เปิดเทรนด์สุขภาพ ไทยมาแรงยุคหลังโควิด-19

เปิดเทรนด์สุขภาพ ไทยมาแรงยุคหลังโควิด-19

ภาคเอกชนร่วมมองเทรนด์สุขภาพและการแพทย์ รวมถึง โอกาสประเทศไทย  ทั้งการดูแลสุขภาพองค์รวม การใช้เทคโนโลยีค้นหาภายในร่างกายเพื่อดูแลเฉพาะบุคคล Virtual Care   กรีนเมดดิซีน  และการดึงเทคโนลี นวัตกรรมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสุขภาพและรักษาโรค 

          เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2564 ในการเสวนาออนไลน์ “การขับเคลื่อนนวัตกรรม เทคโนโลยีเพื่อการสร้างสุขภาพ และบริการเพื่อสุขภาพแก่คนทั้งมวล” หัวข้อ “การขับเคลื่อนนวัตกรรมเทคโนโลยี และบริการเพื่อสุขภาพแก่นคนทั้งมวล” นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลปิยะเวท จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า หลายประเทศเริ่มกลับมาสู่การเปิดประเทศอีกครั้ง ซึ่งในเรื่องของHealth Care มีการปรับตัวอย่างมาก ส่วนของธุรกิจสุขภาพยังหนีไม่พ้นเรื่องของโควิด-19 ในปี 2565 โควิดยังอยู่ในความสนใจของคนทั้งการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19ที่มีหลายตัวจะออกมาในปีหน้า 

       ส่วนเรื่องที่นอกเหนือจากโควิด-19 เรื่องการเช็คอัพทั่วไปยังสามารถพัฒนาต่อไปได้ คนต้องการตรวจละเอียดเพื่อให้มั่นใจในสุขภาพ แข็งแรงพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนงาน รวมถึง การดูแลรักษาโรคไม่ติดเรื้อรัง  ซึ่งในช่วงโรคโควิด-19ระบาดทำให้ต้องมีการชะลอรักษา หลังจากนี้จะเป็นโอกาสประเทศไทยเปิดศักราชใหม่ รับคนไข้ ที่มีความสนใจมากทั้งเรื่องการรักษาและฟื้นฟู  การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆมาช่วยรักษา หรือเป็นผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น  ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ละเอียด และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการเข้ามาเชื่อมต่อให้เป็นแบบไร้รอยต่อ 

       “เชื่อมั่นว่าหลังไทยเปิดประเทศจะได้รับความเชื่อมั่นในศักยภาพ มีการหลั่งไหลเข้ามารักษา เชิงป้องกันและWellnessมากขึ้น”

     Virtual Care 

        ดร.พัชรินทร์ บุญยะรังสรรค์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุณภาพการรักษาพยาบาลและนวัตกรรม บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์คุณภาพ โรงพยาบาลกรุงเทพสำนักงานใหญ่ กล่าวว่า  การให้บริการรักษาอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีการสรรหาเทคโนโลยีมาดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม โดยสถานพยาบาลพร้อมเปิดเป็นสนามให้ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการพัฒนาเทคโนโลยีการดูแลคนไข้ ส่งเสริมสุขภาพ เป็นการส่งเสริมและต่อยอดสาร์ทอัพในเรื่องเหล่านี้ให้สามารถก้าวเข้าสู่ระบบนิเวศทางการรักษาพยาบาลได้อย่างกลมกลืน ชัดเจนและเข้มแข็งมากขึ้น

       นอกจากนี้  กลุ่มผู้จ่ายเงินต้องร่วมกันพัฒนาHealth Care ให้เป็นลักษณะที่สอดคล้องกับความต้องการมากขึ้น ในเรื่องของWellness ไม่ใช่แค่เรื่องการท่องเที่ยวเท่านั้นที่อยู่ในความสนใจ แต่การส่งเสริมสุขภาพผู้คนเพื่อป้องกันโรค การค้นหาปัญหาสุขภาพระยะเบื้องต้น เพื่อวางแผน หรือมองหาโปรแกรมที่ป้องกันสภาวะสุขภาพที่อาจจะเกิดเมื่ออายุมากขึ้น  โดยต้องขยายผลเรื่องการรักษามาสู่การป้องกันไม่ให้เกิด และมุ่งเน้นบริการที่มีความต่อเน่องโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องอยู่รพ. ดังนั้น เรื่อง Virtual Care  หรือ Tele Health Service มีบทบาทสำคัญในเรื่องของการติดตามคนไข้ได้มากขึ้น เป็นความต่อเนื่องของการดูแล และการนำนวัตกรรมต่างๆมาใช้ด้วย


      สนใจดูแลสุขภาพมิติลึกขึ้น

   ดุษฎี ตันเจริญ กรรมการผ็จัดการ RAKxa Wellness มองว่า  กลุ่มคนรักสุขภาพที่ดูแลดูสุขภาพอยู่แล้วทั้งการออกกำลังกาย และอาหาร จะสนใจในการดูแลสุขภาพในมิติลึกขึ้นในช่วงหลังโควิด-19  เริ่มสนใจปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ใช้เทคโนโลยีมาดูแลสุขภาพ ใช้นวัตกรรม อุปกรณ์ทางการแพทย์ส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น การตรวจหรือสุขภาพดูแลเฉพาะบุคคล เช่น การตรวจทางพันธุกรรม เพื่อดูแลว่าสุขภาพร่างกายตัวเองเป็นอย่างไร และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีมากยิ่งขึ้น  เทรนด์ที่เห็นได้ชัดหลังมีโรคระบาด คือการเสริมภูมิต้านทานสุขภาพ การดูแลเรื่องความเครียด การขจัดความเครียด คนจะดูแลตัวเองมากขึ้น จะเห็นได้ว่าทั้งในแง่ของการดูแลสุขภาพเป็นเทรนด์ที่กำลังมา ทั้งคนไทยและต่างชาติสนใจอย่างมาก

       “Wellness Tourismน่าจะเป็นตัวที่จะต่อยอดศักยภาพของประเทศไทยให้ประชาคมโลกเข้ามาสนใจในเรื่องการดุแลสุขภาพเชิงป้องกันในประเทศไทยได้มากขึ้น”
      

มุ่งเน้น “กรีนเมดิซีน”

    ศิริญา เทพเจริญ กรรมการบริษัท บริษัท เวิล์ด เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สิ่งสำคัญตอนนี้กำลังเปลี่ยนกลยุทธ์ในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพราะเป้าหมายของคนที่ต้องการดูแลสุขภาพมีมากขึ้น  โดยกลุ่มที่จะเกิดขึ้นนก่อนคือการเข้ามาประเทศไทยเพื่อการรักษา ซึ่งประเทศมีความพร้อมและศักยภาพเรื่องนี้มานาน รวมทั้ง เรื่องสมุนไพรไทย ซึ่งรัฐบาลได้ปลดล็อกกัญชง กัญชา มาเติมและต่อยอดให้เป็นสมุนไพรไทยกลับมารักษาสุขภาพ เพราะตอนนี้คนเริ่มเข้าใจแล้วว่าการใช้เคมีบางครั้งเป็นการสร้างปัญหา เพราะฉะนั้น  กลุ่มจะมีการดูงดูดลูกค้าเข้าประเทศไทย ปักหมุดประทเทสไทย พัฒนานวัตกรรมสมุนไพรไทย ยกระดับสู่สากลให้ไทยเป็น “กรีน เมดิซีน” เต็มรูปแบบ ซึ่งจุดแข็งส่วนหนึ่งของประเทศไทยคือการมีพืชสมุนไพรที่ประเทศอื่นลอกเลียนแบบไม่ได้
      นวัตกรรม-เทคโนโลยีทางสุขภาพสำคัญ
     ศักดา สารพัดวิทยา รองนายกสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ไทย สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) กล่าวว่า ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทในทางสุขภาพและการแพทย์มากขึ้น  ยกตัวอย่าง ช่วงที่ผ่านมา สมาคมฯได้เข้าไปมีส่วนร่วมการสนับสนุนโรงพยาบาลสนามที่ต้องดูแลผู้ป่วยหลักพักราย เช่น การใช้หุ่นยนต์ในภารกิจช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยในการส่งอาหาร ยา หรือทำภารกิจอื่นที่ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ ,การเชื่อมตำแหน่งผู้ป่วย และการใช้วิดีโอในการติดตามดูแลผู้ป่วย การตรวจตำแหน่งป้องกันกรณีผู้ป่วยตกเตียง  การมอนิเตอร์ต่างๆและส่งสัญญาณเตือน และการจัดการพื้นที่ในเรื่องต่างๆ

         ส่งเสริมท่องเที่ยวสุขภาพเพื่อทุกคน
          กฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล  ให้มุมมองว่า การให้บริการสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ต้องมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มความสะดวกในการท่องเที่ยว ใช้นวัตกรรมสุขภาพเชื่อมสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ทุกคนเข้าถึงได้ ทั้งในส่วนของแหล่งท่องเที่ยว พาหนะการเดินทาง ที่พัก  และจากการลงพื้นที่สำคัญๆ พบว่าหลายแห่งมีความพร้อมรองรับ ในการส่งเสริมต่อยอดขับเคลื่อนเพื่อชีวิตคนทั้งมวล อย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง