“วัคซีนโควิด-19” ลดป่วยหนัก ลดความรุนแรง "โอมิครอน"

“วัคซีนโควิด-19” ลดป่วยหนัก ลดความรุนแรง "โอมิครอน"

แม้ขณะนี้ ในประเทศไทยพบผู้ป่วย โควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" อย่างไรก็ตาม พบว่าอาการยังน้อย คล้ายโรคไข้หวัด และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต "วัคซีนโควิด-19" จึงยังเป็นสิ่งสำคัญ ในการลดอาการหนัก ลดความรุนแรงของโรค

หลังจากที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงยืนยันผลตรวจเชื้อโควิด-19 ชายชาวอเมริกันเดินทางมาจากสเปน พบเป็นโควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" รายแรกของประเทศไทย จากการตรวจ  RT-PCR  ซึ่งผู้ป่วยรายดังกล่าว เดินทางเข้ามาในไทยจากประเภท Test and Go นั้น

 

วันนี้ (6 ธ.ค. 64) ศูนย์บริหารสถาการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. รายงานข้อมูลล่าสุด โดยระบุว่า สายพันธุ์ “โอมิครอน” แพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา 2-5 เท่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย คล้ายโรคไข้หวัด (ผู้ติดเชื้อที่รายงานในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล) และ ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ โอมิครอน เสียชีวิต

 

อย่างไรก็ตาม แม้ในขณะนี้จะยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโคมิครอน เสียชีวิต แต่การที่ยังคงมาตรการต่างๆ ไว้ และเร่งฉีดวัคซีนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดย ศบค. ระบุว่า มาตรการป้องกัน คือ การฉีดวัคซีนโควิดให้ครอบคลุมมากที่สุด รวมถึงการใช้มาตรการป้องกันส่วนบุคคลที่เข้มงวด เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และ VUCA

 

ยกระดับการเฝ้าระวัง ณ ช่องทางเข้าออกประเทศ และสถานที่ท่องเที่ยงทำการสุ่มตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยไข้หวัดที่เป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ส่งตัวอย่างเชื้อที่พบจากผู้เดินทางหรือรายที่น่าสงสัย ไปตรวจหาสายพันธุ์โอมิครอนที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

  • วัคซีนยังป้องกันป่วยหนัก

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า การติดเชื้อ โอมิครอน ต่างจากสายพันธุ์อื่นหรือไม่ ต้องบอกว่า เบื้องต้นไม่แตกต่างกัน ยังติดต่อผ่านละอองฝอยเป็นหลัก การติดต่อผ่านลม ผ่านอากาศเจอน้อยมาก จะเจอในบางกรณีคือ ห้องอับ หรือห้องที่มีการแพร่กระจายเชื้อสูง ไม่ได้แพร่ทางอากาศทั่วๆไป

"วัคซีน ไม่ว่าชนิดไหนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ 100% แต่มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขที่นำเรียน ซึ่งผ่านการวิเคราะห์ โดยไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการใช้วัคซีนหลายยี่ห้อ และพบประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันติดเชื้อ 50-80% แต่สามารถป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ค่อนข้างดีมากในระดับ 80-90% ขึ้นไป ดังนั้น หากพูดถึงประสิทธิผลต้องพูด 2 ส่วนคือ ส่วนหนึ่งการป้องกันการติดเชื้อ และอีกส่วนช่วยลดความรุนแรงของการติดเชื้อ" นพ.โอภาส กล่าว

 

  • วัคซีน ลดความรุนแรงโรค 

 

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan โดยระบุว่า  อย่างที่เคยกล่าวไว้ จะให้โรคนี้หมดไปคงเป็นไปไม่ได้ ถึงมีผู้ป่วย แต่ถ้าอาการไม่รุนแรง หรือไม่เสียชีวิต มีผู้ป่วยเป็นหลักพัน แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต หรือมีผู้เสียชีวิตเป็นหลักหน่วยต้นๆ ก็คงต้องยอมรับได้ 

ในทุกปีประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ ปีละ 100-200 คน จะเป็นในผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก คนอ้วน สตรีตั้งครรภ์ ในทำนองเดียวกันต่อไปโควิด 19  ถ้าทุกคนมีภูมิต้านทานหมด แต่ก็จะยังพบโรคนี้ตามฤดูกาล โดยเฉพาะฤดูเดียวกับการพบไข้หวัดใหญ่ ในประเทศไทยจะเป็นฤดูฝน ช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน หรือ ช่วงนักเรียนเปิดเทอมแรก และจะพบอีกระยะหนึ่ง ในฤดูหนาวประมาณ มกราคมถึงมีนาคม หรือช่วงนักเรียนเปิดเทอมที่ 2  ของทุกปี เด็กทุกคนที่เกิดมาจนถึงอายุ 9 ปี แทบจะไม่มีใครเลย ที่ไม่เคยเป็นไข้หวัดใหญ่ และเราก็เสริมการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต


ในอนาคตถ้าทุกคนมีภูมิต้านทาน ต่อไวรัส covid-19  ไม่ว่าจะเกิดจากการติดเชื้อ หรือจากการได้รับวัคซีน เป็นส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมด ภูมิต้านทานดังกล่าวก็จะสามารถลดความรุนแรงของโรคลง โรคนี้ก็จะเป็นโรคตามฤดูกาล และจะมีอุบัติการณ์สูงในช่วงเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ ต่อไป

 

ดังนั้นในขณะนี้ ทุกคนจะต้องเสริมสร้างภูมิต้านทานของตัวเอง โดยให้เลือก ระหว่างการฉีดวัคซีน กับการติดเชื้อ การฉีดวัคซีน น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าการติดเชื้อ ซึ่งอาจจะเป็นโรค ประโยชน์ของวัคซีนจะได้มากกว่าการติดเชื้อ จึงอยากให้ทุกคนได้รับวัคซีน ตามกำหนด

 

  • สูตรวัคซีนในไทยและระยะห่างการฉีด

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยสูตรวัคซีนที่ใช้ในไทยขณะนี้และระยะห่างการฉีดเข็มที่ 1 – 2 และ เข็มกระตุ้นทั้งวัคซีนจากภาครัฐ และวัคซีนทางเลือก ดังนี้

 

สูตรไขว้

ซิโนแวค + แอสตร้าเซนเนก้า ระยะห่างระหว่างเข็ม 3-4 สัปดาห์ 
แอสตร้าเซนเนก้า + ไฟเซอร์ ระยะห่างระหว่างเข็ม 4-12 สัปดาห์
ซิโนแวค + ไฟเซอร์ ระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์

 

ชนิดเดียวกัน 

แอสตร้าเซนเนก้า + แอสตร้าเซนเนก้า ระยะห่างระหว่างเข็ม 8-12 สัปดาห์
ไฟเซอร์ + ไฟเซอร์  ระยะห่างระหว่างเข็ม 3-4 สัปดาห์

 

“วัคซีนโควิด-19” ลดป่วยหนัก ลดความรุนแรง \"โอมิครอน\"

 

การฉีดเข็มกระตุ้น 

ซิโนแวค + ซิโนแวค ---> แอสตร้าเซนเนก้า / ไฟเซอร์ 
ระยะห่างการฉีดเข็มกระตุ้น 4 เดือน


ซิโนฟาร์ม + ซิโนฟาร์ม ---> แอสตร้าเซนเนก้า / ไฟเซอร์ 
ระยะห่างการฉีดเข็มกระตุ้น 4 เดือน


แอสตร้าเซนเนก้า + แอสตร้าเซนเนก้า ---> ไฟเซอร์ 
ระยะห่างการฉีดเข็มกระตุ้น 6 เดือน

 

“วัคซีนโควิด-19” ลดป่วยหนัก ลดความรุนแรง \"โอมิครอน\"

 

วัคซีนทางเลือก Moderna

โมเดอร์นา + โมเดอร์นา ระยะห่างการฉีด 4 สัปดาห์ 
ซิโนแวค + โมเดอร์นา ระยะห่างการฉีด 4 สัปดาห์ 
แอสตร้าเซนเนก้า + โมเดอร์นา ระยะห่างการฉีด 4 สัปดาห์ 
ซิโนฟาร์ม + โมเดอร์นา ระยะห่างการฉีด 4 สัปดาห์ 
ไฟเซอร์ + โมเดอร์นา ระยะห่างการฉีด 4 สัปดาห์ 

 

การฉีดเข็มกระตุ้น "โมเดอร์นา" 

ซิโนแวค + ซิโนแวค (+ โมเดอร์นา ระยะห่างการฉีด 4 สัปดาห์ +)
ซิโนแวค + ซิโนฟาร์ม (+ โมเดอร์นา ระยะห่างการฉีด 4 สัปดาห์ +)
แอสตร้าเซนเนก้า + แอสตร้าเซนเนก้า (+ โมเดอร์นา ระยะห่างการฉีดราว 6 เดือน)

 

“วัคซีนโควิด-19” ลดป่วยหนัก ลดความรุนแรง \"โอมิครอน\"

 

  • ไทยฉีดวัคซีนแล้ว 95.4 ล้านโดส 

 

สำหรับ รายงานการฉีด “วัคซีนโควิด-19” จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. - 5 ธ.ค. 2564) รวม 95,437,744 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น 

จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 49,223,323 ราย
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 42,473,758 ราย
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 3,740,663 ราย

 

  • ภาพรวมยอดฉีดวัคซีน วันที่ 5 ธันวาคม 2564

 

ยอดฉีดทั่วประเทศ 186,386 โดส
เข็มที่ 1 : 93,601 ราย
เข็มที่ 2 : 54,303 ราย
เข็มที่ 3 : 38,482 ราย

 

“วัคซีนโควิด-19” ลดป่วยหนัก ลดความรุนแรง \"โอมิครอน\"

 

  • การรับวัคซีนกลุ่ม 608 

 

สำหรับความครอบคลุมการได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ในกลุ่มเป้าหมาย 608 ข้อมูล ณ วันที่ 5 ธ.ค. 64 พบว่า กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 72.0% กลุ่มโรคเรื้อรัง 75.6% และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ 19.4%

 

“วัคซีนโควิด-19” ลดป่วยหนัก ลดความรุนแรง \"โอมิครอน\"