคนรุ่นใหม่ต้องการที่จะมีธุรกิจส่วนตัว แต่ไม่ได้อยากมีโรงงานเป็นของตัวเอง OEM หรือโรงงานที่มารับจ้างผลิต ก็จะเข้ามาตอบโจทย์ เพราะมีบริการแบบ One Stop Service"

 

ทั้งนี้ สำหรับสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ เป็นธุรกิจที่มีโรงงาน มีสายการผลิตที่ได้มาตรฐาน ได้รับการยอมรับในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็น ISO มอก. อย. เป็นต้น เพราะผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่นิยมไม่ว่าจะอาหาร เสริมอาหาร สมาชิกภายใต้สภาอุตสาหกรรมจะมีมาตรฐานกำกับ และมีการติดตามตัวได้หมด เพราะตอนลงทะเบียนมีที่อยู่ชัดเจน ทั้งนี้ ด้วยแพลตฟอร์มและเครื่องมือต่างๆ เชื่อว่าเป็นโอกาสที่ช่วยให้คนตัวเล็ก พ่อค้าแม่ค้า มีช่องทางเติบโตต่อไปได้ในตลาด

 

4 ความเปลี่ยนแปลง ยุคโควิด-19 สู่การปรับตัว Next Normal

 

3. โควิด ดันธุรกิจออนไลน์

 

โควิด-19 ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจออนไลน์มากขึ้น ในการทำให้เข้าถึงลูกค้าง่ายขึ้น ดังนั้น การทำดิจิทัลคอนเทนต์ ทำสื่อ สร้างภาพลักษณ์ต่างๆ ผ่านทางออนไลน์ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคำนึง เพราะลูกค้าไม่สามารถจับต้องสินค้าได้  ดังนั้น รูปภาพ การใช้ระบบแชตบอต หรือระบบที่สามารถตอบโต้ลูกค้าได้ตลอดเวลา จึงสำคัญ

 

สุชาดา โคตรสิน ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เปิดเผยว่า ดิจิทัล สร้างความแตกต่าง ว่าจะทำเซอร์วิสอย่างไรให้แตกต่างมากขึ้นและรวดเร็วมากขึ้น และส่วนสำคัญ คือ ลดต้นทุน การที่มีระบบเข้ามาช่วยในเรื่องของคน การบริหารจัดการ ทำให้ธุรกิจทำงานได้ตลอดเวลา

 

“บทบาทของ DEPA เอง นอกเหนือจากที่มีนวัตกรรมดิจิทัลแล้ว ยังส่งเสริมมาตรการ SME ไม่ว่าจะผ่านมาตรการทางการส่งเสริมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และผู้ประกอบการ ขณะนี้ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับในเรื่องของการแลกเปลี่ยนสินค้าบริการผ่านสกุลเงินต่างๆ หลากหลายมากขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการซัพพลายเชน ซึ่งดิจิทัลจะเข้ามาช่วยบริหารจัดการ รวมถึงระบบการทำตลาดออนไลน์” สุชาดา กล่าว

 

4 ความเปลี่ยนแปลง ยุคโควิด-19 สู่การปรับตัว Next Normal

 

4. นวัตกรรม ขับเคลื่อนสังคมสูงวัย

 

ขณะเดียวกัน การที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย นวัตกรรม นับเป็นความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อม เพื่อให้ผู้สูงวัยมีชีวิตที่มีคุณภาพมากขึ้น ผศ.นพ. ภาริส วงศ์แพทย์ เเพทย์ เวชศาสตร์ฟื้นฟู กรรมการบริหาร มูลนิธิสำโรงรวมใจ เปิดเผยว่า นวัตกรรมเป็นกุญแจสำคัญ การเข้าสู่สังคมสูงวัย เราพูดกันมากว่า 10 ปี เรารู้เร็วแต่สิ่งที่ทำยังไม่พอ เพราะสึนามิที่กำลังมา คือ อีก 20 ปี กว่า 1 ใน 3 ของประชากร จะเป็นผู้สูงวัย เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งเศรษฐกิจสังคม ความเป็นอยู่ ดังนั้น หากเราไม่มีอะไรใหม่ อยู่แบบเดิม แก้ปัญหาแบบเดิม ในขณะที่เจอปัญหาใหม่ นวัตกรรมจึงเป็นตัวปลดล็อก

 

นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน และไม่ใช่ในรูปแบบเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงระบบทางการเงิน อสังหาริมทรัพย์ ระบบประกัน ระบบสังคม เช่น ธนาคารเวลา ระบบการช่วยเหลือซึ่งกัน และเครือข่ายสังคมที่จะรองรับที่ไม่ใช่ครอบครัว เป็นสิ่งที่ต้องสร้าง ดังนั้น หากไม่มีนวัตกรรมเราอาจจะเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุอย่างยากลำบาก

 

ที่ผ่านมา มูลนิธิสำโรงรวมใจ ได้ทำเรื่องผู้สูงอายุมากว่า 10 ปี ใน “โครงการสูงวัยไม่ล้ม” โดยการพัฒนาการป้องกันการหกล้มด้วยวิธีฟื้นฟูการทรงตัวโดยใช้สายพานและเครื่องช่วยพยุง ลดการล้มสูงวัยลงได้กว่า 70% หลายร้อยราย โดยเริ่มจากภายใน โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์และขยายสู่ชุมชนในกทม.และปริมณฑล ล่าสุด โครงการดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจาก TCELS ในการขยายผล และจะดำเนินการขยายผลในสถานพยาบาลกว่า 10 แห่ง ทั่วประเทศ ตั้งเป้าฟื้นฟู ลดการล้มผู้สูงอายุได้ 1,000 คนในปีนี้

 

4 ความเปลี่ยนแปลง ยุคโควิด-19 สู่การปรับตัว Next Normal

 

ทั้งนี้  สามารถติดตามเทคโนโลยีนวัตกรรมที่น่าสนใจในวิถีใหม่แบบ Next Normal ได้ที่งาน e-Biz Expo 2021 , OEM Manufacturer Expo 2021 , EdTeX 2021 และ InterCare Asia 2021 ซึ่งจัดภายใต้แนวคิด Thailand Next Normal ระหว่างวันที่ 23 -25 ธันวาคม 2564 ณ ฮอลล์ 103-104 ไบเทค บางนา

 

การจัดงานจะเป็นลักษณะ B2B2C ตอบโจทย์ทั้งส่วนของผู้บริโภคที่ต้องการมองหานวัตกรรม สินค้าและบริการเพื่อตนเองและครอบครัว ภายใต้มาตรการความปลอดภัยตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด ผู้เข้าร่วมแสดงงานและเจ้าหน้าที่ต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม มีการตรวจ Antigen Test Kit : ATK แสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนผ่านแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” รักษาระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 - 2 เมตร ทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ www.nccexhibition.com/thailand-next-normal 

 

4 ความเปลี่ยนแปลง ยุคโควิด-19 สู่การปรับตัว Next Normal