โควิด-19วิกฤติซ้อนวิกฤติสังคมไทย เร่งเกิดสวัสดิการสังคมรองรับ

โควิด-19วิกฤติซ้อนวิกฤติสังคมไทย เร่งเกิดสวัสดิการสังคมรองรับ

นักวิชาการอิสระชี้โควิด-19ระบาดเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤต  สะท้อนภาพวิกฤติความยากจน-เหลื่อมล้ำ-ความเปราะบางเด่นชัดขึ้น  เร่งเกิด“สวัสดิการสังคม”เป็นกันชน-ตาข่ายรองรับวิกฤต เสนอจัดสวัสดิการ 9 ด้านครอบคลุมตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

     ในงานครบรอบ 20 ปี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีการจัดกิจกรรมภายใต้ชื่องาน “20 ปี ภาคีสร้างสุข : นวัตกรรมความสุขที่ยั่งยืน” โดยมีการเสวนา Forum 3 ความเป็นธรรมทางสังคมและสุขภาพ โดยนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ นักวิชาการอิสระ  กล่าวถึงการขับเคลื่อนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพในภาพรวมของสังคมและประชากรกลุ่มเฉพาะว่า  ในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 เป็นเหมือนวิกฤตซ้อนวิกฤตเดิม เรื่องวิกฤตการณ์ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความเปราะบางทางสังคมของประชากรกลุ่มเฉพาะต่างๆ  ทำให้เห็นภาพเหล่านี้เด่นชัดขึ้น และแสดงให้เห็นบทบาทสำคัญของสวัสดิการสังคมในการเป็นกันชนเมื่อเกิดวิกฤตและตาข่ายรองรับทางสังคม

     สถานการณ์ความยากจน ในปี 2564 หนี้สินครัวเรือน 14.27 ล้านล้านบาท พุ่งถัง 90 %ของ GDP คนไทยนับล้านตกอยู่ในภาวะว่างงาน รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน 26,018 บาท รายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน 21,329 บาท  สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ  ผู้ถือครองที่ดินมากที่สุด 631,263 ไร่ ที่ดินโฉนด 61.48% เป็นผู้ถือครองที่ดินมากที่สุด 10 % ผู้ถือครองที่ดินมากที่สุด 10 %กับน้อยที่สุด 10 %ต่างกัน 855 เท่า ในปี 2552-2564 เศรษฐีไทย 40 อันดับแรก มีทรัพย์สินรวมเพิ่มขึ้นจาก 25,183 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 151,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าทรัพย์สินเศรษฐีไทย 40 อันดับแรกคิดเป็นร้อยละ 28.01 ของGDP 
         และสถานการณ์ความเปราะบาง เด็กแรกเกิด0-6 ปีจำนวน 4.2 ล้านคนได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 600 บาทต่อเดือน จำนวน 1.4 ล้านคนไม่ได้รับสิทธิ์ จำนวน 2.8 ล้านคน  ปี 2563 ผู้ว่างงาน 6.51 แสนคน เพิ่มจากปี  2562 จากจำนวน 3.73 แสนคน ปี2564 แรงงานอิสระ 20.4 ล้านคนเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม 10 ล้านคน  ผู้สูงอายุจำนวน 10.03 ล้านคน ได้รับเบี้ยยังชีพ 600-1,000 บาทต่ำกว่าเส้นความยากจน ประมาณ 3 เท่า ไม่มีการปรับเพิ่มนับตั้งแต่ปี  2554 ผู้สูงอายุที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 4.7 ล้านคน ได้รับเพิ่ม 200 บาท ไม่ได้รับ 5.6 ล้านคน  และคนพิการที่มีบัตรคนพิการ ประมาณ 2 ล้านคน ได้รับเบี้ยยังชีพ 800 บาทต่อเดือน คนพิการที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1 ล้านคน หรืออายุต่ำกว่า 18 ปีประมาณ 1.2 แสนคน ได้เพิ่ม 200 บาทไม่ได้รับเพิ่มประมาณ 8.8 แสนคน 

     นายนิติรัตน์ กล่าวด้วยว่า  การผลักดันให้เกิดสวัสดิสังคมใน 9 ด้านตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนจำเป็นอย่างยิ่ง โดยมีข้อเสนอแนะประกอบด้วย 1.เงินอุดหนุนเด็กและเยาวชน  เงินสนับสนุนเด็กและเยาวชน อายุ 0-18 ปี ,อายุ 19-22 ปีสนับสนุนเงินสำหรับการเรียนระดับอุดมศึกษาโดยพิจารณาจากเกณฑ์เส้นความยากจนโดยเฉพาะของประเทศไทย และศูนย์รับเลี้ยงเด็กแรกเกิดอายุ0-3 ขวบเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ผู้ปกครองมีทางเลือกในการดูแลเด็ก

     2.การศึกษา  ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษามีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน ไม่มีค่าใช่จ่ายอย่างแท้จริง ระดับอุดมศึกษา มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน มีกลไกการควบคุมค่าหน่วยกิตสู่การเรียนฟรี และการสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้ การพัฒนาศักยภาพในหลักสูตรที่รัฐกำหนดตามช่วงวัยของประชากร 

             3.หลักประกันสุขภาพ พัฒนาสวัสดิการสุขภาพเป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระบบเดียว ที่ครอบคลุมประชากรทุกอาชีพและให้สิทธิการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้เท่าเทียมกันและมีคุณภาพ

4.ที่อยู่อาศัยและที่ดิน อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย/ที่ดินเกษตร ไม่เกินร้อยละ 2  สร้างที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพให้เช่า 1,000 ยูนิตทุกตำบล ราคาและค่าเช่าที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยรายได้ในพื้นที่ อุดหนุนงบประมาณที่อยู่อาศัย ประมาณ 10%ของรายได้เฉลี่ยครัวเรือน และภาษีอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน ปฏิรูปที่ดิน

          5.งานและรายได้ ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ค่าจ้างแรงงานให้มีการปรับขึ้นตามอายุการทำงาน สิทธิลาคลอด-เลี้ยงดูบุตร 180 วันตือเด็ก 1 คน ใช้ได้ทุกเพศสภาพ ลดชั่วโมงการทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

6.ประกันสังคม ระบบประกันสังคมที่มุ่งไปสู่ประกันสังคมพื้นฐาน เป็นการขยายสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมประชาชน คนทำงานวัยแรงงานทุกกลุ่ม โดยในจุมเริ่มต้นต้องพัฒนาสิทธิประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 40 เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการเข้าสู่ระบบประกันสังคม 

 7.ระบบบำนาญ พัฒนาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จาก 600-1,000 บาทต่อเดือน เป็นระบบบำนาญประชาชน โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจนเฉลี่ยของประเทศ โดยปรับเพิ่มขึ้นทุก 5 ปี ตามอัตราเงินเฟ้อและดัชนีผู้บริโภคและรัฐบาลจ่ายตรงให้แก่ประชาชนผ่านกรมบัญชีกลาง

           8.สิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม  ปรับเบี้ยยังชีพคนพิการโดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน กระบวนการข้ามเพศให้เป็นสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พนักงานบริการ ชนเผ่าพื้นเมือง คนไร้บ้าน ต้องเข้าถึงสวัสดิการ ทบทวน/ยกเลิกหลักสูตรการศึกษา ภาพยนตร์ที่สร้างอคติ ความเกลียดชัง ขนส่งสาธารณะเข้าถึงทั่วถึง พื้นที่สาธารณะเข้าถึงฟรี

และ9.ระบบภาษีและงบประมาณ  ปรับปรุงการลดหย่อนและยกเว้นภาษีในลักษณะผู้มีรายได้น้อยเอื้อผู้มีรายได้สูง ทบทวนสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนBOI ปรับปรุงภาษีอัตราก้าวหน้า ปรับลดช่วงมูลค่าสุทธิที่ยกเว้นภาษี  การพัฒนาภาษีผลได้จากทุน และประชาชนทุกคนยื่นภาษีเงินได้