เช็คเลย! สูตรฉีดวัคซีนไขว้ในไทย มีกี่สูตร ผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

เช็คเลย! สูตรฉีดวัคซีนไขว้ในไทย มีกี่สูตร ผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

“การฉีดวัคซีนโควิด-19” เป็นการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่นี้ได้ดีที่สุด ซึ่งขณะนี้ชนิดวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้อยู่ในประเทศไทย มีด้วยกัน 4 ยี่ห้อ และกำลังจะนำเข้ามาอีก 1 ยี่ห้อ ซึ่งแต่ละยี่ห้อจะมีประสิทธิภาพแตกต่างกันออกไป

ทว่าด้วย “วัคซีนโควิด-19” ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์ และโมเดอร์น่า เป็นวัคซีนที่พึ่งผลิตขึ้น และประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตเองได้ ต้องมีการจองวัคซีนจากประเทศต่างๆ และด้วยข้อจำกัดของวัคซีน ทำให้วัคซีนในประเทศไทยไม่เพียงพอที่จะฉีดให้แก่ประชาชน  

  •  2 สูตรวัคซีนสูตรไขว้ในไทย

เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2564 คณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคโควิด-19 (ศปก.สธ.) ซึ่งมีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากหน่วยงานต่างๆ มีมติอนุมัติสูตรการฉีดวัคซีนโควิด -19ของประเทศไทย โดยได้รับคำแนะนำจากคณะอนุกรรมกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2564  ที่ผ่านมา ซึ่งมีการนำข้อมูลทางวิชาการใหม่ ๆ ทั้งผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ และการศึกษาในประเทศไทยมาพิจารณาสรุปสูตรวัคซีนไขว้ที่ฉีดให้แก่ประชาชนคนไทย

เช็คเลย! สูตรฉีดวัคซีนไขว้ในไทย มีกี่สูตร ผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

ขณะนี้มีทั้งหมด 2 สูตร ได้แก่

สูตรแรก  เข็มที่ 1 ซิโนแวค เข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เป็นวัคซีนหลักของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ใช้ในผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในทุกกลุ่ม

สูตรสอง เข็มที่ 1 แอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ไฟเซอร์ ห่างกัน 4-12 สัปดาห์ กลุ่มเป้าหมายหลักผู้มีอายุ18 ปีขึ้นไปในทุกกลุ่ม

ทั้งนี้ ในส่วนของสูตรสอง  คาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนได้ในเดือนต.ค.2564  หลังจากที่มีวัคซีนไฟเซอร์เพียงพอแล้วในประเทศ (ใน 3 เดือนหลังตั้งแต่ ต.ค.-ธ.ค. 2564 จะมีไฟเซอร์เข้าไทยเดือนละ 10 ล้านโดส)

อ่านข่าว : ขยายเวลา"ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่" แก่ผู้ประกันตนอายุ50 ปีขึ้นไป ถึง31 ธ.ค.นี้

 

  • รออนุมัติ “วัคซีนสูตรไขว้สูตรสอง” 11 ต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2564 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิดได้เร็วขึ้น คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายครอบคลุม 60% ของประชากรได้ภายในสิ้นเดือนนี้  ทั้งนี้ หากจำแนกตามยี่ห้อวัคซีนพบว่า แอสตร้าเซนเนก้าฉีดมากสุดถึง 26 ล้านโดส รองมาเป็นซิโนแวคกว่า 20 ล้านโดส ซิโนฟาร์ม 9 ล้านโดส และไฟเซอร์ 1.7 ล้านโดส

เบื้องต้นไฟเซอร์ลอตที่ไทยซื้อ 30 ล้านโดส อยู่ระหว่างทยอยเข้ามา โดย ลอตแรก 2 ล้านโดส มาปลายเดือน ก.ย. ขณะที่ลอตสองจำนวน 1.5 ล้านโดส ได้เข้ามา 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพื่อฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียน เพียงแต่ระยะแรกจะไปในแต่ ร.ร. เพียง 40% เท่านั้น โดย 13 ต.ค. จะนำเข้ามาอีก 1.5 ล้านโดส

เช็คเลย! สูตรฉีดวัคซีนไขว้ในไทย มีกี่สูตร ผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

นอกจากนี้ ในกรณีวัคซีนสูตรไขว้แอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยไฟเซอร์ จะได้ใช้หรือไม่นั้น นพ.โสภณ ระบุว่า ต้องรอให้ที่ประชุม EOC ของ สธ.อนุมัติในวันที่ 11 ต.ค. นี้

โดยยอมรับว่า มีแนวโน้มที่จะมีสูตรไขว้เพิ่มขึ้น คือ แอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วย ไฟเซอร์ เหตุผลหลักคือ มียอดวัคซีนไฟเซอร์เข้ามามากในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม จึงต้องใช้วัคซีนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และแอสตร้าฯ กับ ไฟเซอร์ ก็มีจำนวนมากพอ ๆ กัน

เช็คเลย! สูตรฉีดวัคซีนไขว้ในไทย มีกี่สูตร ผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

ส่วนซิโนแวคที่เหลือ ใช้ฉีดเดือนตุลาคมนี้ก็คงหมด ส่วนผู้ที่ฉีดแอสตร้าฯ ครบ 2 เข็ม นั้น ในต่างประเทศยังไม่มีการฉีดบูสเตอร์ ดังนั้น ต้องรออีกระยะหนึ่ง เนื่องจากภูมิอยู่ได้นานกว่าฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม

โรคประจำตัวก็ได้ฉีด 2 เข็ม เพื่อป้องกันติดโควิดแล้วจะอาการรุนแรง

 

  • ใครได้ฉีดวัคซีนไขว้สูตรสอง

โดยผู้ที่จะได้รับวัคซีนไขว้ สูตรสอง เข็มที่1 แอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยเข็มที่2  ไฟเซอร์นั้น ไม่ใช่เพียงผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน แต่ ผู้สูงอายุที่ได้รับแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 1 ไปก่อนหน้านี้ก็สามารถรับไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 ได้เช่นกัน รวมถึงประชาชนที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 1 ด้วย

ส่วนผู้ป่วยโควิด ที่หายดีแล้ว 1-3 เดือน ก็ต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ ซึ่งต้องมีคุณลักษณะ คือ เป็นผู้ไม่เคยได้รับไฟเซอร์มาก่อน  ได้รับวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม หรือได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว แต่เข็ม 2 ยังไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนติดเชื้อ

เช็คเลย! สูตรฉีดวัคซีนไขว้ในไทย มีกี่สูตร ผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

  • เหตุที่ต้อง “ฉีดวัคซีนสูตรไขว้”

ว่ากันว่า เหตุผลหลักๆ ที่ต้องมีการฉีดวัคซีนสูตรไขว้นั้น คือ  

1.วัคซีนที่ได้รับมาแต่ละชนิดมีจำนวนไม่เท่ากันและอาจไม่เพียงพอต่อการฉีดครบ 2 โดส แต่เพื่อจัดการและจัดสรรวัคซีนที่ได้รับมานี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่เหลือทิ้ง จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนสูตรผสมหรือฉีดบูสเข็ม 3 ด้วยวัคซีนต่างชนิดกับ 2 เข็มแรก

2. ปัจจุบันไวรัสโควิด-19 พัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว วัคซีนที่ผลิตมาจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ตั้งต้นจึงอาจมีประสิทธิภาพไม่มากพอที่จะต่อสู้กับสายพันธุ์ใหม่ๆ ระหว่างรอการทดลองหรือผลิตวัคซีนชนิดใหม่ จึงได้มีการทดลองฉีดวัคซีนสลับชนิดและสลับยี่ห้อ ซึ่งมีการทดลองฉีดในหลายๆ ประเทศ และพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นและเร็วขึ้นได้ เพราะระยะห่างการฉีดเข็มแรกและเข็มสองน้อยลง  

  • ผลศึกษาฉีดวัคซีนไขว้ภูมิสูงกว่าฉีดชนิดเดียวกัน

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบไขว้ชนิดวัคซีน ว่า การฉีดวัคซีนไขว้ด้วยซิโนแวค เป็นเข็มที่ 1 ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มที่ 2 ฉีดห่างกัน 3 สัปดาห์ ผลการศึกษาวิจัย พบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นสูงเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็มที่จะต้องฉีดห่างกัน 10-12 สัปดาห์ และต้องรอให้ภูมิคุ้มกันขึ้นในระดับที่สามารถป้องกันโรคได้อีก 2 สัปดาห์รวมเป็น 14 สัปดาห์

เช็คเลย! สูตรฉีดวัคซีนไขว้ในไทย มีกี่สูตร ผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

สำหรับการที่บอกว่า ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ เพียงเข็มแรก ก็สามารถป้องกันโรคได้ นั่นเป็นข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับสายพันธุ์อัลฟา แต่กับเดลตาไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ซึ่งงานวิจัยต่างประเทศก็ออกมาพูดเรื่องนี้กันเยอะว่า เข็มเดียวไม่เพียงพอต้องฉีด 2 เข็ม ที่สำคัญคือเมื่อเวลาผ่านไปภูมิฯ ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนจะลดลง หากไม่กระตุ้นให้ทัน ก่อนที่จะลดต่ำมาถึงจุดที่ไม่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ ก็จะเกิดอันตรายได้

"เรามีข้อมูลผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ เข็มแรก ยังไม่ได้รับเข็มที่ 2 แต่เกิดการติดเชื้อจนเสียชีวิต ดังนั้น ระบบการจัดการบริหารวัคซีนที่ดี คือ เร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้สูง ให้เร็ว เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะติดเชื้อเมื่อไหร่ จึงเป็นเหตุผลหลักที่เรานำสูตรไขว้มาใช้" ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

  • ความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนสูตรไขว้

สิ่งที่หลายคนกังวลมากที่สุดในการฉีดวัคซีนไขว้สลับชนิดและสลับยี่ห้อ อาจไม่ใช่เรื่องของประสิทธิภาพ แต่เป็นเรื่องของผลข้างเคียงและความปลอดภัย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการฉีดวัคซีนสูตรผสมนี้ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่เป็นองค์การหลักในการบริหารจัดการดูแลเรื่องโควิด-19 ก็ยังไม่ได้ออกมารับรองเรื่องความปลอดภัยอย่างเป็นทางการ แต่ให้หน่วยงานสาธารณสุขของแต่ละประเทศสามารถพิจารณาความเหมาะสมตามผลการศึกษาของตัวเองได้   

ทั้งนี้ สำหรับวัคซีนสูตรผสม ซิโนแวค+ แอสตร้าเซนเนก้า  ฉีดในประเทศไทย ผ่านการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุขว่าหลังจากเริ่มต้นทยอยฉีดนั้นยังไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรงกับคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนสูตรผสมสูตรนี้ ส่วนเรื่องของประสิทธิภาพ ศึกษาโดยกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าการฉีดไขว้ด้วย ซิโนแวค + แอสตร้าเซนเนก้าช่วยกระตุ้นภูมิในระดับสูงได้เร็วมากขึ้น เพราะใช้ระยะห่างระหว่างเข็มแรกและเข็มสองเพียง 3-4 สัปดาห์ ทั้งยังช่วยกระตุ้นภูมิได้สูงเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า2 เข็ม จากผลการศึกษายังคาดว่าจะสามารถช่วยป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าได้

ขณะที่ วัคซีนสูตรผสม แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์นั้น  ซึ่งคาดว่าคนไทยจะได้ฉีดกันในเดือนต.ค.นี้ มีอีกหลายประเทศที่ใช้สูตรเดียวกัน เช่น เยอรมนี สเปน และญี่ปุ่น

เช็คเลย! สูตรฉีดวัคซีนไขว้ในไทย มีกี่สูตร ผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

งานวิจัยการฉีดวัคซีนสูตรผสม แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์ จากคณะกรรมการวัคซีนแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (STIKO) ระบุว่าการฉีดวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก แล้วตามด้วยวัคซีน ไฟเซอร์ ที่เป็น mRNA จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้ดี และดีกว่าการฉีด วัคซีน แอสตร้าเซนเนก้าทั้ง 2 เข็ม นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายประเทศในแถบยุโรปที่เปลี่ยนจากการฉีด แอสตร้าเซนเนก้า2 เข็ม มาฉีดวัคซีน mRNA ให้กับประชาชนเป็นเข็มที่ 2 แทน ด้วยเหตุผลความกังวลเรื่องลิ่มเลือดอุดตัน จึงอาจกล่าวได้ว่า การฉีดวัคซีนสูตรผสมระหว่าง แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดจากการฉีดวัคซีนลงได้  

  • ประเทศไหนบ้าง?ฉีดวัคซีนสูตรผสม

สำนักข่าวรอยเตอร์ รวบรวมรายชื่อประเทศที่มีนโยบายใช้วัคซีนสูตรผสม เป็นเข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 หรือเข็มกระตุ้น ข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 27 ก.ย. 2564 ในเดือน ก.ค. องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า การสร้างภูมิคุ้มกันโดยจับคู่วัคซีนจากผู้ผลิตหลายรายมาผสมกัน ซึ่งหลายประเทศกำลังดำเนินการอยู่นั้น ถือเป็น "แนวโน้มที่อันตราย" เพราะยังมีข้อมูลการวิจัยว่าด้วยการฉีดวัคซีนแบบผสมสูตรอยู่น้อยมาก แต่ก็ย้ำว่าหากเป็นการตัดสินใจของหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลก็เป็นสิ่งที่กระทำได้ อย่างไรก็ตาม ในยุโรป หน่วยงานกำกับการใช้ยาของยุโรป ไม่ได้มีคำแนะนำเป็นการเฉพาะถึงการฉีดวัคซีนแบบสลับ

สำหรับรายชื่อประเทศที่มีการใช้วัคซีนสูตรผสม เบื้องต้นมีดังนี้ 

กัมพูชา

  • สูตร ซิโนแวค+ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า
  • สูตร ซิโนฟาร์ม+ซิโนฟาร์ม+แอสตร้าเซนเนก้า
  • สูตร แอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า+ซิโนแวค

เดนมาร์ก

ข้อมูลจากสถาบันเซรั่มแห่งประเทศเดนมาร์ก เมื่อ 2 ส.ค. ให้ฉีดเข็มที่สองเป็นไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา หลังจากได้รับเข็มแรกเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

เยอรมนี

สูตรแอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยไฟเซอร์

รัสเซีย

สูตร แอสตร้าเซนเนก้า+สปุตนิก วี

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นการป้องกันโรคได้ดีแต่ทั้งนี้ต่อให้ฉีดวัคซีนแล้ว ทุกคนก็ต้องปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็น การสวมใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างทางสังคม งดกิจกรรมหรือไปในสถานที่แออัด เสี่ยงต่างๆ 

อ้างอิง : บีบีซีไทย,Brusselstimes ,CNN,ศิริราชพยาบาล,โรงพยาบาลสินแพทย์