ไทยใช้วัคซีนไขว้ 'แอสตร้าเซนเนก้า + ไฟเซอร์' เริ่ม ต.ค.นี้

ไทยใช้วัคซีนไขว้ 'แอสตร้าเซนเนก้า + ไฟเซอร์' เริ่ม ต.ค.นี้

ศปก.สธ.เห็นชอบเพิ่มสูตรวัคซีนไขว้ "แอสตร้าเซนเนก้า + ไฟเซอร์" ห่างกัน 4-12 สัปดาห์ เริ่มใช้ฉีดต.ค.นี้ พร้อมให้ฉีดวัคซีน 1 เข็มคนหายป่วยแล้ว 1-3 เดือน ใน 3 กรณี  ส่วนคนฉีดวัคซีนครบที่ติดเชื้อ "ไม่แนะนำฉีดกระตุ้น"

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 3 ก.ย. 2564 ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ประเด็น “สูตรการฉีดวัคซีนโควิด 19” นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564 ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคโควิด 19 (ศปก.สธ.)  ซึ่งมีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากหน่วยงานต่างๆ มีมติอนุมัติสูตรการฉีดวัคซีนคิด19 ของประเทศไทย  โดยอาศัยคำแนะนำจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2564 ซึ่งพิจารณาจากข้อมูลวิชาการใหม่ๆทั้งผลการศึกษาวิจัยในประเทศไทยและต่างประเทศ และปริมาณวัคซีนที่เข้ามาในประเทศไทยในแต่ละช่วงเวลาประกอบคำแนะนำในการฉีด อ่านข่าว- 'หมอยง' ชี้กำลังศึกษาวัคซีนเข็ม 3 ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

กรณี การฉีดวัคซีนสูตรไขว้

- เข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์ เป็นวัคซีนสูตรหลักของประเทศไทยในระยะนี้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทุกกลุ่ม 

-เข็มที่ 1 เป็นแอสตร้าฯ เข็มที่ 2 เป็น ไฟเซอร์ ระยะห่าง 4-12 สัปดาห์ ใช้ในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทุกกลุ่ม โดยสูตรนี้จะใช้แพร่หลายในเดือนต.ค. เมื่อมีวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งมีกำหนดส่งมอบในปลายเดือนก.ย.นี้  เดือนละ 10 ล้านโดสในช่วง ต.ต.-ธ.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการใช้อยู่บ้างในประเทศไทย เนื่องจากมีไฟเซอร์เหลือจากที่ฉีดให้กับบุคลการทางการแพทย์ด่านหน้า ทำให้รพ.นำไฟเซอร์มาให้ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุ และ 7 โรคเรื้อรังที่ได้ฉีดแอสตร้าฯแข็มแรกเมื่อเดือนมิ.ย.ที่เริ่มครบกำหนดเข็มที่ 2  เมื่อไปรับเข็มที่ 2  รพ.ที่มีไฟเซอร์ก็สามารถใช้ไฟเซอร์ฉีดเป็นเข็ม 2 แทนแอสตร้าฯได้

กรณีการฉีดเข็มกระตุ้น ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม ระยะนี้เน้นที่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ก็จะได้รับการฉีดกระตุ้นด้วยแอวตร้าฯ ระยะห่างประมาณอย่างน้อย 4 สัปดาห์หลังได้ซิโนแวคเข็มที่ 2

กรณีคนที่เคยติดเชื้อหรือหายป่วยจากโควิด 19 แล้ว คณะกรรมการมีความเห็นตรงกันว่าหลังจากที่หายป่วยแล้วช่วง 1-3 เดือนหลังจากเคยตรวจพบเชื้อ หรือหายป่วย ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้น 1 เข็ม เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันสูงขึ้นเพื่อป้องกันติดเชื้อซ้ำ โดยให้ฉีดแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ โดยจะนำไปใช้กับกลุ่มคนที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนโควิดมาก่อน ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ และผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ เข็มแล้ว แต่เข็ม 2 ยังไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนการติดเชื้อ ส่วนคนที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้วแต่ติดเชื้อซึ่งส่วนใหญ่จะอาการน้อย ไม่แนะนำให้ฉีดกระตุ้นอีกครั้ง

ส่วน การฉีดวัคซีนสูตรปกติ คือ แอสตร้าฯกับแอสตร้าฯห่างกัน 8-12 สัปดาห์  ไฟเซอร์กับไฟเซอร์ ระยะห่าง3-4 สัปดาห์ และซิโนฟาร์มกับซิโนฟาร์ม ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำเรื่องของวัคซีนไฟเซอร์ไว้ว่า ปกติวัคซีนไฟเซอร์ฉีดห่างกัน 3 สัปดาห์ แต่ในกรณีที่มีความจำเป็นในการบริหารจัดการที่คล่องตัว จะให้ยาวได้ถึง  6 สัปดาห์ แต่ในส่วนของประเทศไทยแนะนำที่ 3-4 สัปดาห์

สำหรับการจัดหาวัคซีนในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2564  โดยประเทศไทยมีเป้าหมายในการฉีดวัคซีนให้กับคนที่อยู่ในประเทศไทยให้ได้อย่างน้อย 70 % แต่ขณะนี้มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่มีศักยภาพในการติดเชื้อได้มาก ผู้ป่วย 1 รายอาจจะแพร่เชื้อต่อไปอีก 7-8 ราย  ซึ่ง70 %อาจจะไม่พอ ดังนั้น หากมีคนไม่ได้รับวัคซีน ไม่เคยติดเชื้อ เหลือเท่าไหรก็จะพยายามฉีดให้หมด เพราะฉะนั้น เป้าหมายจะขยับเป็นมากกว่า 70 %ได้  จึงต้องเตรียมวัคซีนให้เพียงพอ จากนี้มีวัคซีน 3 ตัว คือ ซิโนแวค 12 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 43.3 ล้านโดส และไฟเซอร์ 30 ล้านโดส

“มั่นใจได้ว่าภายในสิ้นปีนี้จะได้รับวัคซีนแอสตร้าฯครบถ้วนตามการสั่งซื้อ 61 ล้านโดส ที่มีการพูดถึง สัญญาที่ประเทศไทยทำกับบริษัทแอสตร้าฯที่ระบุไม่ได้ระบุวันส่งมอบ แต่จริงๆมีการหารือมาเป็นระยะ ซึ่งวันที่เซ็นสัญญาเมื่อเดือนพ.ย. 2563 ยังไม่มีวัคซีนจริงผลิตออกมาในท้อง ตลาด จึงไม่ได้ระบุเวลาแต่มีการหารือร่วมกัน และโรงงานผลิตนี้ตั้งอยู่ในประเทศไทย เป็นโรงงานที่ผลิตวัคซีนแอสตร้าฯได้จำนวนมากโรงงานหนึ่ง จึงมั่นใจได้ว่าเมื่อวัคซีนมีการผลิตในประเทศไทย เมื่อออกมาแล้วในเดือนแรกคือ มิ.ย.ก็มีการส่งมอบให้ประเทศไทย ได้ใช้วัคซีนทั้งหมดที่ผลิตจากโรงงานแห่งนี้ หลังจากเริ่มส่งออกก.ค.-.ส.ค. แต่ในช่วงตั้งแต่ก.ย. เป็นต้นไปส่วนใหญ่เป็นวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย” นพ.โสภณกล่าว  

ส่วน วัคซีนไฟเซอร์ มีการเจรจามาต่อเนื่องตั้งแต่ก.ค.ปี 2563 ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ขณะนั้นยังเป็นวัคซีนที่อยู่ระหว่างการทดลองในระยะที่ 1และ 2ใกล้เสร็จ และกำลังจะเริ่มทดลองในระยะที่ 3  ซึ่งประเทศไทยได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการศึกษาระยะที่ 1-2 และต่อมาระยะ 3 มีการเจรจาหารือมา กระทั่งมีการเซ็นสัญญาในช่วงเดือนมิ.ย.2564   และจะส่งมอบได้ปลายเดือนก.ย. สัปดาห์สุดท้ายประมาณ 2 ล้านโดส และคาดว่าจะส่งเดือนละ 10 ล้านโดสจนถถึงธ.ค.ครบตามจำนวนสั่งซื้อ 30 ล้านโดส

ทำให้วัคซีนแอสตร้าฯและไฟเซอร์เป็นวัคซีนที่มีจำนวนมากที่สุดในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้านี้  ก็จะเห็นได้ว่าประเทศไทยได้ดำเนินเพื่อให้เกิดความมั่นคงของวัคซีนที่มีเพียงพอในระยะต่อไป และประชาชนได้ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่านี้ ขณะนี้วันละราว 8 แสนคน อย่างไรก็ตาม  ด้วยเป้าหมายที่จะไปถึง 70 % ก็จะทำให้ต้องเร่งฉีดวัคซีน การออกสูตรการฉีดวัคซีนของสธ. ก็เพื่อเป็นแนวทางให้รพ.ต่างๆนำไปใช้เพื่อเป็นไปในทิศทางเดียวกัน  และมั่นใจว่าจะเกิดประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดี

“การฉีดวัคซีนหลังจากเดือนต.ค.จะมีอยู่ประมาณ 3 แบบคือ 1. แอสตร้าฯ 2 เข็ม 2. ไฟเซอร์ 2 เข็ม และ 3. ฉีดไขว้ด้วย แอสตร้าฯ เข็ม 1 ตามด้วย ไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2  "นพ.โสภณกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีมีการแชร์ข้อมูลทางโซเชียลมีเดียว่าการฉีดวัคซีนเข็ม 3 เสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง นพ.โสภณ กล่าวว่า เป็นของอิมมูล ซิสเต็ม ถ้ามีการกระตุ้นมากไปก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดความผิดปกติในการแบ่งเซลล์ผิดปกติได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูล เพียงแต่ว่าก็ค่อนข้างระวังว่าหากมีการฉีดกระตุ้นมากเกินไปจะทำให้เกิดความผิดปกติในการแบ่งตัวของเซลล์ ทั้งนี้เพราะระบบภูมิคุ้มกันจะมีต่อมน้ำเหลืองอาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป ที่สำคัญหากบางคนฉีดเยอะไป คนอื่นก็ไม่ได้ฉีด.