สปสช.เปิดเวทีชี้แจง ‘เกณฑ์เบิกจ่าย’ กองทุนบัตรทอง ปีงบประมาณ 2565

สปสช.เปิดเวทีชี้แจง ‘เกณฑ์เบิกจ่าย’ กองทุนบัตรทอง ปีงบประมาณ 2565

“นพ.จเด็จ” เปิดวงชี้แจงหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการขอรับค่าบริการสาธารณสุข ของหน่วยบริการในระบบบัตรทอง ปีงบประมาณ 2565 พร้อมยืนยันถึงความจำเป็นของระบบ “พิสูจน์ตัวตน” แม้ทำให้งานเพิ่มขึ้น แต่หากเกิดเหตุที่ไม่ดี หน่วยบริการจะไม่ต้องมารับภาระ 

สำนักงานหลักประกันสุภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดการประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการขอรับค่าบริการสาธารณสุข ของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2565 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564 เพื่อชี้แจงแนวทางการเบิกจ่ายและแนวปฏิบัติแก่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยมีผู้แทนจากโรงพยาบาลเข้าร่วมจำนวนมาก

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า ระบบการเบิกจ่ายเป็นหน้าที่และภารกิจหลักของ สปสช. ซึ่งหน่วยบริการในระบบจำเป็นต้องมีความเข้าใจ และมีความมั่นใจต่อระบบการเบิกจ่ายว่ามีความถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นภาระของหน่วยบริการจนเกินไปนัก

ปีงบประมาณ 2565 มีเรื่องใหม่หลายอย่างเกิดขึ้น เช่น ระบบการตรวจสอบสิทธิ์ ซึ่งได้ให้เจ้าหน้าที่ช่วยดูแล้วว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เป็นปัญหามากนัก หรือจะช่วยอำนวยความสะดวกได้อย่างไร หรือว่าจะมีผลต่อการเบิกจ่ายอย่างไร อีกส่วนหนึ่งที่อยากจะเน้นคือระบบการพิสูจน์ตัวบุคคล โดยหลักๆ พยายามจะให้เป็นผู้รับบริการ หรือประชาชน ได้เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับหน่วยบริการมากนัก

อ่านข่าว : "สปสช." ชี้แจงหลักเกณฑ์บริหารงบ "กองทุนบัตรทอง" ปี 65 วันที่ 8 ต.ค.นี้

 

  • พิจารณาเกณฑ์เบิกจ่าย "บัตรทอง" 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่สำคัญคือเรื่องของการป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น แม้ว่างบประมาณที่ใช้สำหรับการป้องกันคนที่คิดไม่ดีหรือทำไม่ดี จะมากกว่ามูลค่าของสินค้าที่ถูกนำไปใช้ไม่ดี หรือมีการมาเบิกโดยไม่ถูกต้อง แต่เราจำเป็นต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำ สังคมจะไม่ถามว่ามันคุ้มหรือไม่ที่จะเอาเงินจำนวนมากเพื่อป้องกันคนไม่ดี ไม่กี่คน แต่สังคมจะถามว่าทำไมไม่ทำ

สปสช.เปิดเวทีชี้แจง ‘เกณฑ์เบิกจ่าย’ กองทุนบัตรทอง ปีงบประมาณ 2565

“บางครั้งกติกาที่ สปสช.ออกมา หลายเรื่องเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่รู้จะทำไปทำไม หรือทำไปแล้วก็เป็นภาระ แต่ถ้าไม่ทำเวลามีปัญหาเกิดขึ้นก็จะตกไปเป็นภาระของผู้ปฏิบัติการ ผมเชื่อว่าทุกท่านมีจิตบริสุทธิ์ในการที่จะทำงาน แต่หากเกิดอะไรขึ้นแล้วไม่มีการป้องกันพวกเราไว้ เราจะมาเสียใจตอนหลังไม่ได้ ดังนั้นหลายเรื่องที่เราออกแบบหรืออะไรก็แล้วแต่ หากมีประเด็นที่เรารู้สึกว่าไม่ใช่ มากไปหรือน้อยไปอย่างไร กรุณาแจ้งเรามา ถ้าปรับได้เราก็ยินดี ดำเนินการให้” นพ.จเด็จ กล่าว

 

  • สปสช. แจงกลไกตรวจสอบหลังจ่ายชดเชย

วันเดียวกัน นอกจากการชี้แจง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการขอรับค่าใช้จ่ายค่าบริการสาธารณสุขแล้ว สปสช. ยังได้ชี้แจงเรื่องกลไกการตรวจสอบก่อนและหลังจ่ายชดเชย ค่าบริการสาธารณสุข ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, โปรแกรม e-Claim สำหรับการบันทึกข้อมูล การขอรับค่าใช้จ่ายค่าบริการสาธารณสุข และระบบยืนยันการเข้ารับบริการ หรือ Authentication code ที่มีการเปลี่ยนแปลง

ตลอดจนการบันทึกบัญชี กรณีรับเงินค่าบริการสาธารณสุขสำหรับโรคโควิด-19 ในระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) และการดูแลในระบบชุมชน (Community Isolation) และระบบรายการโอนเงินผ่าน HNSO Budget