ใครคือ “ฮาร์ดคอร์" ปฏิเสธวัคซีนโควิด-19 ส่งทีมสุขภาพจิตเคลียร์!

ใครคือ “ฮาร์ดคอร์" ปฏิเสธวัคซีนโควิด-19 ส่งทีมสุขภาพจิตเคลียร์!

ใครคือ “กลุ่มฮาร์ดคอร์” ที่ “ปฏิเสธวัคซีนโควิด-19” ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเป้าฉีดครบ 100 ล้านโดส ภายในเดือนพ.ย.หรือสิ้นปี 2564หรือไม่ จึงเป็นโจทย์ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)จะต้องเร่งหาแนวทาง “เชิญชวน”ให้มาฉีด แต่จะ “ไม่ใช้กฎหมายบังคับ”

รู้จักกลุ่ม“ฮาร์ดคอร์”ปฏิเสธวัคซีนโควิด-19

      นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด-19ไปจำนวนมากแล้ว แต่จะมีบางกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ในจำนวนนี้จะมีกลุ่มที่ปฏิเสธการรับวัคซีนด้วยเหตุผลต่างๆ และมีความยึดมั่นในความเชื่อตรงนี้ เป็นกลุ่มฮาร์ดคอร์ (Hardcore) ซึ่งเป็นสิทธิของแต่ละคน โดยสาเหตุที่ยังไม่รับวัคซีน อาจเกิดจากอยู่ในพื้นที่ไม่ระบาด ยังกลัวผลข้างเคียง หรือยังรอวัคซีนบางชนิด เป็นต้น อยากขอย้ำว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 จำเป็น หากอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับบริการได้ ขออย่าปฏิเสธการฉีดวัคซีน เพราะวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิต วัคซีนที่รัฐนำมาให้บริการผ่านการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก(WHO )และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ของไทยแล้ว

      “ปัจจุบันตัวเลขผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดเหลือน้อยกว่า 11 ล้านแล้ว อาจจะเหลืออยู่ประมาณ  7-8 ล้านคน ส่วนประชากรแฝงที่ยังไม่ได้รับวัคซีน คาดการณ์ได้ยากเพราะกลับไปกลับมา และตัวเลขนี้จะน้อยลงเรื่อยๆ  เพราะมีการรุกฉีดถึงพื้นที่ ทั้งให้ความรู้ รณรงค์ให้มารับวัคซีน ควบคู่ไปกับลงพื้นที่ไปให้บริการ อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน”

  “ฮาร์ดคอร์”ไม่น่ากระทบเป้า 100 ล้านโดส

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากพิจารณาจากข้อมูล ณ วันที่ 22 พ.ย.2564 ซึ่งประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 สะสมแล้ว  88,989,235  โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 46,718,014 ราย คิดเป็น 64.9 % เข็มที่ 2 จำนวน  39,202,716 ราย คิดเป็น 54.4 % และเข็มที่ 3 จำนวน 3,068,505 ราย คิดเป็น 4.3 %  จะเห็นได้ว่ายังเหลืออีกราว 11 ล้านโดสจะถึงเป้าหมาย 100 ล้านโดส

           เพราะฉะนั้น หากไม่สามารถเชิญชวนให้กลุ่มฮาร์ดคอร์อีกราว  7-8 ล้านคนมาฉีดวัคซีนได้ ก็อาจจะกระทบกับเป้าหมายที่วางไว้ได้   แต่หากสามารถหากลุ่มเป้าหมายที่”อยากฉีด”แต่ยังไม่ได้ฉีด มาเข้ารับการฉีดได้แทนในจำนวนดังกล่าว ก็น่าจะทำให้เป้าหมายบรรลุได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่อัตรการเข้ารับวัคซีนยังต่ำ

         หรือการให้วัคซีนกับต่างด้าวตามตะเข็บชายแดน ซึ่งประเทศไทยมีการจัดส่งวัคซีนโควิด-19ไปสำรองไว้ที่ตะเข็บชายแดน ราว 10 ล้านโดส  โดยเฉพาะตะเข็บฝั่งตะวันตกที่ประเทศเพื่อนบ้านยังมีอัตรการรับวัคซีนโควิด-19ไม่มาก  รวมถึง แรงงานต่างด้าว ที่เข้ามาในระบบMOU ที่มีการสำรองวัคซีนโควิด-19ไว้ให้กรณีที่เข้ามาแต่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจากประเทศต้นทาง กว่า 4แสนโดส

    ทั้งนี้  มาตรา 34(2) พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กำหนดให้เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งให้ผู้ที่มีความเสี่ยงจะติดโรค ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันตามวัน เวลา สถานที่ที่กำหนด หากไม่เข้ารับจะมีโทษตามกฎหมาย ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ซึ่งการฉีดวัคซีนเป็นหนึ่งในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน 

       แต่ประเทศไทยจะ“บังคับใช้กฎหมาย”หรือไม่ ในเมื่อมีบทเรียนในต่างประเทศให้เห็นว่า “ถูกต่อต้าน”อย่างหนัก ด้วยคำกล่าว “ละเมิดสิทธิส่วนตัว” ดูทรงแล้วก็จะ “เชิญชวน” และใช้ “ความสมัครใจต่อไป” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากข้อมูลในความเป็นจริง “คนไทยมีภูมิต้านทานทะลุเป้าแล้ว”

ไม่ใช้กฎหมายบังคับฉีดวัคซีน

        ต่อข้อถามจำเป็นต้องใช้กฎหมาย พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาบังคับใช้กับกลุ่มที่ยังไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ถึงขนาดนั้น  ยังเป็นความสมัครใจ ประเทศไทยยังฉีดวัคซีนได้อยู่ แม้ระยะหลังอาจจะอัตราช้าลง แต่ก็เกิดขึ้นในทุกประเทศที่มีการฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว แต่ก็ยังฉีดได้เรื่อย ๆ ก็พยายามทำให้สำเร็จ 100 ล้านโดส ที่วางเป้าหมายไว้วันที่ 5 ธ.ค.2564 และหลังจากนั้นก็ยังต้องฉีดต่อไป ไม่ได้แปลว่าถึง 100 ล้านโดสแล้วจะหยุด

          “สธ.ก็จะเดินหน้าเชิญชวนให้คนมาฉีดมากขึ้น ไม่อยากใช้มาตรการบังคับ แต่หากถึงจุดหนึ่ง หากคนไทยมีภูมิฯมากแล้ว คิดว่าพอเพียง ก็ไม่น่าจะมีปัญหา ก็ยังตามความสมัคร แต่สมมติเกิดการระบาดขึ้นมาก ก็อาจต้องใช้มาตรการมากกว่าเชิญชวน อาจต้องห้ามคนที่ยังไม่รับวัคซีน ทำกิจกรรมอะไรบางอย่างที่จะเกิดการติดหรือแพร่เชื้อได้”

เร่งสุ่มตรวจหาภูมิฯคนไทย

      นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า  ประเทศไทยฉีดวัคซีนจำนวนมาก แต่ที่มีข้อมูลปรากฏในระบบน้อยกว่าที่ฉีดไปประมาณ 2-3 ล้านข้อมูล เนื่องจากบางข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้ไม่ขึ้นในระบบ เช่น เลขบัตประจำตัวรประชาชน เลขล็อตวัคซีนผิด รวมถึงตัวเลขที่ฉีดในระบบอื่นก็อาจตกหล่น  ซึ่งกำลังตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้

       อย่างไรก็ตาม หากตามระบบที่มีอยู่ ก็น่าจะมีคนประมาณอีก 10 กว่าล้านคนที่ยังไม่ได้ฉีด แต่ก็อาจมีที่ฉีดไปแล้ว ก็จะเหลืออาจไม่ถึง แต่จะพยายามทำสวนกลับ แทนที่จะนับคน นับขวด ก็มอบให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำการศึกษาในห็องปฏิบัติการ(แล็ป)เพื่อตรวจภูมิต้านทาน  ดูว่าคนที่มีภูมิต้านทานมีกี่เปอร์เซ็นต์ ก็น่าจะบอกข้อมูลได้ว่าประเทศไทยมีคนที่มีภูมิต้านทาน ระดับไหน

       “เมื่อฉีดวัคซีนไปจำนวนหนึ่งแล้ว เช่น 70-80% ของประชากร ถือว่ามาก ก็เปลี่ยนจากการค้นหาคนที่ยังไม่ได้ฉีด มาเป็นศึกษาคนว่ามีภูมิต้านทานระดับไหนแล้ว เช่น หากฉีดไป 70% แต่อาจมีภูมิฯแล้วถึง 75% ก็ได้ ซึ่งภูมิฯก็เกิดขึ้นได้จาก 1.ฉีดวัคซีน 2.เคยติดเชื้อแล้วเกิดภูมิฯ และ 3.ฉีดวัคซีนแต่ภูมิฯ ไม่ขึ้น ก็ต้องศึกษาในเรื่องนี้ เพื่อดูว่าคนในชุมชนมีภูมิฯ ประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เชิงหาภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน พ.ย.2564 เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ วางแผนต่อไป”

ใช้ทีมสุขภาพจิตชักชวนกลุ่มไม่ฉีดวัคซีน

          ผู้สื่อข่าวถามว่า มีแนวทางการจูงใจให้กลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนมารับอย่างไร นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ใช้การชักชวน  ได้ทำการศึกษาสำเร็จในจ.นครศรีธรรมราช  กับกลุ่มผู้ที่ลังเลจะฉีดวัคซีน เพราะอาจจะยังกลัวแพ้ หรือกังวลความปลอดภัย โดยศึกษาในประชาชน 8,000 กว่าคน โดยให้นักจิตวิทยา และทีมสุขภาพจิตเข้าไปช่วยให้ข้อมูล ปรากฏว่ามี 6,000 คนที่ยอมฉีดวัคซีน ส่วนอีก 2,000กว่าคนยืนยันว่าไม่ฉีด ผลสรุปคือ หากทำความเข้าใจแล้ว จะมี 2 ใน 3 ที่ยอมฉีด อีก 1 ส่วนคือผู้ที่ไม่ยอมฉีดเลย