กลุ่มราชภัฎติดอันดับโลก จากตัวชี้วัด "การพัฒนาที่ยั่งยืน" ของสหประชาชาติ

กลุ่มราชภัฎติดอันดับโลก จากตัวชี้วัด "การพัฒนาที่ยั่งยืน" ของสหประชาชาติ

มรภ.”เชียงใหม่ - เลย -นครราชสีมา - สุราษฎร์ธานี” กลุ่มราชภัฎติดอันดับโลก จากตัวชี้วัด “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ของสหประชาชาติ ตอบโจทย์โลก ประเทศ ประชาชน ท้องถิ่น

วันที่ 4 ต.ค.2564 ศ.(พิเศษ)ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า มีข่าวดีของประเทศไทยด้านการศึกษา ระดับอุดมศึกษา เมื่อผลของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกใน THE (Times Higher Education) Impact Rankings 2021 ที่ใช้วัดความสำเร็จของมหาวิทยาลัยทั่วโลกในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ(UN) ปรากฎว่ามหาวิทยาลัยในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) 4 แห่ง ได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับโลก คือ มรภ.เชียงใหม่ มรภ.เลย มรภ.นครราชสีมา และ มรภ.สุราษฎร์ธานี ที่สำคัญ Ranking ของมหาวิทยาลัยถือเป็นดัชนีชี้วัดประเทศที่ช่วยให้เกิดการตัดสินใจลงทุนจากต่างประเทศ

อ่านข่าว : ‘สหรัฐ’จี้ประเทศใหญ่ เร่งคุมวิกฤติสภาพภูมิอากาศ

 

  • กลุ่มราชภัฎติดอันดับโลก

รมว.อว.กล่าวต่อว่า โดย มรภ.เชียงใหม่ อยู่อันดับที่ 801-1,000 มีความโดดเด่นด้าน SDG 8 คืองานที่มีค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ  SDG 7 คือ พลังงานสะอาดและการเข้าถึง SDG 4 คือ คุณภาพทางการศึกษา ขณะที่ มรภ.เลย อยู่อันดับที่ 1001+ มีความโดดเด่นด้าน  SDG 4 คือ คุณภาพทางการศึกษา  SDG 5 คือ ความเท่าเทียมทางเพศ และ SDG 1 คือ การขจัดความยากจน ส่วน มรภ.นครราชสีมา อยู่อันดับที่ 1001+ มีความโดดเด่นด้าน SDG 4 คือ คุณภาพทางการศึกษา SDG 15 คือ ระบบนิเวศทางบก และ SDG  1 คือ การขจัดความยากจน และ มรภ.สุราษฎร์ธานี อยู่อันดับที่ 1001+ มีความโดดเด่นด้าน SDG 1 การขจัดความยากจน SDG 16 คือ สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง และ SDG 4 คือ คุณภาพทางการศึกษา
 
ศ.(พิเศษ)ดร.เอนก กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าทั้ง 4 มรภ. ที่ติดอันดับ impact ranking จะเน้นการดำเนินงานด้าน SDG 4 คือ คุณภาพทางการศึกษาทุกแห่ง รองลงมาคือการแก้ปัญหาความยากจน SDG 1 คือ การขจัดความยากจน  โดย มรภ. เชียงใหม่ มีอันดับสูงที่สุดในประเทศไทยในกลุ่ม มรภ. ก็เน้นเรื่องของ SDG 8 คืองานที่มีค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

  •  พลิกโฉมราชภัฎ ตอบโจทย์ประเทศ

“ผลของการจัดอันดับ ในปีนี้ชี้ให้เห็นชัดว่ามหาวิทยาลัยของไทยจำนวนมากได้สร้างกำลังคน วิจัยเพื่อผลิตผลงานวิชาการ รวมทั้งการรับใช้สังคมที่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับโลก และตอบโจทย์ของประเทศ ประชาชน ท้องถิ่น ไปด้วยกัน ที่สำคัญ การพัฒนามหาวิทยาลัยตามความศักยภาพและเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยในโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย หรือ Reinventing University ของ อว.ที่ต้องการยกระดับมหาวิทยาลัยตามความเชี่ยวชาญ ทั้งในเรื่องของการสร้างและพัฒนากำลังคน สร้างงานวิจัย การบริการวิชาการและรับใช้สังคม อันจะนำไปสู่ทั้งความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยและการตอบโจทย์ประเทศโดยยึดเป้าหมายของประเทศเป็นตัวตั้ง” ศ.(พิเศษ)ดร.เอนก กล่าว