’สินเชื่อบ้านเพื่อผู้สูงอายุ’ เปลี่ยน ‘บ้าน’ เป็นบำนาญ มี ‘เงิน’ ใช้จนตาย

’สินเชื่อบ้านเพื่อผู้สูงอายุ’ เปลี่ยน ‘บ้าน’ เป็นบำนาญ มี ‘เงิน’ ใช้จนตาย

ทำความรู้จัก "สินเชื่อบ้านเพื่อผู้สูงอายุ" แบบ "Reverse Mortgage" ใช้บ้านเป็นหลักทรัพย์ขอสินเชื่อแบบทยอยจ่าย คล้ายเงินบำนาญ ได้รับต่อเนื่องจนเสียชีวิต แต่ยังเป็นเจ้าของบ้านและอาศัยอยู่ได้ตามปกติ

หนึ่งในปัญหาคลาสสิคของคนวัย "เกษียณ" ก็คือหลังเกษียณแล้ว ไม่ได้มีรายได้อื่นเข้ามา ส่วนเงินก้อนก็ไม่มากพอที่จะเลี้ยงชีวิตอย่างสุขสบาย ครั้นจะ "ขายบ้าน" ที่ใช้อาศัยอยู่ก็ขายยาก แถมขายแล้วก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ต้องลำบากหาที่อยู่ใหม่อีก 

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปทำความรู้จักกับ "สินเชื่อบ้านเพื่อผู้สูงอายุ" ที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันหรือที่เรียกว่า "Reverse Mortgage"

อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อ "ผู้สูงอายุ" ที่มีรูปแบบพิเศษต่างจาก "สินเชื่อ" ทั่วไป คือ มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีบ้านของตนเองสามารถใช้บ้านที่ปลอดหนี้สินหรือผ่อนหมดแล้วและเป็นของตัวเองมาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อออกมาใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพ

 

  •  Reverse Mortgage ต่างจากสินเชื่อบ้านปกติอย่างไร ? 

ความพิเศษของสินเชื่อแบบ Reverse Mortgage จะเรียกว่าการจำนองแบบมุมกลับก็คงไม่ผิดนัก เพราะลักษณะพิเศษของมันตรงข้ามกับการขอสินเชื่อบ้านหรือจำนองบ้านทั่วไป ดังนี้

สินเชื่อบ้านทั่วไป

- ผู้กู้ผ่อนชำระกับธนาคารทุกงวด
- ครบกำหนดงวดสุดท้าย บ้านจะเป็นของผู้กู้
- คุณสมบัติของผู้กู้ต้องอายุไม่เกิน 70 ปี

สินเชื่อ Reverse Mortgage

- ธนาคารเป็นผู้ผ่อนชำระให้ผู้กู้ทุกงวด
- ครบกำหนดงวดสุดท้าย บ้านจะเป็นของธนาคาร
- คุณสมบัติของผู้กู้ต้องอายุตั้งแต่ 60 ปี แต่ไม่เกิน 80 ปี

นอกจากนี้ ผู้กู้จะได้รับเงินจำนวนนี้คล้ายกับเงิน "บำนาญ" ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้กู้เสียชีวิตลง โดยผู้ขอกู้จะยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยหลังที่นำมาเป็นหลักประกันและอาศัยอยู่ได้ตามปกติจนกว่าจะเสียชีวิตหรือสิ้นสุดอายุสัญญา (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละสถาบันการเงิน) โดยเงื่อนไขสำคัญก็ตามที่อธิบายไว้ข้างต้น คือ สุดท้ายแล้ว บ้านจะตกเป็นของธนาคาร

ในต่างประเทศรูปแบบ Reverse Mortgage นี้เริ่มได้รับความนิยมทั้งใน ออสเตรเลีย อเมริกา และแคนาดา โดยจุดที่สำคัญที่สุดที่ทำให้สินเชื่อประเภทนี้ได้รับความนิยมเพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่ปรารถนาที่จะอยู่ในบ้านของตนเองมากกว่าในช่วงบั้นปลายชีวิต

ประกอบกับหลายคนมีบ้านเป็นทรัพย์สินแต่ไม่มี "ผู้รับมรดก" รวมถึงหลายปัจจัยผลักดันให้สินเชื่อประเภทนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นตามมาด้วย

ขณะที่ในบ้านเรา สินเชื่อประเภทนี้ยังไม่ได้รับความนิยมนัก เนื่องจากมีอีกหลายปัจจัยที่ยังเป็นอุปสรรค ทั้งเรื่องของรายได้ประชากร การเข้าถึงข้อมูลสินเชื่อ ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ ฯลฯ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่าสินเชื่อนี้มีเงื่อนไขสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจขอสินเชื่อไม่น้อย

’สินเชื่อบ้านเพื่อผู้สูงอายุ’ เปลี่ยน ‘บ้าน’ เป็นบำนาญ มี ‘เงิน’ ใช้จนตาย

สำหรับในประเทศไทย สินเชื่อเพื่อผู้สูงอายุที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันมีผู้ให้บริการที่เรียกว่า "สถาบันการเงินเฉพาะกิจ" ตามราชกิจจานุเบกษา

จากการค้นข้อมูล ณ วันที่ 18 ต.ค. พบว่า มี 2 ธนาคารที่เปิดให้บริการสินเชื่อ Reverse Mortgage ได้แก่ "ธนาคารออมสิน" และ "ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)" 

- ดูรายละเอียดสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ จาก ธนาคารออมสิน คลิกที่นี่

- ดูรายละเอียดสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ จาก ธอส. คลิกที่นี่

 

  •  ข้อควรระวัง! 

สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับทั้งต่อตัวผู้กู้และสถาบันการเงินที่ให้กู้เองก็เป็นสิ่งที่ควรพิจารณา ไม่ว่าจะเป็น

ความเสี่ยงของผู้กู้ ที่อาจได้รับความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต อาจทำให้ได้รับเงินรายเดือนที่ลดลงกว่าที่คำนวณไว้ตอนทำสัญญา รวมถึงความเสี่ยงจากการที่ผู้กู้มีอายุยืน ส่งผลให้เมื่อครบอายุสัญญา อาจมีเงินเหลือไม่พอใช้จ่ายต่อในช่วงเวลาที่เหลือของชีวิต

ส่วน ความเสี่ยงของสถาบันการเงิน ก็อาจมาจากมูลค่าการขายสุทธิของทรัพย์สินในอนาคต (หลังหักค่าใช้จ่าย) ไม่เพียงพอต่อการชำระเงินกู้

 

ที่มา: