แจงเหตุไทยไม่ซื้อ "ยาโมลนูพิราเวียร์"ราคาถูกจากอินเดีย

แจงเหตุไทยไม่ซื้อ "ยาโมลนูพิราเวียร์"ราคาถูกจากอินเดีย

สธ.เปิด รพ.สนามเลิดสิน 200 เตียง รองรับผู้ป่วยโควิดสีเหลืองและแดงในกทม. กรมการแพทย์เชื่อ กทม.เตียงไม่เต็ม หลังใช้ระบบดูแลที่บ้าน ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์แจงเหตุไม่ซื้อจากอินเดีย แม้ราคาถูกกว่า  เตรียมชง ครม.สัปดาห์หน้าอนุมัติงบฯ

     เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2564ที่บริเวณสี่แยกสีลม ตรงข้าม รพ.เลิดสิน  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิด รพ.สนามเลิดสิน กรมการแพทย์ เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด 19 พื้นที่ กทม. ว่า สถานการณ์โรคโควิด -19 พื้นที่ กทม.มีแนวโน้มลดลง ทั้งผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการรุนแรง และผู้เสียชีวิต เป็นผลมาจากมาตรการควบคุมโรค การเร่งระดมฉีดวัคซีนให้มีความครอบคลุม และแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่บ้านและที่ชุมชน ทำให้ปิด รพ.บุษราคัม ศูนย์แรกรับและส่งต่อนิมิบุตร และ Hospitel 2 แห่งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และ รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)

      “เมื่อเปิดกิจการกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น ทำให้มีการรวมตัวและเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อ แม้ขณะนี้เครือข่าย รพ.ต่างๆ ในพื้นที่ กทม.จะมีเตียงเพียงพอ แต่เพื่อรองรับสถานการณ์หากมีผู้ป่วยโควิด 19 จำนวนมากขึ้น กรมการแพทย์จึงเปิด รพ.สนามเลิดสินขนาด 200 เตียงรองรับผู้ป่วยโควิด 19 อาการสีเหลืองและสีแดง รวมถึงเป็นศูนย์แรกรับและส่งต่อด้วย”นายอนุทินกล่าว  

   นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า รพ.สนามเลิดสินได้รับการสนับสนุนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท และผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันในการจัดตั้งในพื้นที่ของบริษัท พฤกษา บริเวณสี่แยกสีลม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด 19 พื้นที่ กทม. รองรับการส่งต่อรักษาสถานพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ มีระบบฆ่าเชื้อและบำบัดน้ำเสีย เพื่อความปลอดภัยต่อบุคลากรและชุมชนโดยรอบ แบ่งเป็นโซนการตรวจคัดกรองหาเชื้อ โซนผู้ป่วยสีเหลืองขนาด 182 เตียง และสีแดง 18 เตียง รองรับผู้ป่วยโควิดต้องล้างไต 12 เตียง หากผู้ป่วยเกิดอาการเปลี่ยนแปลง ต้องได้รับการข่วยเหลือฉุกเฉิน สามารถส่งต่อ รพ.เลิดสินที่อยู่ฝั่งตรงข้ามได้ทันที

   “ขณะนี้ กทม.ผู้ติดเชื้อลดลงเหลือวันละ 1 พันราย การบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิดใน กทม.ไม่มีปัญหา มีความเพียงพอ แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมด้านการรักษาเพื่อรองรับการเปิดเมือง ซึ่งอาจมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นบ้าง แต่เราฉีดวัคซีนครอบคลุมขึ้นมาก เชื่อว่าจะมีอาการน้อย และยังมีระบบดูแลรักษาที่บ้านและชุมชนรองรับ ส่วนตัวเชื่อว่าเตียงน่าจะเต็มยาก นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมรับรองรับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่เสียโอกาสการรักษาในช่วงโควิด อย่าง รพ.เลิดสินจะทยอยเรียกผู้ป่วยรอผ่าตัด โดยเฉพาะกระดูกและข้อ ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของ รพ.กลับมารับบริการ ขณะที่โรงเรียนแพทย์ต่างๆ ก็มีความร่วมมือกับ รพ.เลิดสินและ รพ.เอกชน ที่จะส่งผู้ป่วยโควิดมารักษาและรับดูแลผู้ป่วยปกติแทน อย่างไรก็ตาม รพ.กรมการแพทย์ทุกแห่งพร้อมยกระดับกลับมาดูแลผู้ป่วยโควิดได้”นพ.สมศักดิ์กล่าว  

    นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจร่างสัญญาแล้ว คาดว่า 1-2 วันจะเรียบร้อย อาจเข้า ครม.ได้ในสัปดาห์หน้า เพื่ออนุมัติงบประมาณจากงบกลางในการจัดซื้อ ส่วนจำนวนยังขอไม่เปิดเผย เนื่องจากยังไม่ได้เซ็นสัญญา อย่างไรก็ตาม บริษัทแม่ยื่นเอกสาร อย.สหรัฐ คาดรู้ผลพิจารณาขึ้นทะเบียนสิ้น พ.ย.นี้ จากนั้นจึงมายื่น อย.ไทย ใช้เวลาไม่เกิน 4 สัปดาห์ คาดว่ายาล็อตแรกน่าจะมาได้ ม.ค.นี้
      “ส่วนกรณีที่ให้ซื้อจากอินเดียเพราะราคาถูกนั้น บริษัทแม่ให้สิทธิบริษัทยาอินเดีย 5-6 บริษัทผลิตให้ประเทศยากจน ซึ่งไม่รวมประเทศไทย  แต่หลังจัดซื้อล็อตแรกจะมีการหารือให้บริษัทอินเดียมาขายประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยด้วย”นพ.สมศักดิ์กล่าว  

 ด้าน นพ.ศักรินทร์ วงศ์เลิศศิริ ผอ.รพ.เลิดสิน กล่าวว่า ตั้งแต่ เม.ย.ที่ผู้ป่วยพุ่งสูงมาก รพ.เลิดสินต้องปิดบริการครึ่งหนึ่ง เพื่อนำวอร์ดต่างๆ มาดูแลผู้ป่วยโควิด แต่ยังรับคนไข้ฉุกเฉิน ส่วนไม่ฉุกเฉินก็เลื่อนนัดออกไป อย่างผู้ป่วยผ่าตัดทุกแผนกรวมกันเราเลื่อนนัดถึง 3 พันราย เฉพาะกระดูกและข้อก็มากกว่าพันรายแล้ว หรืออย่างเปลี่ยนเลนส์ตา ซึ่งมี 2 ระยะ คือ ระยะใกล้บอด เราผ่าตัดให้ แต่ระยะโลว์วิชัน เราเลื่อนออกไปก่อน บางส่วนก็อาการเปลี่ยน จึงต้องเร่งเคลียร์ผู้ป่วยเลื่อนนัดเหล่านี้ โดยเรามีข้อมูลอยู่แล้ว จะทยอยมารับการผ่าตัด ซึ่งเรามีศักยภาพผ่าตัดเต็มศักยภาพวันละ 100 กว่าราย แต่ตอนนี้ยังไม่เต็มศักยภาพ เพราะวอร์ด ห้องผู้ป่วยต่างๆ ถูกปรับไปใช้ในโควิดก็ต้องรอปรับกลับมา คาดว่าจะเคลียร์ผู้ป่วยผ่าตัดล็อตนี้ได้ในครึ่งปี ส่วนผู้ป่วยโควิดเหลือ 30 ราย จะย้ายมา รพ.สนามเลิดสิน โดยไอซียูยังเตรียมไว้รองรับผู้ป่วยโควิดอาการหนักอยู่