ส่องหลักสูตรใหม่ "ฐานสมรรถนะ" ผ่าน SISAKET ASTECS เรียนต่างจากเดิมอย่างไร?

ส่องหลักสูตรใหม่ "ฐานสมรรถนะ" ผ่าน SISAKET ASTECS เรียนต่างจากเดิมอย่างไร?

ทำความรู้จัก "SISAKET ASTECS" หลักสูตรใหม่ "ฐานสมรรถนะ" จากเสียงคุณครู โรงเรียนบ้านปะทาย จ.ศรีสะเกษ หนึ่งในโรงเรียนนำร่อง เด็ก ๆ เรียนอย่างไร? หลักสูตรต่างจากเดิมแค่ไหน ชวนอ่านที่นี่!

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศใช้ หลักสูตรสมรรถนะ แทนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 นำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จำนวน 265 โรงเรียน 

ด้วยเหตุผลหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 มีตัวมาตรฐานและดัชนี้ชี้วัดจำนวนมาก ซ้ำซ้อน ทำให้เด็กเน้นท่องจำไปสอบมากกว่าฝึกทักษะ ขณะที่ตัวเนื้อหา สื่อ การจัดกระบวนการเรียนรู้นั้นพัฒนาช้า และไม่เพียงพอต่อความต้องการ สำคัญที่สุดเด็กไทยระดับความรู้ และความสามารถต่ำกว่าเกณฑ์นานาชาติ ซึ่งสะท้อนผ่านผลการสอบ PISA ตกต่ำ

อย่างไรก็ดีหลักสูตรใหม่ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.… นั้น ที่นำเข้ามาทดลองใช้ มีลักษณะเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะสำคัญที่จำเป็นต่อนักเรียนทุกคน โดยสามารถนำเอาสมรรถนะหลักและสมรรถนะอื่น ๆ ไปใช้ต่อยอดในอนาคต

เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพมากขึ้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนทำความรู้จักหลักสูตรใหม่! ฐานสมรรถนะ ผ่าน SISAKET ASTECS จากเสียง ‘ปัญชลีย์ ฉัตรอริยวิชญ์’ คุณครูโรงเรียนบ้านปะทาย จ.ศรีสะเกษ เล่าประสบการณ์ตรงหลังจากเริ่มใช้หลักสูตรนี้เกือบ 1 ปีเต็ม

  • หลักสูตร "ฐานสมรรถนะ" ในทัศนะ

หลักสูตรที่โรงเรียนจะสามารถพัฒนาทักษะเด็กเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมปัจจุบันและอนาคต โดยศึกษาจากเรื่องใกล้ตัวที่เด็ก ๆ เป็นและดำเนินชีวิต ซึ่งจะยึดเข้ากับการสนับสนุนจากชุมชนและฐานทุนของโรงเรียนที่มี เช่น ความรู้ความสามารถของคุณครู ทรัพยากรต่าง ๆ ในโรงเรียน ฯลฯ

  • ความแตกต่างระหว่างหลักสูตรสมรรถนะ กับ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 

ถ้ามองจากมุมมองของตัวคุณครูการจัดกระบวนการเรียนรู้ พบว่าเจอทิศทางแล้วมีเป้าหมายมากขึ้น แต่เดิมเราจะยึดตัวหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 จะพะวงตัวมาตรฐานตัวชี้วัดที่มีจำนวนมาก 

ที่สำคัญอดีตไม่ใช่หลักสูตรโดยเฉพาะของเราแต่เป็นหลักสูตรกลางของสพฐ. แต่พอมาใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ตัวนี้สามารถบรรลุเป้าหมายอย่างที่วางไว้ 

โดยคุณครูจะค่อย ๆ พัฒนาไปทีละขั้นตามลำดับ ดังนั้นมั่นใจว่าเด็ก ๆ จะไม่ได้เรียนเรื่องเดิม เขารู้อะไรมาแล้ว ก็จะเติมเรื่องอื่นเข้าไป ทำให้เขามีทักษะนำไปใช้ได้

ทั้งนี้หลักสูตรฐานสมรรถนะทำให้ตัวคุณครูพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งความรู้ ทักษะ และกระบวนการแก้ปัญหา เพราะได้ลงมือทำจริงและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทันที

  • หลักสูตรฐานสมรรถนะของโรงเรียนบ้านปะทาย

โรงเรียนบ้านปะทายใช้หลักสูตร SISAKET ASTECS สอดคล้องกับหลักสูตรฐานสมรรถนะ 

SISAKET ASTECS เกิดขึ้นจากการเก็บข้อมูลความคิดเห็นคนศรีสะเกษ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน รวมถึงสำรวจต้นทุนจังหวัดศรีสะเกษ แตกออกมาเป็นเกษตรอินทรีย์ก้าวหน้า กีฬาก้าวไกล ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ นวัตกรประกอบการ ร่ำรวยวัฒนธรรม และจิตวิญญาณศรีสะเกษ”

แต่ปัจจุบันโรงเรียนของเราดึงเป้าหมายมาใช้ 3 ตัว เป็นตัวเฉพาะที่โรงเรียนและชุมชนสามารถสนับสนุนได้ คือ จิตวิญญาณปะทาย เกษตรอินทรีย์วิถีปะทาย และนักนวัตกรรมประกอบการชุมชน ซึ่งใช้ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น 

อธิบายให้เห็นภาพโรงเรียนจะพัฒนาตั้งแต่ต้น เริ่มตั้งแต่ช่วงอนุบาลจะเน้นที่ทักษะ EF หรือการบริหารจัดการตัวเองที่เป็นทักษะพื้นฐานสำหรับต่อยอดในระดับชั้นต่อ ๆ ไป 

จากนั้นช่วงประถมศึกษา คุณครู ผู้บริหาร จะมีการพูดคุยกันผ่านกระบวนการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อวางแผน ตลอดจนเข้าไปสอบถามความคิดเห็นของเด็ก ๆ แต่ละคน โดยสรุปเทอมหนึ่งจะมี 4 หน่วยการเรียนรู้ คือ ไทย อังกฤษ คณิตศาสตร์ และบูรณาการ (นำวิชาอื่น เช่น สุขศึกษา การงาน วิทยาศาสตร์ ฯลฯ มาเรียนรวมกัน) ทั้งหมดหน่วยละ 10 สัปดาห์ โดยแต่ละหน่วยการเรียนรู้จะสอดคล้องกับเป้าหมาย 3 ตัวที่ตั้งไว้ 

ยกตัวอย่าง วิชาบูรณาการ เรียนเรื่องของการของการออม คุณครูจะพาทำกิจกรรมวิเคราะห์ให้เห็นว่าภาพกว้างเกี่ยวข้องกับรายรับ รายจ่ายของเด็ก ๆ โดยใช้ข้อมูลจากการเงินพ่อแม่และตัวนักเรียน จากนั้นสอนเขาเรื่องการทำบัญชีเพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและเพิ่มการออมมากขึ้น

วิชาภาษาไทย เด็ก ๆ จะเรียนการอ่านผ่านวรรณกรรม และวิชาคณิตศาสตร์เรียนทักษะการคิดเลขขั้นสูง เป็นต้น

  • การประเมินผล การเลื่อนชั้น การจบการศึกษา

หลักสูตรฐานสมรรถนะจะนำเอาเกณฑ์ความก้าวหน้าเข้ามาใช้ ระดับก็จะมีเริ่มต้น กำลังพัฒนา โดยยึดหลักจากการวัดประเมินผล สมรรถนะตามที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด 6 ตัว คือ การจัดการตนเอง การคิดขั้นสูง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน 

แต่การประเมินผล การเลื่อนชั้น การจบการศึกษายังอยู่ในการพูดคุย ปัจจุบันโรงเรียนบ้านปะทายยังทำ 2 แบบ ทั้งให้เกรดและประเมินความก้าวหน้า เพื่อให้เด็ก ๆ ย้ายแล้วไปเรียนต่อที่อื่น ๆ ได้

  • ปัญหาที่พบหลังการดำเนินการใช้หลักสูตร SISAKET ASTECS 

การวิเคราะห์ศักยภาพของเด็กได้ไม่ดี ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คุณครูไม่ได้ออกไปพบปะเด็กแต่ละคนที่บ้าน เพราะการได้เจอและนั่งคุยจะทำให้เห็นธรรมชาติของเด็กและผู้ปกครอง 

ดังนั้นตัวคุณครูลืมมองไปว่าเด็ก ๆ ต้องสูญเสียอะไรบ้างขณะที่เขาไม่ได้มาโรงเรียน พอตัวเราเน้นวางแผนพัฒนาอย่างเดียว ในเทอมที่แล้วจึงมีความผิดหวัง เพราะว่าเด็กปรับตัวไม่ทัน เลยต้องมาปรับกิจกรรมใหม่ พาเขาทบทวนสิ่งเดิม ๆ แล้วค่อยเชื่อมโยงกับสิ่งใหม่ ที่นี้พอเด็กเริ่มทำ เขาก็เริ่มปรับตัวได้ ทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้น

อีกปัญหาเทอมที่ผ่านมาเรียนไม่ครบหน่วยการเรียนรู้ ด้วยเวลาและเด็ก ๆ อยู่บ้าน การจัดการตัวเองค่อนข้างกำกับตัวเองได้น้อย

  • ความเปลี่ยนแปลงของเด็ก ๆ เมื่อเรียนหลักสูตร SISAKET ASTECS 

ถ้ามองช่วงนี้ยังเห็นไม่ชัด เพราะว่าเด็กเพิ่งกลับมาเรียนที่โรงเรียนประมาณ 2-3 อาทิตย์ เขาอยู่ในช่วงการปรับตัว แต่จากที่สังเกตเด็กมีความสุขเมื่อคุณครูพาทำนู่นทำนี่ โดย 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเด็ก ๆ เริ่มมองออกแล้วว่าตัวเองจะต้องเรียนอะไรต่อ จะตอบคำถามคุณครูอย่างไรผ่านการคิดวิเคราะห์ 

ทั้งนี้ถ้ามองคนในชุมชนเขาจะบอกว่านักเรียนที่มาจากโรงเรียนบ้านปะทายเก่งในเรื่องของการจัดการปัญหา มีการวางแผน เป็นผู้นำของเพื่อน ทำงานกลุ่มออกมาได้ดี เพราะเด็ก ๆ รู้จักใช้สมรรถนะที่ได้เรียนรู้นำมาต่อยอด

  • หลักสูตรฐานสมรรถนะไม่ใช่การตีกรอบอาชีพให้เด็ก แต่เป็นติดตั้งทักษะนำไปต่อยอด

เด็กจะได้สมรรถนะพื้นฐานในท้องถิ่นและสามารถนำไปต่อยอดสมรรถนะของตนเองได้ จากสังเกตเด็กที่จบไปไม่ว่าจะเป็นเด็ก ป.6 หรือ ม.3 ไม่มีปัญหาเรื่องการนำการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self –Directed Learning) 

“เขาอยากเป็นอะไร มันก็เป็นเรื่องของเขาที่จะไปต่อยอด แต่อย่างไรเขาก็มีความสามารถพื้นฐานแล้ว” 

  • อนาคตหลักสูตร SISAKET ASTECS โรงเรียนบ้านปะทาย

วางแผนว่าจะยึดตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนแรกจะเอาเป้าหมายจิตวิญญาณปะทายให้เด็กได้เรียนรู้ ตระหนักในความเป็นตัวตนของตนเอง การมองให้เห็นคุณค่า จากนั้นก็มาที่เกษตรอินทรีย์วิถีปะทาย ต่อด้วยนักนวัตกรรมประกอบการ ในแต่ละตัวจะที่มองสมรรถนะแล้วทำให้เป็นความรู้เพื่อใช้สำหรับแต่ละคนเด็กในแต่ละระดับช่วงชั้น

---------------------------

อ้างอิงcbethailandthepotential