สธ.เผยอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์นักเรียนกว่า1ล้านโดส

สธ.เผยอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์นักเรียนกว่า1ล้านโดส

สธ.เผยอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์นักเรียนกว่า1ล้านโดส รออนุฯเคาะเข็ม 2 นักเรียนชาย ย้ำเด็กนอกระบบร.ร.ควงผู้ปกครอง Walk in ฉีดได้ที่สถานพยาบาล ศธ.ย้ำวัคซีน100%ไม่ใช่เงื่อนไขเปิดเรียน 1พ.ย.นี้ ร.ร.ทยอยเปิดตามความพร้อมพื้นที่-คกก.โรคติดต่อจังหวัดอนุญาต

    เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 20 ต.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ภายหลังการแถลงข่าวลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาการศึกษาและพัฒนาสุขภาพผู้เรียนช่วงวัยแบบูรณาการ สร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพผ่านโครงการ “สบช.สัญจร”ระหว่างสธ.และกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์เรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนไฟเซอร์ในนักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไปว่า เป้าหมายฉีดวัคซีนนักเรียน 12 ขึ้นไป เป็นไปตามระดับที่คาดการณ์ไว้ เจตนารมณ์ที่จะให้มีการเปิดภาคเรียน พ.ย.นี้ยังเป็นไปตามนั้น โดยจะเร่งฉีด

       “ สำหรับผู้ปกครองที่ยังไม่ได้ให้ลูกหลานมาฉีดวัคซีนไฟเซอร์ อยากให้ทราบว่าขณะนี้มีนักเรียนฉีดจำนวนมากแล้วกว่า 1 ล้านคนแล้ว ไม่มีเหุการณ์หรืออาการข้างเคียงใดอันตราย ซึ่งพื้นฐานเด็กมีความแข็งแรงอยู่แล้ว การมาเร่งฉีดวัคซีนทำให้เกิดความมั่นใจให้เด็ก ครูอาจารย์ ผู้ใกล้ชิดเด็ก ฉีดป้องกันทั้งติดเชื้อแพร่เชื้อ หากไม่ฉีดเมื่อรับเชื้อภายนอกกลับบ้านก็แพร่เชื้อให้คนในครอบครัวก็ไม่เป็นผลดี ยืนยันมีวัคซีนเพียงพอที่จะทำการฉีดให้นักเรียนเกิดความปลอดภัยมีภูมิคุ้มกันแน่นอน”นายอนุทินกล่าว  

       นายอนุทิน  กล่าวอีกว่า หากลูกหลานยังไม่ได้รับวัคซีน รัฐบาลยืนยันว่าประโยชน์รับวัคซีนมีมากกว่าไม่รับวัคซีนหลายเท่า การฉีดป้องกันตนเองปลอดภัยจากโควิดและป้องกันผู้อื่นด้วย เพราะในระบบครอบครัว ยังมีผู้สูงอายุที่พักอาศัยในบ้าน ถ้าเราฉีดกันถ้วนหน้าครบทุกคน เด็กมาเรียนหนังสือ เกิดติดเชื้อ กลับไปบ้านก็ปลอดภัยที่จะไม่แพร่เชื้อออกไป โดยเฉพาะคนที่บ้านรับวัคซีนถ้วนหน้าโอกาสติดเชื้อแทบไม่มี ถ้ามีคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนก็เปิดโอกาสเปิดความเสี่ยงติดเชื้อแพร่เชื้อ ซึ่งในภาวะการที่มีเครื่องมือครบถ้วน ทำไมจะไม่มาทำความปลอดภัยสูงสุดต่อตัวเองครอบครัว เป็นการช่วยเหลือดูแลตัวเอง ครอบครัว สังคมประโยชน์สูงสุดเกิดกับประเทศชาติ
     "ยืนยันว่า วัคซีนไฟเซอร์ในเด็กนักเรียน อายุ 12-18 ปี ไม่ได้จะฉีดเฉพาะนักเรียนในระบบเท่านั้น แต่นักเรียนนอกระบบ ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ก็ถือเป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีสิทธิได้รับวัคซีนเช่นเดียวกัน ได้สั่งการให้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. กำชับไปในที่ประชุมอีโอซีของสธ.ในวันที่21 ต.ค.นี้ เพื่อสั่งการไปยังสถานพยาบาล จุดฉีดวัคซีน ให้เปิดรับลงทะเบียนฉีดวัคซีน หรือวอล์กอิน สำหรับผู้อายุ 12-18 ปี แต่คนกลุ่มนี้ยังไม่เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ จึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน ดังนั้น ขอให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานของตนเอง ไปรับวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านหรือ รพ.ตามสิทธิ"นายอนุทินกล่าว 

        ผู้สื่อข่าวถามว่าจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็ม 1 ให้นักเรียนที่แจ้งความประสงค์ฉีดครบ 100 %ก่อนถึงจะเปิดเรียนหรือไม่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวว่า  มีนักเรียนแจ้งความประสงค์ฉีดวัคซีนราว 3.8 ล้านคนจากทั้งหมด  5 ล้านคน โดยศธ.มีโรงเรียนกว่า 3 หมื่นแห่ง มีสภาพหลากหลายตามพื้นที่พื้นที่  โดยในวันที่ 22 ต.ค.2564 จะมีการพิจารณาและความชัดเจนข้อสรุปเรื่องของกรอบการเปิดเรียน พิจารณาเรื่องความปลอดอันดับ 1  ,จำนวนครูฉีดวัคซีนกี่เปอร์เซ็นต์ ทั้งพื้นที่สีแดงเข้ม สีแดง สีเหลือง อาจมีความแตกต่างกัน  โดยร.ร.ใดเป็นไปตามหลักการที่ สธ.ยืนยันมาก็จะทยอยเปิดไป นอกจากนี้  ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการระดับจังหวัดในการพิจารณาด้วย เพราะจะมีความเข้าใจสภาพพื้นที่ได้ดี เช่น ในจังหวัดเป็นพื้นที่แดงเข้ม หรือแดง แต่ในชุมชนหมู่บ้านอาจจะปลอดเป็นสีเขียว

      “การเปิดเรียน 1 พ.ย.นี้ จะพิจารณารายละเอียดพื้นที่ เบื้องต้นโรงเรียนไหนพร้อมก็ทยอยเปิด  ไม่จำเป็นต้องว่าโรงเรียนนั้นเด็กที่ต้องการฉีดวัคซีนจะได้ฉีดแล้วครบ 100% เพราะที่ทราบจากสธ. คือ การฉีดวัคซีน โดยหลักเมื่อรับเชื้อจะลดความรุนแรง สิ่งสำคัญคือ การเว้นระยะห่าง การเรียนแบบนิวนอร์มัล ซึ่งในสัปดาห์ร.ร.ก็จประเมินตนเองตามเกณฑ์ที่กำหนด ก่อนเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอนุมัติว่าวันที่ 1 พ.ย.จะเปิดเรียนแบบออนไซต์ได้กี่แห่ง เป็นไปตามบริฐทของแต่ละพื้นที่ที่ร.ร.ตั้งอยู่ แต่แม้ไม่ได้เปิดออนไซต์ก็เปิดเรียนรูปแบบอื่น และถ้าเปิดแบบออนไซต์  เด็กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนก็มาเรียนได้ แต่จะต้องเข้มมาตรการต่างๆ ที่ต้องเรียนร่วมกัน มากยิ่งขึ้น ”น.ส.ตรีนุชกล่าว    
        นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ) กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์การเปิดภาคเรียน นอกจากดูเรื่องของมาตรการความปลอดภัยที่สถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรฐานแล้ว จะพิจารณาเรื่องของการระบาดของโควิดในพื้นที่แบบระดับ ตำบล และ อำเภอมาประกอบการพิจารณา ไม่ได้ดูระดับจังหวัด  หากตำบลหรืออำเภอมีโรงเรียนตั้งอยู่แล้วไม่ได้มีการระบาดมานาน และมีการรับวัคซีนตามเงื่อนไข คณะกรรมการประเมินโรงเรียนแล้วว่าผ่าน  และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอนุมัติให้โรงเรียนแห่งนั้นเปิดได้ ก็เปิดแบบออนไซต์  เช่น พื้นที่ไหนระบาดน้อยก็เปิดก่อน ส่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มีการระบาดของโควิดอย่างหนัก ก็อาจมีการกลับไปใช้แนวทางเดิมที่เคยปฏิบัติมา เช่น การเรียนแบบออนไลน์
      ผู้สื่อข่าวรายงานวัน ช่วงบ่ายวันที่ 20 ต.ค.2564  คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคจะมีการพิจารณาในเรื่องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 2 ในนักเรียนชาย