อัพเดท! สูตรวัคซีนสัญชาติไทย มีกี่ชนิด? คนไทยจะได้ฉีดเมื่อไหร่?

อัพเดท! สูตรวัคซีนสัญชาติไทย มีกี่ชนิด? คนไทยจะได้ฉีดเมื่อไหร่?

ทำความรู้จัก "วัคซีนสัญชาติไทย" ใกล้เข้าสู่เส้นชัย หลายชนิดเริ่มทดสอบในอาสาสมัครระยะที่2และระยะที่ 3 เบื้องต้นประสิทธิภาพกระตุ้นภูมิ ไม่ด้อยกว่าไฟเซอร์ คาดคนไทยได้ใช้ในปี 2565 นี้

“วัคซีนโควิด-19” ถือเป็นการป้องกัน ลดการแพร่ระบาดและลดอาการหนักของโรคโควิด-19 ได้ดี   ซึ่งขณะนี้มีการฉีดวัคซีนทั่วโลกกว่า 7,500 ล้านโดส ประมาณครึ่งหนึ่ง 3 พันกว่าล้านโดส เป็นเทคโนโลยีเชื้อตายซึ่งช่วยชีวิตคนได้เยอะ ส่วนอีก 2 พันกว่าล้านโดสเป็นวัคซีนชนิด mRNA ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศรายได้สูง และอีก 1 พันกว่าล้านโดส เป็นชนิดไวรัลเวกเตอร์ ของแอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน

โดยมีการพัฒนาวัคซีนมากกว่า 2 ร้อยชนิด เริ่มทดสอบในคน 120 ชนิด อนุมัติใช้ในภาวะฉุกเฉิน 14 ชนิด และ อนุมัติเต็มรูปแบบ (full approval) สามารถใช้ได้ทั่วไปในบางประเทศ โดยไม่ต้องผ่านรัฐ 8 ชนิด อย่างไรก็ตาม ไทยมีอย่างน้อย 6 แพลตฟอร์ม

“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”เป็นหนึ่งในหน่วยงานของประเทศไทยที่ได้มีการพัฒนาผลิตวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็น คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ  ได้ผลิตวัคซีน ChulaCov19 วัคซีนชนิดmRNA ที่มีประสิทธิภาพสูง ขณะที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ โดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ได้ผลิตวัคซีนจุฬาฯ-ใบยา วัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิตสกัดจากใบพืชชนิดแรกของไทย

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในงานเสวนา Chula The Impact ครั้งที่ 5 เรื่อง “ความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ของจุฬาฯ นวัตกรรมของไทย ความหวังของโลก” ว่าวัคซีน ChulaCov 19 เป็นวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งเริ่มดำเนินการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1/2 ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมีการทดสอบในอาสาสมัคร 2 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มอายุ 18-55 ปี จำนวน 36 ราย และกลุ่มอายุ 56-75 ปี จำนวน 36 ราย ฉีดวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ ผลเบื้องต้นในกลุ่มอายุ 18-55 ปี พบว่าวัคซีนกระตุ้นภูมิกันได้ดี ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง โดยอาสาสมัครมีอาการข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลาง อาการจะดีขึ้นภายใน 1 ถึง 2 วัน

 

 

  • วัคซีนสัญชาติไทย เทียบเท่าไฟเซอร์

อย่างไรก็ตาม ผลการทดสอบ พบว่า คนที่ฉีดวัคซีนหลอกแม้จะไม่มีไข้แต่พบว่ามีอาการปวดหัวสองเท่าจากคนที่ฉีดวัคซีนโควิด ChulaCov19 และเข็ม 2 มีไข้ 1 ใน 5 ของอาสาสมัคร วัคซีนกระตุ้นภูมิสูงกว่าคนติดเชื้อจริง และไม่ด้อยกว่า ไฟเซอร์ โดยการฉีด 50 ไมโครกรัม แอนติบอดีขึ้นหลักหมื่น 1 เดือนหลังฉีดเข็ม 2 และกระตุ้นทีเซลล์ได้สูง ได้ผลดีกับเชื้อข้ามสายพันธุ์ ซึ่งหากไม่มีอะไรสะดุดในการหาอาสาสมัครทดสอบระยะ3 ในเดือน ม.ค. 65 และวิเคราะห์แล้วเสร็จในพ.ค.ส่งเอกสารให้อย.คาดว่าเร็วสุดกลางปีหน้า ระหว่าง มิ.ย.-ก.ย.65

ทั้งนี้ วัคซีน ChulaCov 19 ผลิตจากชิ้นส่วนขนาดจิ๋วสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา (โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด) ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วนี้เข้าไป จะทำการสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (spike protein) และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไว้เตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ เมื่อวัคซีนชนิด mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่กี่วัน mRNA นี้จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกายแต่อย่างใด

ส่วนวัคซีนใบยา ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีการผลิตโมเลกุลโปรตีนจากพืช คือใส่ยีนเข้าไปในพืช แล้วใช้กระบวนการผลิตของพืช ผลิตโปรตีนที่เราต้องการ โปรตีนที่ได้จึงมีความบริสุทธิ์ ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เป็นเทคโนโลยีที่มีมากว่า 15 ปี เคยใช้รักษาโรคอีโบล่า

โดยมีผู้พัฒนาวัคซีน คือ รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ คนต้นคิดวัคซีนจากใบยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี และผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานกรรมการบริหาร ทั้งสองทำงานแบบสตาร์ทอัพ ในนามบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ในความดูแลของ CU Enterprise

 

  • วัคซีนใบยา คืบหน้าไปถึงไหน

จุดเด่นวัคซีนใบยา มีดังนี้ การผลิตจากพืช เมื่อเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ในอนาคต ทีมวิจัยสามารถนำรหัสพันธุกรรมของสายพันธุ์นั้นๆ มาผลิตเป็นวัคซีนใช้ได้ทันที เหมาะกับการผลิตวัคซีนที่เชื้อไวรัสมีสายพันธุ์ใหม่ๆ ออกมาตลอด ไม่ต้องเสียเวลานำเข้าวัคซีนเฉพาะบางสายพันธุ์จากต่างประเทศ วัคซีนมีส่วนประกอบที่เป็นโปรตีน จึงค่อนมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง ในส่วนของประสิทธิภาพจะต้องมีการทดลองในมนุษย์กันต่อไปจึงสามารถวัดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา  เผยถึงความคืบหน้าของวัคซีนใบยา วัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชตระกูลยาสูบสปีชีส์ “N. benthamiana” ซึ่งใช้ระบบการผลิต recombinant protein โดยการตัดต่อพันธุกรรมของแบคทีเรียที่ก่อโรคในพืชในใบยาสูบ ปัจจุบันได้ดำเนินการสร้างโรงงานผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการผลิตวัคซีนจากระบบดังกล่าวที่อาคารจุฬาพัฒน์ 14 คาดว่าจะมีกำลังการผลิตจำนวน 1-5 ล้านโดสต่อเดือน

ส่วนวัคซีนอยู่ในระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 โดยได้เริ่มฉีดให้กับอาสาสมัครตั้งแต่วันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ การทดสอบในมนุษย์ของวัคซีนใบยามี ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ร่วมเป็นนักวิจัยทางคลินิกด้วย นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้พัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง โดยปรับปรุงสูตรให้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น และมีการพัฒนาจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์มากกว่า 10 รูปแบบ เพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนผสม (Cocktail vaccine) ซึ่งวัคซีนรุ่นที่สองนี้ ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการทดสอบในสัตว์ทดลอง

ไม่ใช่ใบยาทีมเดียวที่ทำให้เกิดวัคซีนคนไทยได้ แต่เป็นทีมประเทศไทยที่ทำงานร่วมกัน การเกิดวัคซีนหนึ่งตัวไม่ใช่นักวิจัย 3-5 คน แต่ต้องใช่ทีมกว่าร้อยคนในการผลิต ตรวจสอบคุณภาพ ทีมไทยแลนด์มีศักยภาพในการทำวัคซีน มาตรฐานสากล และทดสอบตามที่สากลดำเนินการ คาดหวังจะใช้ได้เร็วที่สุดช่วงไตรมาส 3-4 ในปี 2565 โดยการศึกษาจะต้องดูตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปต่อไปผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าว

ทั้งนี้ ในแง่ของการดำเนินงานตั้งแต่แรก เราได้รับการสนับสนุนทั้งภาคประชาชนผ่านกระบวนการระดมทุน ภาคเอกชน รวมถึงภาครัฐ การทดสอบระยะที่ 1 ได้รับทุนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และการทำวิจัยและพัฒนา ทดสอบ โดยอาสาสมัครเพราะต้องมาหาเราอย่างน้อย 7-8 ครั้ง เพื่อเจาะเลือด ทดสอบวัคซีนที่ไม่มีการใช้มาก่อน ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ค่อนข้างสูง และอยากทำให้ปลอดภัยที่สุด

  • วัคซีนมหาวิทยาลัยมหิดลชนิดเชื้อตาย

สำหรับวัคซีนสัญชาติไทยนั้น ไม่ได้มีเพียงเฉพาะ Chula Cov19 หรือวัคซีนใบยาของจุฬาฯ เท่านั้น

ยังมี วัคซีนมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็น ชนิดเชื้อตาย HXP-GPOVac พัฒนาโดย คณะเวชศาสตร์เขตร้อ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม สถาบัน PATH และ The University of Texas at Austing เบื้องต้น ได้มีการรายงานผลการทดสอบอย่างเป็นทางการ โดยจะเลือกวัคซีน 2 สูตรที่ดีที่สุดจากการทดลองไป 5 สูตร เพื่อนมมาทำการทดลองระยะที่ 2 ในอาสาสมัคร 250 คนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และเลือก 1 สูตรที่ดีที่สุดเพื่อทดลองในระยะที่ 3  ในภาคสนามกับอาสาสมัคร 1,000 - 10,000 คน โดยวัคซีนที่ผ่านการวิจัยในมนุษย์ทั้ง 3 ระยะแล้วจะถูกนำไปขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา เพื่อเริ่มการผลิตต่อไป

 ตบท้ายด้วย วัคซีนไบโอเทค สวทช. เป็นต้นแบบวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยทีมวิจัย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาต้นแบบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ออกมา 3 ประเภท คือ 

1) วัคซีนประเภท Virus-like particle (VLP) หรือ วัคซีนอนุภาคไวรัสเสมือน เป็นเทคโนโลยีการสร้างโครงสร้างเลียนแบบอนุภาคไวรัสแต่ไม่มีสารพันธุกรรมของไวรัสบรรจุในโครงสร้างดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังกล่าววัคซีนรูปแบบนี้จึงปลอดภัย และสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อโปรตีนสไปค์จากผิวของวัคซีนได้ด้วย 

2) วัคซีนประเภท Influenza-based คือการปรับไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้สามารถแสดงออกโปรตีนสไปค์ของไวรัส SAR-CoV-2 หลังจากนำส่งเข้าสู่ร่างกาย วิธีนี้จะทำให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อทั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่ และ SARS-CoV-2 ได้ในเวลาเดียวกัน 

3) วัคซีนประเภท Adenovirus vector-based คือ การปรับพันธุกรรมไวรัส Adenovirus serotype 5 ให้อ่อนเชื้อและสามารถติดเชื้อได้ครั้งเดียว และ เพิ่มยีนที่กำหนดการสร้างโปรตีนสไปค์เพิ่มลงไปในสารพันธุกรรมของไวรัส

เมื่อนำไวรัสชนิดนี้ฉีดเข้าสู่ร่างกายจะมีการสร้างโปรตีนสไปค์เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ ซึ่งทีมได้ดำเนินการวิจัยพัฒนาในหลอดทดลองและทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูทดลองและประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดต่อการคุ้มกันโรคที่เกิดขึ้นจริงในเฟสต่างๆ

อ้างอิง: ไบโอเทค สวทช.